พาราสาวะถี
คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้ยินเรื่องพรรค์นี้จากปากของคนที่เป็นถึงกรรมการองค์กรอิสระตรวจสอบป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทยอย่าง ป.ป.ช. สารที่สื่อจากปากของ สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช.ต่อกรณีการไต่สวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 และอัลฟ่า 6 นั้นทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยอย่างหนัก
อรชุน
คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้ยินเรื่องพรรค์นี้จากปากของคนที่เป็นถึงกรรมการองค์กรอิสระตรวจสอบป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทยอย่าง ป.ป.ช. สารที่สื่อจากปากของ สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช.ต่อกรณีการไต่สวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 และอัลฟ่า 6 นั้นทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยอย่างหนัก
ความหนักใจของกรรมการ ป.ป.ช.รายนี้ต่อการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวคือ “การจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง แต่เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้แล้วเขารู้สึกคุ้มค่า” เอ๊ะ! มันหมายความว่ายังไง อนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้จะใช้ความเชื่อและความรู้สึกตัดสินแทนหลักฐาน ข้อเท็จจริงที่ปรากฏและสัมผัสจับต้องได้อย่างนั้นหรือ
เบื้องต้นจึงไม่แปลกที่ เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ตีแผ่แฉความไม่เอาไหนของจีที 200 จนเรียกว่าเป็นไม้ล้างป่าช้า ถึงกับออกมาบอกว่า จีที 200 ไม่ใช่พระเครื่องที่จะสร้างคุณค่าทางใจได้ หากเรื่องออกมาเป็นในลักษณะนี้จะทำให้สังคมอดคิดไม่ได้ว่าจะมีการ “ยื้อคดีหรือยืดเรื่องออกไป” เพื่อให้เรื่องหมดอายุความหรือไม่ พร้อมกับสะกิดแรง ๆ ว่า หาก ป.ป.ช.ยังขาดข้อมูลที่ต้องการอยู่ขอให้บอกมา แต่ไม่ใช่เอาเรื่องของความรู้สึกมาบอกกัน
ไม่ต่างจาก ชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ตะโกนบอกดัง ๆ รู้สึกช็อก หัวเราะไม่ได้ ร้องไห้ไม่ออก หากใช้วิธีคิดเช่นนี้จะจับทุจริตได้อย่างไร หรือนี่คือวิธีดองเรื่องหรือสองมาตรฐานตามคำร่ำลือ นึกไม่ถึงว่าที่ ป.ป.ช.ใช้เวลานานหลายปี ยังชี้มูลความผิดคดีจีที 200 ไม่ได้ เหตุผลมาจากความเชื่อดังกล่าวอย่างนั้นหรือ
แต่น่าแปลกที่ประธานองค์กรตรวจสอบคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) อย่าง ประมนต์ สุธีวงศ์ ที่ให้คะแนนความตั้งใจในการปราบปรามทุจริตของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เต็มร้อย จะออกมาบอกแค่ว่าติดใจการทำงานของ ป.ป.ช.ที่ล่าช้าแค่กรณีนาฬิกาหรูและการกู้ยืมเงินจากเสี่ยกำพลเจ้าของวิคตอเรีย ซีเครท ของ พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร.เท่านั้น
ทั้ง ๆ ที่ปมจีที 200 เกิดขึ้นมานาน นานขนาดไหนก็ขนาดที่ศาลอังกฤษตัดสินจำคุก แกรี่ โบลตัน ผู้ก่อตั้งบริษัท โกลบอล เทคนิคัล ที่จำหน่ายจีที 200 เป็นเวลา 7 ปี โดยมีคำพิพากษามาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2556 คงเป็นไปไม่ได้ที่องค์กรต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทยจะไม่รู้เรื่องรู้ราวต่อคดีดังกล่าว หรือเป็นเพราะตัวละครที่อยู่ในข่ายถูกตรวจสอบมันทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปาก
สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ให้สัมภาษณ์เมื่อกลางเดือนกันยายนปีที่แล้ว ได้รับคำพิพากษาจากศาลประเทศอังกฤษแล้ว อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบพยานหลักฐาน และการแปลคำพิพากษา มันต้องใช้เวลานานมากขนาดนั้นเชียวหรือ ขนาดที่บีบีซีไทย เคยได้ทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อจี้ถามความคืบหน้าของคดีมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา
โดยบีบีซีไทยชี้ให้เห็นว่า คดีจีที 200 อาจเป็นคดีสำคัญท้าย ๆ ที่มีผู้กล่าวหาเป็นคนระดับสูงในเหล่าทัพ ซึ่งเหลืออยู่ในมือของ ป.ป.ช. หลังจากมีมติยกคำร้องในคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 คดีจัดซื้อเรือเหาะ และคดีอุทยานราชภักดิ์ไปหมดแล้ว ความล่าช้าและไม่ชอบมาพากลเช่นนี้ ทำให้คนตั้งข้อสังเกตว่ามันสวนทางกับคำสัญญาของพลเอกประยุทธ์ที่ลั่นวาจาไว้ว่า จะปราบปรามกวาดล้างการทุจริตโดยไม่ไว้หน้าใคร
ประเมินท่าทีของ ป.ป.ช.คนดังว่า บวกเข้ากับความล่าช้าในการพิจารณาคดี คำถามไม่ได้ถูกโยนกลับมาแค่ที่ ป.ป.ช. แต่ยังรวมถึงรัฐบาล คสช.ที่อาสาตัวเข้ามาปฏิรูปประเทศผ่านการรัฐประหาร โดยอ้างการปัดกวาดสิ่งชั่วร้ายที่เหล่านักการเมืองทิ้งเอาไว้ โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เหตุใดกับอุปกรณ์ลวงโลกที่ประเทศอื่น ๆ ได้รับการเยียวยาจากการจัดซื้อโดยรัฐบาลอังกฤษแล้ว แต่ประเทศไทยองค์กรปราบทุจริตยังไร้วี่แววจะจัดการพวกกังฉินได้
คำถามสำหรับหัวหน้าเผด็จการและผู้นำรัฐบาลที่ยืนยันมาตลอดว่า จะใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าทุกเม็ดทุกดอก ไม่ปล่อยให้มีการทุจริตแม้แต่สตางค์แดงเดียว แต่กับเครื่องมือลวงโลกชิ้นนี้ที่จัดซื้อมาทั้งหมด 1,398 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 1,134 ล้านบาท โดยผ่านการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้วว่าใช้ไม่ได้ จะปล่อยให้การใช้จ่ายเงินก้อนนี้สูญเปล่าไปด้วยเหตุเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกองทัพอันเป็นที่รักและฐานค้ำยันอำนาจของตัวเองอย่างนั้นหรือ
ไม่ว่าเนติบริกรอย่าง วิษณุ เครืองาม จะเปลี่ยนการใช้คำจากที่คนเรียกว่า “ค่าโง่” เป็น “ค่าซื้อความรู้ที่แพงไปหน่อย” แต่อย่างไรมันก็คือความเสียหายด้านงบประมาณของประเทศ การขาดทุนจากการช่วยชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว กับการสูญเปล่าของงบประมาณที่ซื้อยุทโธปกรณ์ที่ใช้งานไม่ได้ และกำลังจะถูกทำให้เป็นสิ่งที่ต้องไม่มีใครรับผิดชอบ ถามว่าอย่างไหนที่ควรต้องรับโทษมากกว่ากัน ประสาวิญญูชนย่อมรับรู้ได้
ในฐานะประธานกรรมาธิการที่ดูแลกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม คนกันเองกับผู้มีอำนาจยังอดสงสัยไม่ได้ การแก้ปมไพรมารีโหวตของที่ประชุม คสช. ใช้อะไรมาตัดสินทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นว่าเป็นปัญหา และการใช้วิธีการที่อ้างว่าเป็นไพรมารีโหวตแบบย่อหรือจริง ๆ คือการยกเว้นไพรมารีโหวตนั้น ถือเป็นการปฏิรูปแล้วหรือ
มีคำตอบมาจากวิษณุสั้น ๆ ง่าย ๆ ไม่อยากต่อปากต่อคำ แต่สิ่งที่ทำคือให้มีคณะกรรมการสรรหา โดยต้องไปฟังเสียงสมาชิกพรรคระดับเขตและจังหวัดถือเป็นการปฏิรูปแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ให้กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้เลือกอย่างเดียวซึ่งใช้กันมากกว่า 80 ปี เช่นนี้จะไม่เรียกว่าเป็นการปฏิรูปได้อย่างไร บอกแล้วไม่ต้องไปเถียงกับเนติบริกรขั้นเทพเหล่านี้ ไม่มีทางจับได้ไล่ทัน ขนาดมีบางกลุ่มบางพวกทำผิดกฎหมายเคลื่อนไหวทางการเมืองเห็น ๆ ยังแถให้เป็นเรื่องถูกได้ มีอำนาจเสียอย่างแถมเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกต่างหากใครจะทำไม