ประสบการณ์เลือดท่วมตลาด
ปรากฏการณ์ตลาดหุ้นไทย เมื่อวันพุธที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์นัก ดัชนีหลักทรัพย์หลุดไปใต้ระดับ 1,700 จุดอีกแล้ว หลังจากกลับมายืนเหนือระดับ 1,700 จุดมาได้ 7 วันทำการ
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
ปรากฏการณ์ตลาดหุ้นไทย เมื่อวันพุธที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์นัก ดัชนีหลักทรัพย์หลุดไปใต้ระดับ 1,700 จุดอีกแล้ว หลังจากกลับมายืนเหนือระดับ 1,700 จุดมาได้ 7 วันทำการ
บทแนวรับสำคัญทางจิตวิทยา 1,700 จุด จะถูกตีกระจุยลงมา ก็เกิดขึ้นได้ฉับพลันช่วงแค่วันเดียว ดัชนีดิ่งลงมาถึง 28 จุด (1.64%) จาก 1,714 จุด ลงมาสู่ระดับ 1,686 จุด (อีกแล้ว) ซึ่งไม่รู้ว่าจะทะยานกลับไปหา 1,700 จุดได้อีกเมื่อไหร่
ตลาดหุ้นไทยเหมือนโดนไฟไหม้สำเพ็ง หุ้นใน SET100 ซึ่งเป็นหุ้นมาร์เก็ตแคปใหญ่สูงสุดใน 100 อันดับ มีเพียง 3 หุ้นเท่านั้น ที่รอดชีวิตไม่ติดลบ นั่นคือ โรงพยาบาลกรุงเทพ BDMS HANA และหุ้นโรงกลั่น SPRC
นักกลยุทธ์ประจำตลาดหุ้น รวมทั้งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ต่างชี้ไปที่สาเหตุปัจจัยมาจากต่างประเทศ ที่แตกตื่นกังวลในเรื่องวิกฤตค่าเงินครั้งใหม่ในตลาดเกิดใหม่ทั้งในบราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์
ก็เลยเกิดปรากฏการณ์กระต่ายตื่นตูมถล่มหุ้นเลือดสาดไปทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะในเอเชีย ยุโรป อเมริกา รวมทั้งตลาดหุ้นไทย
เรื่องวิกฤตค่าเงินนี้ มานั่งทบทวนกันให้ดี ๆ ก็ไม่เห็นจะมีอะไรข้องแวะกับประเทศไทยเราสักเท่าไหร่เลย เงินบาทของเรายังแข็งค่าขึ้นมาเสียด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งขณะนี้เงินบาทลงต่ำมาใต้ 33 บาทมาอยู่ที่ 32 บาทปลาย ๆ แล้ว
ค่าเงินบาทไทย ไม่มีแนวโน้มจะอ่อนตัวในระดับวิกฤต เนื่องจากประเทศมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับที่สูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังมีสถานะเกินดุลในระดับสูง
ไม่น่าจะเกิดปัญหาวิกฤตค่าเงินบาทเหมือนเพื่อนบ้านค่อนข้างแน่นอน
เรื่องวิกฤตสงครามการค้า ที่ตอนนี้พ่อเจ้าประคุณทรัมป์ละเลงไปทั่วทั้งในกลุ่มการค้าอเมริกาเหนือ NAFTA ด้วยกัน และจีน มันก็น่าจะเป็นเรื่องไกลตัวประเทศไทยเราอีกนั่นแหละ
วิกฤตจากภายนอก หากเราไม่วิกฤตไปกับเขาด้วย อาการแพนิกก็น่าจะเกิดขึ้นช่วงสั้น ไม่เป็นวิกฤตระยะยาว
นอกจากนี้ ต้องยอมรับความจริงกันอีกอย่างหนึ่งว่า สิ่งแวดล้อมของตลาดเรา ที่จะกำหนดความเคลื่อนไหวราคาหุ้นเวลานี้ ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
เวลานี้ นักลงทุนมีสัดส่วนการใช้ “บล็อกเทรด” และใช้ “หุ่นยนต์” เข้ามาซื้อขายกันมากขึ้น การใช้หุ่นยนต์ทำให้สามารถซื้อหรือขายหุ้นได้เร็วขึ้น มีการตั้งเป็นโปรแกรมอัตโนมัติซื้อขายกันเป็นรายเสี้ยววินาที ซึ่งคนธรรมดาไม่มีทางจะสู้กับหุ่นยนต์ได้หรอก
นอกจากนี้ การซื้อขายใน “บล็อกเทรด” ก็น่าจะทำให้เกิดการบิดเบี้ยวทางด้านราคาพอสมควร ยิ่งช่วงขาลงก็ยิ่งจะมีคำสั่งรัว ๆ ขายมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการซ้ำเติมแพนิกในตลาดหุ้นมากขึ้นไปอีก
ตลาดหลักทรัพย์ฯ และก.ล.ต.ก็น่าจะพิจารณาทบทวนการซื้อขายบล็อกเทรดสักหน่อยว่าจะหาทางป้องกันการบิดเบือนของตลาดได้บ้างอย่างไร
แต่ก็อีกนั่นแหละ หากลองคิดเปิดใจให้กว้างจะพบว่า การที่หุ้นปรับตัวลดลงมาอย่างหนักนั้น ในทางกลับกันอาจเป็นจังหวะเหมาะสมให้ตักตวง “หุ้นดีราคาถูก” ได้เหมือนกัน
ของดีที่สนนราคาต่ำลงมาตอนนี้มีอยู่เกลื่อนตลาด เอาแต่จำพวกที่เป็นพิมพ์นิยม ก็ปาเข้าไปเป็นหลักสิบหุ้นแล้ว!!
