อู่ตะเภา มหานครการบิน
ช่วงนี้หลายคนต่างกล่าวถึง “อีอีซี” กันเยอะ
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
ช่วงนี้หลายคนต่างกล่าวถึง “อีอีซี” กันเยอะ
อีอีซี หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ทั้งรัฐบาลและเอกชน จับมือกันเพื่อเร่งพัฒนาโครงการเมกะโปรเจกต์ทั้งหลายจะทยอยเข็นออกมาประมูล
เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน
โครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ
และการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มีสนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา อีอีซี
ว่ากันว่า ความสมบรูณ์แบบของสนามบินอู่ตะเภา ยังมีรายละเอียดที่จะต้องมีการออกแบบ เพื่อให้การบริการ ของสนามบินแห่งนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งเชื่อมโยงภาคบริการ และธุรกิจอื่น ๆ ได้อย่างครบวงจร
ขณะที่สำนัก อีอีซี ยังมองหาเทคโนโลยี และแนวทางใหม่ ๆ เข้ามา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการ ให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ล่าสุด มีข่าวว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองการบินมาจากประเทศสหรัฐฯ
นั่นคือ ศาสตราจารย์ จอห์น ดี. คาซาร์ดา
บุคคลนี้ มีข้อมูลออกมาว่า เขามีประสบการณ์สูง ในด้านการพัฒนาเมืองการบินในต่างประเทศ
จึงดึงมาเป็นที่ปรึกษาออกแบบพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ เมืองการบินภาคตะวันออก สู่การเป็น “มหานครการบินภาคตะวันออก”
มหานครการบินภาคตะวันออก ที่ว่านี้
จะครอบคลุมพื้นที่รอบสนามบินประมาณ 30 กิโลเมตร ที่จะเกิดขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า
มีทั้งการพัฒนาพื้นที่เขตชั้นใน และชั้นนอกที่รัฐบาลได้กำหนดขอบเขตของการพัฒนา หรือตั้งแต่ระยะการพัฒนา 10 กิโลเมตร ในพื้นที่ชั้นใน และ 30 กิโลเมตร ในพื้นที่ชั้นนอก
และมีสนามบินอู่ตะเภา เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา
เป้าหมายก็เพื่อให้เป็นสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา หรือเป็นสนามบินพาณิชย์ของภาคตะวันออก ที่ถือว่าเป็นสนามบินขนาดใหญ่ อีกแห่งหนึ่งของไทย
สนามบินแห่งนี้ จะเป็นสนามบินที่ทันสมัย และติดอันดับต้น ๆ ของโลก
และนั่นทำให้จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญและเชี่ยวชาญในโครงการพัฒนาเมืองการบินหลายแห่งทั่วโลก เข้ามาทำแผนรายละเอียดของการออกแบบพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงของระบบอุตสาหกรรมการบินของไทย และภูมิภาคอาเซียน
และที่สำคัญคือ ต้องรองรับกับการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
ว่ากันว่า เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เป็นองค์ประกอบการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก หรือ Eastern Airport City จะต้องลงทุนในด้านต่าง ๆ
และมี 6 กิจกรรมภายในสนามบิน ประกอบด้วย
1.การให้บริการ และบำรุงรักษา อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Terminal 3)
2.ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway)
3.ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ และโลจิสติกส์ (Air Cargo) ระยะที่ 2
4.ธุรกิจซ่อมเครื่องบิน (Maintenance Repair and Overhaul, MRO) ระยะที่ 2
5.ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบินระยะที่ 2
และ 6.กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยาน (Free Trade Zone) เพื่อการยกระดับสนามบินอู่ตะเภา สู่สนามบินระดับโลก
ปัจจุบันกองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัท AECOM จากสหรัฐฯ เป็นที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
และบริษัท KPMG จากประเทศอังกฤษ วางแนวทางการศึกษาร่วมทุน ในโครงการต่าง ๆ
แนวทางการพัฒนา เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย รองรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
มาลุ้นกันว่า สนามบินอู่ตะเภาในวันนี้
จะยกระดับขึ้นเป็น มหานครการบิน ในอีก 5 ปีข้างหน้าได้หรือไม่