พาราสาวะถีอรชุน
เคาะมาเสร็จสรรพเรียบร้อยสำหรับที่ประชุมครม.และคสช.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 จากเดิมที่มีเป้าประสงค์เพื่อเปิดช่องให้มีการทำประชามติ แต่ที่ประชุมมีการชงเสนอแก้ไขถึง 7 ประเด็น ที่น่าสนใจคงเป็นกรณี การเปิดช่องให้ผู้เพิกถอนสิทธิทางการเมืองสามารถเข้ามามีตำแหน่งแห่งหนได้ ทำให้มีการมองต่อไปถึงว่า เพื่อเอื้อให้นายกรัฐมนตรีได้ใช้งานคนใกล้ตัวในตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่
เคาะมาเสร็จสรรพเรียบร้อยสำหรับที่ประชุมครม.และคสช.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 จากเดิมที่มีเป้าประสงค์เพื่อเปิดช่องให้มีการทำประชามติ แต่ที่ประชุมมีการชงเสนอแก้ไขถึง 7 ประเด็น ที่น่าสนใจคงเป็นกรณี การเปิดช่องให้ผู้เพิกถอนสิทธิทางการเมืองสามารถเข้ามามีตำแหน่งแห่งหนได้ ทำให้มีการมองต่อไปถึงว่า เพื่อเอื้อให้นายกรัฐมนตรีได้ใช้งานคนใกล้ตัวในตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่
หากไปไกลถึงขนาดนั้นก็หมายความว่า จะมีการเขย่าเก้าอี้เสนาบดีกันในเร็ววันนี้ ที่ถูกเพ่งเล็งคงหนีไม่พ้นในส่วนของดรีมทีมเศรษฐกิจ แน่นอนว่า รายชื่อของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ย่อมโผล่มาเป็นแคนดิเดตเบอร์หนึ่งที่จะเข้ามาแทนที่ หลังจากตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.มาโดยตลอด
ประเด็นต่อมาสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือการต่ออายุการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญออกไปอีก 30 วัน เพื่อให้การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการได้อย่างเต็มที่ มีเวลาถกเถียงกันมากขึ้น ซึ่งคงไม่ได้มองเป็นเรื่องของการยื้อเวลาอยู่ต่อในส่วนของคสช. เพราะอย่างไรเสียแม้จะยืดเวลาออกไป แต่ตามกรอบเวลาร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายก็น่าจะเสร็จล่าช้ากว่าแผนเดิมไม่มากนัก
ส่วนกรณีการให้สปช.หมดวาระลงทันทีหลังการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น คงไม่มีผลใดๆ เพราะได้มีการปรับสภาพไปสู่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคสช.จำนวน 200 คน เชื่อขนมกินได้เลยว่า จะต้องมีอดีตสมาชิกสปช.จำนวนเกินกว่าครึ่งจะไปนั่งชูคอในสภาใหม่แห่งนี้ เช่นเดียวกันกับกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของสปช.หรือไม่ผ่านการลงประชามติ
ที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 21 คนมาแทนที่ 36 มหาปราชญ์ เพราะดูแนวโน้มแล้วโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นคงยาก หรือถ้าเกิดขึ้นจริงคนที่จะมานั่งยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ก็หนีไม่พ้นเจ้าเก่ารายเดิมอาจมีเติมหน้าใหม่เข้ามาพอเป็นพิธีก็เท่านั้น เพราะในบริบทของคนดีนั้นมีตัวเลือกให้ใช้งานที่ไว้วางใจแทบจะชี้หน้ากันได้
น่าสนใจคงเป็นประเด็นการลงประชามติ ที่นอกเหนือจากคำถามว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีการเปิดช่องให้สามารถตั้งคำถามประชาชนได้มากกว่าหนึ่งคำถาม โดยให้สนช.และสปช.สามารถตั้งคำถามได้องค์กรละ 1 คำถาม เขียนข่าวรอกันไว้ได้เลย ที่จะได้รับเลือกจากสององค์กรนี้คือ จะให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 2 ปีหรือไม่
แบไต๋กันมาถึงขนาดนี้ คงไม่ต้องอ่านหน้าไพ่อะไรกันแล้ว ที่เหลือเพียงแค่ว่าจะใช้ภาษาสร้างวาทกรรมอย่างไรให้ดูเนียนตา ไม่ให้ผู้มีอำนาจถูกด่าก็เท่านั้น แม้ว่าผลโพลที่ปรากฏวันนี้จะเชลียร์กันเต็มที่ให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ต่อ แต่ต้องไม่ลืมว่าโพลไม่ใช่ตัวแทนคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เห็นต่างและต่อต้านรัฐบาลคสช.
