พาราสาวะถี

ความจริงไม่ว่าจะคลายล็อกหรือปลดล็อก ไม่ใช่สาระสำคัญที่นักการเมืองและพรรคการเมืองต้องการ ขอเพียงแค่ได้มีช่องทางพบปะกับพรรคพวกหรือสื่อสารกับประชาชนบ้าง ไม่ถูกปิดตายหรือขยับอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็เป็นอันผิดกฎหมายไปเสียหมด เท่านี้ก็พอใจแล้ว เช่นเดียวกับเรื่องไพรมารีโหวต ที่โวย ๆ กันก็แค่พิธีกรรมเท่านั้น


อรชุน

ความจริงไม่ว่าจะคลายล็อกหรือปลดล็อก ไม่ใช่สาระสำคัญที่นักการเมืองและพรรคการเมืองต้องการ ขอเพียงแค่ได้มีช่องทางพบปะกับพรรคพวกหรือสื่อสารกับประชาชนบ้าง ไม่ถูกปิดตายหรือขยับอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็เป็นอันผิดกฎหมายไปเสียหมด เท่านี้ก็พอใจแล้ว เช่นเดียวกับเรื่องไพรมารีโหวต ที่โวย ๆ กันก็แค่พิธีกรรมเท่านั้น

สิ่งที่นักการเมืองและพรรคการเมืองต้องการมากกว่าในเวลานี้กลับเป็นเรื่องการถูกจำกัดในการสื่อสารกับเครือข่ายผ่านช่องทางโซเซียลมีเดียเสียมากกว่า เพราะดูเหมือนว่าฝ่ายกุมอำนาจจะไม่ยอมให้มีการเคลื่อนไหวผ่านช่องทางเหล่านี้ โดยอ้างว่าเป็นการหาเสียงและขัดคำสั่งของคณะเผด็จการผู้ปกครองประเทศยามนี้ จึงมีข้อเรียกร้องให้ผ่อนปรนกันหนักหน่วงหนาหูในเวลานี้

แต่เชื่อเลยว่าไม่มีทางที่จะได้ตามเรียกร้อง เพราะยิ่งฟัง วิษณุ เครืองาม อวดอ้างสรรพคุณว่าไม่มีม็อบมาล้อมทำเนียบรัฐบาลในยุคนี้ โดยไม่ได้เป็นเพราะมีการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน แต่มีการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนในต่างจังหวัด เนติบริกรยังเป็นถึงขนาดนี้แล้วสิ่งที่ทำกันอยู่คิดว่ามันจะได้รับการผ่อนคลายอย่างนั้นหรือ

ใครจะเชื่ออย่างที่วิษณุยกมาอ้างนั่นก็เป็นสิทธิ์ แต่คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้เชื่ออย่างนั้น หนึ่งในนั้นคือ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ที่มองข้ออ้างดังกล่าวผ่านบทความที่ชื่อว่า “สังคมตรรกะป่วย” ไว้อย่างน่าสนใจ โดยคำว่าตรรกะป่วยนั้นใช้กันผ่านทางเฟซบุ๊ก เพื่อให้เห็นภาพการเสนอความคิด เหตุผลในการตัดสินจริง เท็จ ถูก ผิด ควร ไม่ควรทางสังคมและการเมืองในวิกฤตความขัดแย้งกว่าทศวรรษ โดยเฉพาะการเสนอความคิดเหตุผลในยุค คสช.

ศัพท์ทางวิชาการใช้คำว่า “ตรรกะวิบัติ” หรือ “เหตุผลวิบัติ” หมายถึง การอ้างเหตุผลอย่างผิด ๆ คือข้ออ้างไม่ได้มีความสัมพันธ์ในเชิงสนับสนุนข้อสรุป เนื่องจากเหตุผลที่ยกมาอ้างไม่จริงหรือไม่เกี่ยวกับการพิสูจน์ให้เชื่อได้ว่า หรือควรยอมรับได้ว่าข้อสรุปจริง ถูก หรือควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ตรรกะป่วยดูเหมือนจะซับซ้อนกว่าตรรกะวิบัติ ในแง่หนึ่งตรรกะวิบัติเป็นส่วนหนึ่งของตรรกะป่วย เพราะผู้ที่ใช้ตรรกะป่วยก็มักจะใช้ตรรกะวิบัติเสมอ

