เลือกตั้งสู่กับดักใหม่

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย เผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดในรอบ 64 เดือน เนื่องจากการส่งออกการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง ราคาพืชผลการเกษตรเริ่มดีขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองขึ้นมาสู่ระดับ 100


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย เผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดในรอบ 64 เดือน เนื่องจากการส่งออกการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง ราคาพืชผลการเกษตรเริ่มดีขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองขึ้นมาสู่ระดับ 100

ไม่ทราบว่า 100 คืออะไร มั่นใจว่ามีเลือกตั้ง ? มีแหงอยู่แล้ว แต่ที่เชื่อว่าเลือกตั้งแล้วจะกลับสู่ภาวะปกติ เห็นทีจะเข้าใจผิดใหญ่หลวง เพราะกระทั่งบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ยังอ้างบทวิเคราะห์ธนาคารโลกว่า ความขัดแย้งยังอยู่แม้ผ่านการเลือกตั้ง ทุกวันนี้สงบได้เพราะอำนาจ คสช.เท่านั้น

แม้คำกล่าวของบวรศักดิ์ จะดูเหมือนอ้างเพื่อหนุนบทบาทตัวเอง ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” แถมยังย้อนแย้งน่าขัน ที่บอกว่าประเทศไทยมีปัญหาการปกครองรวมศูนย์อำนาจ และมีกฎหมายที่ไม่ดีเท่าที่ควร อ้าว ยิ่งปกครองด้วยรัฐบาลทหาร ไม่ยิ่งรวมศูนย์อำนาจหรือ แล้วที่แตกแยกสิบกว่าปีเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะความอยุติธรรม พวกท่านฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วจะมาปฏิรูปกฎหมาย

แต่ใครที่เข้าใจสถานการณ์ ก็รู้เช่นเดียวกับบวรศักดิ์ โดยไม่ต้องอ้างธนาคารโลก เลือกตั้งเมื่อไหร่ไม่สงบแน่ หลังเลือกตั้งแม้สืบทอดอำนาจได้ ก็ไม่สงบ จะมีวิกฤตอยู่ใต้น้ำตลอดเวลา แม้อาจไม่เกิดง่าย เพราะอำนาจบนผิวน้ำใหญ่โตมโหฬาร แต่อำนาจนั้นก็ไม่มีวันทำให้สังคมเกิดฉันทามติ มีแต่จะสร้างความขัดแย้งยิ่งขึ้น

อ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ชี้ว่าระบอบการปกครองของไทยหลังเลือกตั้ง ไม่ใช่ระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตย แต่จะเป็นระบอบ Military Guarded Authoritarianism ซึ่งทหารจะยังมีอำนาจปกป้องระบอบที่ตนเองสร้างขึ้น แต่จะไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพราะต้องแบ่งอำนาจกับนักการเมือง

ระบอบนี้บีบสังคมให้จำยอม อำนาจที่ครอบงำใหญ่โตมโหฬาร กุมทั้งอำนาจปืนและกฎหมาย เกินกว่าสังคม (ซึ่งก็แตกแยกกัน) จะต่อต้านได้ ทั้งยังถูกชี้นำว่าต่อต้านไปก็ไลฟ์บอย ถ้าไม่ได้รัฐบาลเพื่อไทยก็ประชาธิปัตย์ กลับสู่อีหรอบเดิม ยอมอยู่ในระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเสียดีกว่า

แต่พร้อมกันนั้น ระบอบนี้ก็จะรวมศูนย์ความไม่พอใจของประชาสังคม ทั้งต่ออำนาจทหาร ต่อรัฐราชการ ที่สี่ปีผ่านไป อ้างกฎระเบียบใช้อำนาจกับประชาชนอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ก็จะรวมนักการเมืองที่เข้ามาสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ตลอดจนกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ชาวบ้านมองว่ารวยได้รวยเอาในยุคเผด็จการ เข้ามาเป็นเป้าด้วย

พูดให้เป็นรูปธรรม สมมตินะ สมมติ ประยุทธ์ไปต่อ เป็นนายกฯ ด้วยการสนับสนุนของพรรคดูด ส.ส. แม้คงจะก๊อปยุคป๋าเปรม ตั้งรัฐมนตรีส่วนใหญ่จากข้าราชการ หรือคนทำงานด้วยกันในรัฐบาลนี้ แต่ก็ไม่วาย ต้องมีรัฐมนตรีนักการเมืองเข้าไปเป็นเป้า

ในขณะเดียวกัน ประเด็นที่สังคมเรียกร้อง จนพรรคเพื่อไทยจะเอาไปเป็นนโยบาย เช่นเลิกเกณฑ์ทหาร ยกเลิกซื้อเรือดำน้ำ ตรวจสอบการซื้ออาวุธ ลดนายพล หรือลดอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ของทหาร อย่างที่เสรีพิศุทธ์ไลฟ์สด มีคนติดตามหลายแสน ก็จะยิ่งขยาย

มิพักต้องพูดถึงกลุ่มทุนใหญ่ ที่ถูกจับตาว่าเอื้อประโยชน์ ปัดโธ่ แค่ พ.ร.บ.ยา ที่จะให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาได้ ทั้งเภสัชกรทั้งชาวบ้านก็ฮือค้าน ด้วยความไม่ไว้วางใจ “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา”

ความอัดอั้นไม่พอใจหลากหลายจะปะทุขึ้น เมื่อไม่มี ม.44 แม้ยังใช้อำนาจเข้มงวด แต่ก็จะมีคนกล้าท้าทายจำนวนมาก

นั่นคือระบอบอำนาจหลังเลือกตั้ง หวังว่าจะสืบทอดอำนาจได้สำเร็จ จะได้เห็นของจริงว่า รัฐธรรมนูญ 2560 วางกับดักตัวเองไว้อย่างไร

Back to top button