ด้วยเหตุนี้เราจึงจะได้เห็นบิ๊กตู่ออกมาย้ำหลายรอบ โดยขอร้องแกมบังคับให้สื่อเลิกถามเรื่องการอยู่ต่อ 2 ปีได้แล้ว พร้อมๆ กับถ้อยแถลงของทีมงานโฆษกและคนในรัฐบาลที่พูดไปในทำนองเดียวกัน คงรู้ดีเสียงที่สรรเสริญ เยินยอนั้นมันรู้ๆ กันอยู่ว่าพวกไหน ที่ต้องใส่ใจและเปิดใจให้กว้างคือ กลุ่มเห็นต่างและท่าทีจากต่างประเทศมากกว่า
หากไม่โกหกตัวเอง คณะที่เดินทางไปพบปะผู้นำและรัฐมนตรีในต่างประเทศบ่อยๆ คงเข้าใจดีว่า คำถามแรกๆ ที่ประเทศซึ่งเป็นประชาธิปไตยถามคือ เมื่อไหร่ประเทศไทยจะมีเลือกตั้ง เขาไม่ได้ถามว่าท่านจะอยู่ต่อไปอีกนานเท่าไหร่ นี่ต่างหากคือโลกแห่งความเป็นจริง หากคิดว่าจะไม่สุงสิงกับใคร แช่แข็งประเทศไทยก็เดินหน้าทำตามเสียงนกเสียงกาโดยไม่ต้องสนใจใยดีใดๆ ทั้งสิ้น
บางครั้งต้องยอมรับว่า พวกหวังดีทั้งหลายอาจจะไม่ประสงค์ร้ายแต่ไม่รู้จักเก็บอาการมากกว่า ประมาณว่าอยากจะเอาใจลูกพี่ใหญ่ โดยมีผลพลอยได้ที่ตัวเองจะได้มีตำแหน่งแห่งหนจากการลากตั้งต่อไป เลยทำกันแบบเอิกเกริก ออกนอกหน้า ทั้งที่ความเป็นจริงเรื่องการอยู่ต่อของรัฐบาลคสช.รวมทั้งบิ๊กตู่นั้น หากมองไปยังเงื่อนไขของร่างรัฐธรรมนูญก็มีช่องให้อยู่ต่อแบบชอบธรรมแล้ว
เอาแค่เรื่องการทำประชามติ มีเวลาขี้หมูขี้หมาที่จะดึงจังหวะออกไปได้อย่างน้อยก็สี่ซ้าห้าเดือนถึงครึ่งปี ยังไม่นับรวมหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบขึ้นมา ต้องยกร่างกันใหม่ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ หากปล่อยให้ทุกอย่างไหลไปตามกระบวนการอย่างนี้ บิ๊กตู่ก็ไม่ต้องเหนื่อยมาคอยตอบคำถามว่าจ้องจะสืบทอดอำนาจ
ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องมาคอยตอบต่างชาติว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ เพราะทุกอย่างต้องว่ากันไปตามกติกา น่าเสียดายที่คนเหล่านั้นไม่ยอมเก็บอาการ นอกจากจะเป็นการสร้างภาระให้บิ๊กตู่และชาวคณะแล้ว อีกมุมยังเป็นการเปิดช่องให้คนลากเอาไปโจมตีว่าที่แท้เหล่านี้คือขบวนการล้มรัฐบาลประชาธิปไตยนับตั้งแต่การก่อตัวของม็อบกปปส. จนทำให้คำพูดไม่เลือกข้างของหัวหน้าคสช.กลายเป็นวาทกรรมลวงโลกไปเสียฉิบ
ช่วงนี้พูดถึงกันมากเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ฟุ้งกันจนกระทั่งกระบอกเสียงรัฐบาลและคนที่เกี่ยวข้องต้องออกมายืนยัน ไม่มีการยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแน่นอน แต่ที่ทำให้หลายคนตะลึงคงเป็นความเห็นของผู้อาวุโสบางรายที่บอกว่าค่าจ้างแค่วันละ 150 บาทแรงงานก็อยู่ได้ถ้ารู้จักใช้ชีวิตแบบพอเพียง โถ! ไม่คิดว่าท่านจะหลงยุคขนาดนี้
ไม่รู้ว่าใช้สมองส่วนไหนคิด นึกว่าราคาน้ำมันวันนี้อยู่ที่ลิตรละเจ็ดแปดบาทหรืออย่างไร ค่าครองชีพมันขยับไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ลุงยังจะมะงุมมะงาหราอยู่อย่างนี้ ส่วนที่เที่ยวโทษเรื่องค่าจ้าง 300 บาทเป็นตัวสร้างปัญหาเศรษฐกิจนั้น ก็เป็นการกล่าวหาโดยไม่มีความเป็นจริงพื้นฐานใดๆ รองรับ คงเป็นสิ่งสะท้อนว่าอุปสรรคที่แท้จริงต่อความอยู่ดีกินดีโดยทั่วหน้าของประชาชนในประเทศนั้นคือ ความสามารถและการดำรงอยู่ของคนที่พล่ามมากกว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้น