แต่ความเป็นตรรกะป่วยที่เกินไปจากตรรกะวิบัติคือ ตรรกะป่วยมันคือการแสดงถึงความเหลวไหล วิปริตผิดเพี้ยน อันเนื่องมาจากการยืนยันหลักการหรือระบบที่ผิดเพี้ยน พูดให้ชัดคือ เมื่อคุณยึดถือหลักการหรือระบบที่ผิดเพี้ยนว่าเป็นหลักการหรือระบบที่ถูกต้องชอบธรรม คุณก็อ้างเหตุผลผิดเพี้ยนต่าง ๆ มาสนับสนุนหลักการหรือระบบเช่นนั้น

ตรรกะป่วยที่สร้างความวิปริตผิดเพี้ยนเหล่านั้น สะท้อนให้เห็นสภาวะสังคมการเมืองไทยที่ติดตัน เป็นสังคมการเมืองที่ไม่สามารถใช้เหตุผลถกเถียงอย่างเสรีและเท่าเทียมเพื่อสร้าง “ฉันทามติร่วมกัน” ได้ วัน ๆ จึงมีแต่การใช้ตรรกะป่วยเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาที่แท้จริง และปิดกั้นการหยิบยกปัญหาที่แท้จริงมาพูดและร่วมกันหาทางออกอย่างฉันท์มิตร

คำพูดของวิษณุคือตรรกะป่วยที่เราเห็นอยู่เสมอ เป็นตรรกะที่ใช้โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล มันไม่ใช่ความจริงที่ว่าประชาชนไม่ชุมนุมเพราะรัฐบาลไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และเพราะมีศูนย์ดำรงธรรม ความจริงก็คือรัฐบาล คสช.เกิดจากรัฐประหารล้มล้างอำนาจ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน เสรีภาพในการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจึงถูกล้มไปแล้วตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จนปัจจุบัน

ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ารัฐบาล คสช.ล้มอำนาจ สิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไปแล้วตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และปัจจุบันก็ยังมี ม.44 และคำสั่ง คสช.ฉบับต่าง ๆ ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และมีประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดี ติดคุกเพราะแสดงความคิดเห็นและเคลื่อนไหวทางการเมือง วิษณุก็ยังพูดหน้าตาเฉยว่ารัฐบาลไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก

ถ้าไม่จงใจโกหกก็อาจกำลังพูดถึงเสรีภาพในการแสดงออกในความหมายที่ผิดเพี้ยนไปจากเสรีภาพในการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน นี่ก็เป็นตรรกะป่วยที่ทำให้ความหมายของเสรีภาพในการแสดงออกผิดเพี้ยนไป เหมือนกับที่อำนาจเผด็จการยุคนี้ทำให้ความหมายของกฎหมายผิดเพี้ยนไป เพราะเกณฑ์ตัดสินความเป็นกฎหมายที่ยุติธรรมตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้น ต้องเป็นกฎหมายที่สะท้อนเจตจำนงทั่วไปของประชาชน

นั่นหมายความว่า อำนาจที่บัญญัติกฎหมายต้องมาจากความยินยอมของประชาชนด้วย ไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นตามอำเภอใจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่มีอภิสิทธิ์เหนือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยินยอมของประชาชน และจะว่าไปนับตั้งแต่ปี 2475 เราเป็นสังคมตรรกะป่วยมาต่อเนื่อง เพราะเป็นสังคมที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยที่ใช้ตรรกะป่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาและครอบงำประชาชน

เป็นการหล่อหลอมกล่อมเกลาด้วยการสร้างความหมายของประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม กฎหมาย ศีลธรรม ฯลฯ ที่ต้องอยู่ภายใต้ “ความเป็นไทย” ที่ทำให้ความหมายที่แท้จริงของหลักการเหล่านั้นผิดเพี้ยนไปจากเดิม ความขัดแย้งของสังคมไทยที่เราเผชิญมาตั้งแต่ปฏิวัติสยาม 2475 จนปัจจุบัน จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนขัดแย้งแตกแยกกันเอง

หากแต่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยที่ผลิตสร้างและผลิตซ้ำตรรกะป่วยเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ของพวกเขากับประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการสร้างอำนาจ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้เป็นจริง เมื่อพิจารณาจากจุดนี้ความพยายามของผู้มีอำนาจที่แสดงให้เห็นว่ากำลังจะคืนอำนาจ สิทธิ เสรีภาพให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้งนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงการเล่นละครเพื่อเป้าหมายปลายทางสืบทอดอำนาจให้เนียนและนานที่สุด

Back to top button