ใกล้เลือกตั้งยิ่งจำกัดเสรี
มาถึงวันนี้ สถานการณ์ค่อนข้างชัดเจนว่า การเลือกตั้งมีขึ้นแน่ แต่จะไม่ใช่การเลือกตั้งแบบที่คนไทยคุ้นชิน จะไม่ใช่ “เลือกตั้งเสรี” แต่เป็นการเลือกตั้งที่ถูกควบคุมเข้มงวด ตั้งแต่การหาเสียงของนักการเมือง ไปถึงการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
มาถึงวันนี้ สถานการณ์ค่อนข้างชัดเจนว่า การเลือกตั้งมีขึ้นแน่ แต่จะไม่ใช่การเลือกตั้งแบบที่คนไทยคุ้นชิน จะไม่ใช่ “เลือกตั้งเสรี” แต่เป็นการเลือกตั้งที่ถูกควบคุมเข้มงวด ตั้งแต่การหาเสียงของนักการเมือง ไปถึงการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์
เพราะภายใต้ข้ออ้าง ห่วงกังวลโลกออนไลน์ให้ร้ายป้ายสี นักการเมืองใช้โจมตีกัน คสช.ก็จะห้ามหาเสียงออนไลน์ ห้ามเปิดเฟซบุ๊กตั้งค่าสาธารณะ ให้เอาไว้ใช้ติดต่อกับสมาชิกพรรคเท่านั้น
ฟังแล้วหัวเราะกันทั้งประเทศ ไทยแลนด์ 4.0 จะให้ขี่ควายหาเสียงหรือไง หรือให้ใช้วิธีเดินสายไปกับมณฑลทหารบก เกาะทหารแจกของชาวบ้าน อย่างที่อดีต ส.ส.เพื่อไทยเอาภาพมาแฉให้เห็นกัน
คสช. กกต. เอาหลักการอะไรมาห้ามหาเสียงออนไลน์ ข้อแรก ที่อ้างว่าจะมีการโจมตีให้ร้าย มีเมื่อไรจึงเป็นความผิด นี่ยังไม่ผิดไปห้ามเขาได้อย่างไร แล้ว กกต.ก็ไม่จำเป็นต้องไปนั่งจ้องจับผิด หางานให้ตัวเองทำ หาอำนาจให้ตัวเองใหญ่ เพราะถ้ามีโจมตีให้ร้ายเมื่อไร พรรคคู่แข่งผู้เสียหายเขามาฟ้องเอง
ข้อสอง คสช. กกต. มีอำนาจหน้าที่คุมกติกา คือคุมไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบ ในด้านค่าใช้จ่าย ในแง่การใช้กลไกรัฐ หรือการอำนวยความสะดวกโดยรัฐ เช่น จัดสรรให้หาเสียงทางทีวีของรัฐในเวลาเท่ากัน
แต่ถามว่าเฟซบุ๊ก ไลน์ เว็บไซต์ เป็นของรัฐหรือไร แล้วต้องเสียค่าออกอากาศไหมก็ฟรีหมด มีแค่ค่าผลิตค่าทีมงาน ที่พรรคการเมืองต้องแจ้ง กกต. ซึ่งก็น้อยมาก จากนั้นเขาจะพูดจะเขียนอย่างไร จะมีคนกดไลค์กดแชร์มากน้อยแค่ไหน ก็แล้วแต่ความนิยม
ฉะนั้นที่ คสช.จะห้าม หรือที่ กกต.บอกว่าจะหาเสียงออนไลน์ต้องขออนุญาต จึงเป็นการใช้อำนาจเกินเลย ก้าวก่ายเสรีภาพ ทำราวกับเฟซบุ๊กเป็นทีวีของรัฐ เอาเข้าจริงคือต้องการจำกัดความนิยมในช่องทางที่ตนควบคุมไม่ได้
มองให้กว้างเผื่อไว้ เผลอ ๆ ช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง ประชาชนทั่วไปก็อาจถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะอาจถูกตีความว่าเป็นการเข้าข้างพรรคใดพรรคหนึ่ง
อ้าว โลกออนไลน์ทำให้ประชาชนทุกคนเป็นสื่อได้ คสช. กกต.ก็อาจอ้าง “สื่อต้องเป็นกลาง” ใครโพสต์เชียร์นโยบายหรือชูคำขวัญพรรคใดพรรคหนึ่ง อาจมีความผิดคล้ายโพสต์ภาพเหล้าเบียร์
สมมตินะ สมมติ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจไปต่อ ยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อใครโพสต์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจถือว่าให้ร้ายป้ายสี ไม่เป็นกลางก็ได้นะ
พูดอย่างนี้ไม่ได้มโน ย้อนดูการทำประชามติ ที่ไล่จับลิงมัด ยึดป้ายกาแฟกาโน ทั้งที่ประชามติคือให้เลือกโหวตเยสโหวตโน แต่รณรงค์ไม่รับถูกจับกุมคุมขัง แล้วคิดได้ไงว่าจะมีเลือกตั้งเสรี
ผู้กุมอำนาจเขากำหนดแล้ว การเลือกตั้งเป็นแค่พิธีกรรม ให้ คสช.เปลี่ยนผ่านจากเผด็จการ 5 ปี ไปสู่ระบอบสืบทอดอำนาจอีกอย่างน้อย 5 ปี เป็นพิธีกรรมที่หวังจะให้โลกยอมรับ คล้ายกับยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วใช้ ม.44 เพื่อให้ฝรั่งมาเที่ยวไทย
กลไกทุกอย่างต้องมุ่งสู่เป้าหมาย ตั้งแต่หนักไปหาเบา ถ้าจำเป็นก็ยุบพรรคไม่ให้ตั้งพรรคใหม่ หรือไล่จับทุจริต ซึ่งแค่สงสัยก็ระงับสิทธิได้ง่ายมาก ขณะเดียวกันก็อ้างความสงบเรียบร้อย ห้ามโจมตีใส่ร้ายป้ายสี ทุกคนต้องพับเพียบ สงบปากสงบคำ งดวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้บ้านเมืองเปลี่ยนผ่านไปด้วยดี
โธ่เอ๋ย เลือกตั้งใต้ ม.44 ต่อให้ปลดล็อก จะเป็นเลือกตั้งเสรีได้อย่างไร