สื่อไทยยุค IO
จุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดเพจทหารจำนวนมาก ตั้งแต่ระดับเหล่าทัพ กองทัพภาค ลงไปถึงกรม กองพัน ทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เข้าถึงผู้รับสารโดยตรง ไม่ต้องผ่านสื่อ
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
จุลสารราชดำเนิน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดเพจทหารจำนวนมาก ตั้งแต่ระดับเหล่าทัพ กองทัพภาค ลงไปถึงกรม กองพัน ทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เข้าถึงผู้รับสารโดยตรง ไม่ต้องผ่านสื่อ
เพจทหารเหล่านี้พัฒนาจากอดีต แม้บางเพจยังติดภาษาเขียนแบบทางการ แต่ก็พยายามแชร์ภาพประทับใจ เช่น ภารกิจช่วยเหลือประชาชน ความยากลำบากในการฝึกทหาร ให้ท่านผู้ชมเห็นความเสียสละ อดทน หรือถ่ายภาพสวย ๆ เพื่อเร้าอารมณ์คนที่นิยมทหาร มีการโควทคำคม ทำอินโฟกราฟิกของผู้บังคับบัญชาระดับต่าง ๆ (ไม่ทราบว่ารวมคำคมของ “พี่ป้อม” แบบ “ซ่อมไม่ตาย” หรือ “คนจีนทำนักท่องเที่ยวจีนเอง” ด้วยหรือไม่)
ไม่ต้องสงสัยว่า นี่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองโดยตรง ในยุคที่ “อดีต ผบ.ทบ.” ผู้ยึดอำนาจตั้งตนเป็นนายกฯ เดินสายถามชาวบ้าน “เกลียดทหารไหม” อย่าเกลียดทหาร เพราะทหารมีไว้ดูแลประชาชน ในยุคสมัยที่นอกจากทหารทำรัฐประหาร ยังเพิ่มอำนาจตัวเอง เพิ่มงบความมั่นคง แก้กฎหมาย กอ.รมน. ให้ทหารเข้ามาคุมส่วนราชการย้อนยุคสงครามเย็น ขณะที่ในระดับบน ผบ.เหล่าทัพก็จะเป็นทั้ง ส.ว.แต่งตั้งและกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กำกับประเทศไปอีก 20 ปี
ทหารจึงต้องแชร์ภาพ เสียสละ อดทน ช่วยประชาชนเมื่อมีภัยพิบัติ หรือปราบเงินกู้นอกระบบ เพื่อให้ประชาชนยอมให้ทหารมีอำนาจมีอภิสิทธิ์ มีงบประมาณมหาศาล มีนายพล 1,400 กว่าคน และเกณฑ์ทหารปีละแสนกว่าคน ไปอีกนาน
จุลสารราชดำเนินยังท้วงติงผู้สื่อข่าว โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวสายทหารว่า รับข่าวและภาพผ่านไลน์กลุ่ม แล้วส่งให้สำนักข่าวที่ตัวเองสังกัด ให้นำไปเผยแพร่ในลักษณะ “ก๊อป-วาง” ด้วยความรวดเร็วให้ทันกับสถานการณ์ข่าวออนไลน์ที่แข่งขันสูง จนไม่ทำข่าวสืบสวน หรือข่าว Exclusive
พฤติกรรมนี้คนนอกวงการ โดยเฉพาะผู้เสพสื่อมักไม่ทราบ ว่าปัจจุบัน ในวันเสาร์อาทิตย์ ที่มักมีข่าวโฆษกแถลงแทนผู้มีอำนาจ ว่าท่านเป็นห่วงประชาชนเรื่องนั้นเรื่องนี้ ความเป็นจริงคือนักข่าวนอนอยู่บ้าน โฆษกส่งข่าวทางไลน์ ส่งมาก็ก๊อปไป เหมือนกันเป๊ะทุกฉบับ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ยังโทรศัพท์ซักถามแตกประเด็นกันไป
การทำข่าวแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะนักข่าวทหาร นักข่าวการเมือง นักข่าวเศรษฐกิจ ฯลฯ ก็รับข่าวทางไลน์ จากส่วนราชการ จากภาคเอกชน ซึ่งไม่ว่ากัน เพราะมันสะดวกดี แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือการโต้แย้ง ซักไซ้ หรือตรวจสอบ เจาะหาความจริง ที่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่งั้นนักข่าวก็ไม่ต่างจาก PR ของภาครัฐภาคเอกชน
ยิ่งไปกว่านั้น สื่อยังมักจะ in หรือโน้มเอียง ด้วยความผูกพันกับแหล่งข่าว ด้วยความรู้สึกต้องลุ้นเอาใจช่วย เช่นนักข่าวทหารสนิทกับทหาร นักข่าวเศรษฐกิจส่วนใหญ่ชื่นชอบสมคิด หรืออย่างน้อยก็ลุ้นเอาใจช่วยอยากให้เศรษฐกิจฟื้น ไม่อยากให้มีข่าวร้าย อยากให้มีแต่ข่าวดี อยากให้จีดีพีโต ๆ
ในมุมนี้ สื่อเศรษฐกิจ บางทีก็เป็น IO ด้วยตัวเองยิ่งกว่าสายทหารด้วยซ้ำ เพราะอันดับแรก ไม่มีใครอยากอ่านข่าวร้าย ต้องมุ่งขายข่าวดี อันดับถัดมา สื่อเศรษฐกิจยังมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้ประกอบการ กับองค์กรภาคธุรกิจ ก็ต้องลุ้นเอาใจช่วยไปด้วยกัน โดยยังไม่พูดถึงว่าสื่อกระแสหลักต้องพึ่งโฆษณา ทั้งจากภาครัฐ และธุรกิจเอกชน
กระแสสื่อวันนี้ จึงมีแค่จับข่าวดราม่ามาขาย กับ PR ให้ภาครัฐภาคเอกชน โดยการสืบค้นความจริงหายไป ผู้เสพสื่อควรรู้ให้ทัน