พาราสาวะถี
ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจหรือแปลกใจอะไรเลยกับข่าว อุตตม สาวนายน และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ จะไขก๊อกจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อที่จะไปแต่งองค์ทรงเครื่องนั่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เพราะเป็นช่วงจังหวะเวลาที่จะต้องดำเนินการ เมื่อมีการขีดเส้นว่าจะเลือกตั้งกันในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
อรชุน
ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจหรือแปลกใจอะไรเลยกับข่าว อุตตม สาวนายน และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ จะไขก๊อกจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อที่จะไปแต่งองค์ทรงเครื่องนั่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เพราะเป็นช่วงจังหวะเวลาที่จะต้องดำเนินการ เมื่อมีการขีดเส้นว่าจะเลือกตั้งกันในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
ต้องไม่ลืมว่า เงื่อนเวลาขณะนี้จะสอดคล้องกับสิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่าจะประกาศความชัดเจนทางการเมืองภายในเดือนกันยายนนี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการไม่ให้ถูกครหาและเป็นการสร้างภาพให้เห็นว่าคนในรัฐบาลเผด็จการเล่นตามกติกา จึงต้องมีบางคนยอมถอดหัวโขนแห่งอำนาจ ไปกุมบังเหียนพรรคการเมืองเพื่อการสืบทอดอำนาจ
การลาออกในลักษณะนี้ถือเป็นผลดีสองเด้งเสียด้วยซ้ำไปสำหรับรัฐบาลคสช. เพราะจะเป็นการเปิดที่เปิดทางให้ท่านผู้นำได้เขย่าเก้าอี้เสนาบดีกันอีกกระทอก แน่นอนว่า จะมีการแต่งเติมดึงเอาคนมีชื่อเสียงเข้ามาร่วมทีมเศรษฐกิจ ถือเป็นการทิ้งไพ่ใบสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง งานนี้มีเท่าไหร่ต้องเทหมดหน้าตัก นั่นจะทำให้ได้เห็นกันว่าใครเป็นใคร พวกไหนเป็นพวกไหนสำหรับการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น (ถ้าไม่หาเหตุบิดพลิ้ว)
สอดรับกับข่าวลาออกของสองรัฐมนตรีในรัฐบาล กลุ่มเดินสายดูดอย่างสามมิตรนอกจากจะมีการแถลงตอบโต้พรรคการเมืองที่กล่าวหาว่าเป็นพวกอภิสิทธิ์ชนแล้ว ยังถือโอกาสประกาศท่าทีทางการเมืองด้วยว่า จะมีความชัดเจนภายในเดือนกันยายนเช่นกัน แบไต๋กันแบบนี้คงไม่ต้องบอกหรือความจริงก็คือรู้กันอยู่ ไม่มีทางหนีพ้นเข้าคอกพลังประชารัฐชัวร์
การแสดงละครตบตาชาวบ้านที่ผ่านมา มันไม่ได้แนบเนียนอะไร อาจจะหลอกได้เฉพาะตัวเองแต่คนอื่นเขารู้เช่นเห็นชาติกันหมด มันไม่ได้มีอะไรลึกลับซับซ้อน เผด็จการอาจถนัดปกปิดซ่อนเร้นเรื่องที่เป็นภัยต่อความมั่นคงได้ แต่งานการเมืองไม่เคยมีอะไรที่ปิดลับ แต่ละคนแต่ละพวกขยับกันที ต่อให้ซ่อนแอบกันขนาดไหน ก็ไม่มีทางเล็ดลอดคุณแหล่งข่าวคุณรายงานข่าวไปได้
ยิ่งเป็นพวกที่พูดเท็จ แค่ไม่กี่ครั้งคนก็จับโกหกได้ มันต่างจากการพูดความจริงที่พูดกี่ครั้งก็ยังเหมือนเดิม ดังนั้น การเล่นจำอวดด้วยท่าทีปลาไหลแบบนักการเมืองโบราณมันใช้ไม่ได้อีกแล้วในยุคโซเซียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม ยังมีบางเรื่องที่ต้องสะกิดให้ระวังกันเพราะบางคนบางพวกก็ถนัดที่จะพูดความจริงมาตลอด 364 วัน แต่วันสุดท้ายก็อาจจะพลิกลิ้นเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่ได้พูดมาตลอดเหมือนกัน
สำหรับจังหวะก้าวของพรรคพลังประชารัฐนั้น ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน นโยบายที่จะนำไปขายฝันกับประชาชนก็คือทุกอย่างที่รัฐบาลเผด็จการคสช.ได้ดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะประชานิยมจำแลง สโลแกนการหาเสียงก็ไม่ยุ่งยาก ให้โอกาสพรรคได้สานต่องานที่คั่งค้างเพื่อการปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและหากเชื่อมั่นพลเอกประยุทธ์โปรดเลือกพลังประชารัฐ
นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ท่านผู้นำปรี๊ดแตกทุกครั้งเวลาที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความไม่เอาไหนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน เพราะมันมีผลต่อเสียงที่จะสนับสนุนอย่างสำคัญ ดังนั้น เมื่อมีการไขก๊อกของสองรัฐมนตรี จังหวะนี้จึงจะเป็นโอกาสสุดท้ายท้ายสุดของรัฐบาลเผด็จการในการชูตัวคนและหวังว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกระเตื้องขึ้นมาบ้าง จะได้อ้างเป็นผลงานที่พอจับต้องและเพื่อขอโอกาสในการไปต่อ
ขณะที่พรรคการเมืองก็พอจับไต๋กันได้ ยิ่งเพื่อไทยรู้อยู่แล้วว่าฝ่ายตรงข้ามจะเดินเกมกันแบบไหน แต่วันนี้ด้วยอำนาจอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การจะสู้รบปรบมือกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงทำให้ตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบทุกประตู ดูได้จากการขยักปมปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม หากไม่มีวาระซ่อนเร้นถึงเวลานี้ทุกพรรคต้องได้ดำเนินกิจกรรมกันเต็มรูปแบบ
การยกข้ออ้างเรื่องความมั่นคงมาเป็นเหตุในการทำได้แค่คลายล็อก มองยังไงก็ไม่สมเหตุสมผล ในเมื่อมีกฎหมายพิเศษอยู่เต็มอัตราศึก จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมากลัวว่า การปล่อยให้พรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายพรรคการเมืองนั้น จะนำมาซึ่งความวุ่นวาย ถ้าไม่ใช่เพราะการกลัวคู่แข่งจะได้เปรียบ ปัจจัยอื่นล้วนแต่เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้กับพวกจ้องจะสืบทอดอำนาจเท่านั้น ดังเช่นที่ท่านผู้นำมักจะอ้างเรื่องข้อกฎหมายทุกครั้งกับทุกเรื่อง
ด้วยเหตุนี้ ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่ จึงได้นำเสนอความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ “ระบอบเผด็จการกับการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ” โดยได้อธิบายถึงลักษณะของการใช้กฎหมายของเผด็จการไว้ 4 แบบคือ การแปลงความต้องการของเผด็จการให้เป็นกฎหมาย การนำกฎหมายของเผด็จการไปใช้บังคับ การนำกฎหมายที่มีอยู่แล้วไปใช้ในทางไม่เป็นคุณกับเสรีภาพ และการนำกฎหมายที่มีอยู่แล้วไปใช้แบบบิดเบือน บิดผันอำนาจ หรือ abuse of power เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของเผด็จการ
การนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการทั้งสี่ลักษณะนี้ ทำให้การใช้อำนาจของเผด็จการแลดู “อ่อนนุ่ม” ขึ้น เพราะทั้งหมดล้วนแล้วแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมาย เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่มาจากการใช้กำลังทางกายภาพหรืออาวุธเข้าปราบปราม นอกจากนี้ ยังช่วยให้ระบอบเผด็จการมีเครื่องมือให้เลือกใช้หลายประเภท ตามแต่ละสถานการณ์
ปรากฏการณ์การนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือของเผด็จการ ทำให้ระบอบเผด็จการกลายเป็น soft coup, soft dictator ขณะที่ภาพของการต่อต้านเผด็จการก็ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นอย่างกว้างขวาง เพราะประชาชนหวาดกลัวการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ส่วนระบอบเผด็จการสามารถอาศัยความชอบธรรมจากกฎหมาย อ้างต่อชาวโลกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย และสถานการณ์ภายในประเทศสงบเรียบร้อย ปราศจากการต่อต้าน ทั้งหมดที่พรางตัวจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดหาก (พรรค) เผด็จการสามารถกำชัยชนะในการเลือกตั้งได้