‘กรณ์’ และ ‘ปตท.’

กำลังงุนงงอยู่ครับ ว่าเพราะเหตุใด “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และยังเป็นอดีต รมว.คลัง


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

กำลังงุนงงอยู่ครับ ว่าเพราะเหตุใด “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และยังเป็นอดีต รมว.คลัง

เขามองว่าการให้ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) บริษัทลูก ปตท. ซื้อบริษัท ผลิตไฟฟ้า หรือ GLOW

และยุทธศาสตร์ คาเฟ่อเมซอน (Cafe Amazon) เป็นเรื่องอันตราย

คุณกรณ์ บอกว่า การที่บมจ.ปตท. (PTT) จะเป็น National Champion ควรที่จะต้องใช้ศักยภาพและทรัพยากรของตนในการสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วยการลงทุนขยายกิจการไปในตลาดต่างประเทศ

หรือหากจะทำธุรกิจในประเทศ

ก็ควรลงทุนทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีผลในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ มากกว่าที่จะทำในสิ่งที่ผู้ประกอบการคนไทยเจ้าอื่นทั่วไปสามารถจะทำได้

และสิ่งที่ ปตท.ไม่ควรทำคือใช้ “อำนาจทางการตลาด”

และเป็นอำนาจที่ได้มาจากความได้เปรียบในฐานะ “รัฐวิสาหกิจ”

ในการทำธุรกิจในลักษณะที่ทำให้คนอื่นเสียเปรียบ ซึ่งในมุมมองเห็นว่านอกจากจะขัดต่อกฎหมายจัดตั้งปตท. แล้วยังน่าจะขัดรัฐธรรมนูญอีกด้วย

และอีกเรื่องคือ ร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน

คุณกรณ์ บอกว่า ปัจจุบันมีการขยายสาขาออกมานอกสถานีบริการน้ำมัน และเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

เป็นการแข่งขันโดยตรงกับ “ชาวบ้าน” ทั่วไปที่ไม่มีทางจะสู้ได้ด้วยกำลังทุนที่ต่างกัน

นอกจากนี้ ปตท.ยังประกาศจะทำ “โรงแรม” ด้วย ซึ่งก็อาจจะกระทบต่อการอยู่รอดของเอกชนที่มีสายป่านสั้นกว่า

พลันที่ข้อความของคุณกรณ์โพสต์ลง facebook

ปรากฏว่า “เทวินทร์ วงศ์วานิช” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของปตท.

และเพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เข้ามาตอบใน facebook ของคุณกรณ์

โดยระบุว่า “ตนเองเกษียณจากปตท.แล้ว ไม่มีส่วนได้เสียใด ๆ และขอให้ข้อเท็จจริงว่า กรณีร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนนั้นกว่า 90% ของผู้ลงทุนคือรายย่อย ไม่ใช่ ปตท.ลงทุน”

ส่วนการดำเนินธุรกิจโรงแรมตามสถานีบริการน้ำมันนั้นมีมานานแล้ว

ทว่า ขาดมาตรฐานที่คนเดินทาง เช่น Sales, Auditors จะวางใจได้

ปตท.จึงหาพันธมิตรมาออกแบบและกำหนดมาตรฐานเหมือนที่ทำกันในต่างประเทศ เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้เดินทาง และจะเป็นการลงทุนโดยผู้ประกอบการรายย่อยเช่นกัน

และประเด็นการเข้าซื้อหุ้น GLOW นั้น

ทาง Engie (บริษัท เอ็นจี โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GLOW จะขายหุ้น GLOW ให้กับ GPSC เพราะได้เปลี่ยนนโยบายมุ่งสู่ Renewables

ขณะที่ธุรกิจก๊าซฯ เริ่มเปิดเสรี

และปตท.กับ GPSC ดำเนินธุรกิจในลักษณะ Arm Length เพราะต่างก็เป็นบริษัทมหาชน สัญญาระหว่างกันที่มีนัยสำคัญถือเป็น connected transaction ที่ต้องให้ผู้ถือหุ้นอื่นเห็นชอบ และฮั้วกันไม่ได้

คุณเทวินทร์ ยังตอบอีกด้วยว่า ธุรกิจน้ำมันและขายปลีกของปตท. ในนามของบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR)

ไม่มีสิทธิพิเศษจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แข่งขันกับเอกชนอื่น รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติบนสนามที่เท่าเทียมกัน

และอยู่ระหว่างการนำเข้าจดทะเบียนและกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

การเข้ามาเขียนให้ข้อมูลของคุณเทวินทร์

ทำให้คุณกรณ์ เข้ามาแสดงความเห็นเพิ่มเติมใต้ความเห็นของคุณเทวินทร์ว่า สถานภาพทั่วไปในปัจจุบัน ทุนใหญ่ได้เปรียบและกินพื้นที่เศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีหน้าที่ต้องพยายามลดความเสียเปรียบของรายย่อยที่มีโดยธรรมชาติ

ดังนั้น การตีความในแต่ละกรณีต้องไม่ลืม ภาพใหญ่นี้

และต้องตอบสังคมให้ได้ว่า “ตกลงกฎหมายมีไว้ช่วยใคร”

หากคิดจะช่วยขาใหญ่ก็ปล่อยให้มีการตีความไปว่าบริษัทแม่ทำไม่ได้ ก็ให้ตั้งบริษัทลูกไปทำแทน

พร้อมกับไปยกมาตรา 75 ที่ระบุไว้ว่า รัฐต้องไม่ประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่เป็นกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ

และตบท้ายว่า คงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ว่าที่เขียนไว้นี้แปลว่าอย่างไร

ส่วนบุคคลอื่นที่เข้ามาแสดงความเห็นเรื่องนี้ เช่น มีการมาเปิดเผยข้อมูลว่า มีคนนามสกุล “จาติกวณิช” และ “เวชชาชีวะ” นั่งเป็นกรรมการใน GLOW อยู่ด้วย

ส่วนบางคนก็แซวว่า

การเลือกตั้ง คงจะใกล้เข้ามาแล้ว

Back to top button