เช่น PTTGC ก็นับเป็นหนึ่งหุ้นโรงกลั่นน้ำดี ซึ่งปัจจุบันให้อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน หรือ “ดิวิเดนด์ ยีลด์” สูงถึง 5.37% หนำซ้ำหากนำราคาหุ้นปัจจุบันไปเทียบเคียงราคาเป้าหมาย IAA Consensus ก็มีอัพไซด์สูงลิบกว่า 33%
ถัดมาอย่าง IRPC ก็ถือว่าไม่ขี้เหร่ เพราะให้ยีลด์ราว 4.3% ขณะที่ราคาเป้าหมายเฉลี่ยยังมีอัพไซด์อยู่อีก 18%
หรือไปดูหุ้นอย่าง IVL แม้ว่ายีลด์ปัจจุบันจะถือว่าไม่สูงนักที่ประมาณ 1.65% แต่ถ้าไปดูราคาเป้าหมายที่เป็น “คอนเซนซัส” ก็พบว่ายังมีอัพไซด์สูงกว่า 30%
ขณะที่อีกหนึ่งหุ้นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ AOT ซึ่งยีลด์ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.32% แต่ราคายังมีช่องว่างให้ขยับขึ้นได้อีกสูงสุดถึงเกือบ 30% ตามการประเมินของนักวิเคราะห์จากสำนักต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังมีหุ้นอีกหลายตัวที่สภาพคล่องในการซื้อขายอาจจะไม่ได้ขึ้นชั้นเป็น “พิมพ์นิยม” แต่ในแง่ของชื่อชั้นเรื่องการจ่ายปันผล รวมถึงอัพไซด์ราคาหุ้น ถือว่าไม่เป็นรอง หรืออาจจะเหนือกว่าหุ้นชื่อดังบางตัวซะด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่าง หุ้นน้ำมันพืชไทย TVO ที่ให้อัตราส่วนผลตอบแทนเงินปันผลในปัจจุบันสูงถึง 5% ขณะที่ราคาหุ้นยังมีส่วนต่างจากราคาเป้าหมายไว้ให้ลุ้นอยู่อีกถึง 22%
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างหุ้นที่ราคามีการปรับตัวลดลง ตามภาวะความผันผวนของตลาดเมืองนอก ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับบ้านเราสักเท่าไหร่เลย
จริงอยู่ “ดิวิเดนด์ ยีลด์” ที่หยิบยกมาเขียนเป็นการอ้างอิงตัวเลขเงินปันผลก่อนหน้านี้มาเทียบกับราคาปัจจุบัน
แต่ในส่วนของราคาเป้าหมายที่เป็น “คอนเซนซัส” และยังเป็นอัพไซด์อยู่นั้น เกิดขึ้นจากประมาณการกำไรของหุ้นแต่ละตัวในปีนี้ ฉะนั้นจึงเป็นตัวชี้วัดได้ระดับหนึ่งว่า ผลการดำเนินงานของแต่ละบริษัทที่กล่าวถึงยังสามารถขยับตัว เติบโตได้ต่อเนื่อง
นั่นเองจึงหมายถึงการจ่ายปันผลในงวดถัดไป คงพอจะฟันธงได้เลา ๆ กระมังว่า อย่างไรก็ไม่มีทางจะน้อยกว่าอัตราส่วนที่เคยจ่ายก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน
…หรือตราบใดที่ราคาหุ้นยังกองแอ้งแม้ง ไม่ยอมวิ่งหาพื้นฐานที่แท้จริงสักที!!