พาราสาวะถี
ส่งสัญญาณว่าจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิธีเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมายอมรับเอง นัยหนึ่งเหมือนเป็นการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าแม้จะเป็นพรรคเก่าแก่แต่ก็มีความเป็นประชาธิปไตยรับฟังสมาชิกพรรคทั้งประเทศ ทำให้ทุกเสียงมีความหมายก้าวหน้าไปกว่าแนวทางที่เขียนไว้โดยคณะเนติบริกรของเผด็จการคสช. ที่วางกฎเข้มแต่เอาเข้าจริงพฤติกรรมกลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
อรชุน
ส่งสัญญาณว่าจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิธีเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมายอมรับเอง นัยหนึ่งเหมือนเป็นการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าแม้จะเป็นพรรคเก่าแก่แต่ก็มีความเป็นประชาธิปไตยรับฟังสมาชิกพรรคทั้งประเทศ ทำให้ทุกเสียงมีความหมายก้าวหน้าไปกว่าแนวทางที่เขียนไว้โดยคณะเนติบริกรของเผด็จการคสช. ที่วางกฎเข้มแต่เอาเข้าจริงพฤติกรรมกลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
เอาแค่แนวทางการแก้ไขปัญหาไพรมารีโหวต สิ่งที่ปรากฏออกมามันก็คือการยกเว้นกลาย ๆ แต่เพื่อไม่ให้ขัดต่อมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญจึงเรียกกันว่าเป็นไพรมารีโหวตฉบับย่อหรือจะเลี่ยงบาลีเรียกอะไรก็สุดแท้แต่ ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปถามถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมมันแทบจะเป็นไปได้น้อย ยิ่งเห็น “ขบวนการเดินสายดูด” อดีตส.ส. นั่นก็เท่ากับว่าไม่ได้เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่โพนทะนาจริง
ขณะที่แนวทางอันเปลี่ยนแปลงในการเลือกหัวหน้าพรรคเก่าแก่ ไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยก็น่าจะทำให้คนที่ทิ้งพรรคไปก่อนหน้าเพราะอยากเห็นการปฏิรูปภายในพรรคอย่าง “เสี่ยจ้อน” อลงกรณ์ พลบุตร อาจจะเปลี่ยนใจหันหลังกลับมาร่วมงานกันอีกกระทอกก็เป็นได้ การกลับคำในลักษณะนี้ไม่มีอะไรเสียหาย ยิ่งมองไปในแง่ของประชาชนในพื้นที่ที่จะเป็นผู้เลือก
หากพรรคเก่าแก่เสียเสี่ยจ้อนไป แล้วไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น จะทำให้คนในพื้นที่ตัดสินใจยาก อันไม่เป็นผลดีทั้งในแง่ของตัวบุคคลที่ต้องยอมเสี่ยงหากไม่เว้นวรรคทางการเมืองอย่างแท้จริง ขณะที่พรรคการเมืองเดิมก็ต้องวัดใจว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านเลือกพรรคหรือเลือกคนกันแน่ แต่ถ้ากลับมาจูบปากกันเหมือนเดิม แม้จะรู้สึกเขิน ๆ มองหน้ากันไม่ติดในระยะแรก แต่สุดท้ายเชื่อว่าด้วยอัตลักษณ์ของพรรคการเมืองแห่งนี้ ทุกอย่างจะเป็นไปในลักษณะเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อนอย่างแน่นอน
ต้องรอดูว่าสิ่งที่อภิสิทธิ์บอก กับข่าวที่เล็ดลอดมากรณีอลงกรณ์สุดท้ายจะเป็นเรื่องเดียวกันและเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนหรือไม่ ที่แน่ ๆ ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่ยังอึมครึมในแง่ของการคลายล็อกปลดล็อกในส่วนของผู้มีอำนาจ การขยับของพรรคการเมืองใหญ่น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจการเมืองในลักษณะของความต้องการมีส่วนร่วมมากกว่าเบื่อหน่ายเหมือนที่ผ่านมา
ขณะที่เกมการเมืองว่าด้วยเรื่องสีเสื้อ นาทีนี้หากจับอาการจากบรรดาแกนนำทั้งหลายไม่ว่าจะเหลืองจะแดงหรือแม้แต่กปปส. เชื่อได้เลยว่าทุกคนรู้ดีจะต้องวางตัวและเคลื่อนไหวกันอย่างไร โจทย์ใหญ่คือความขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมาจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก ไม่เพียงแต่ผู้มีอำนาจจะใช้พระเดชในการควบคุมเท่านั้น แต่ต้องใช้พระคุณในการชี้แจงและทำความเข้าใจร่วมกันด้วยว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น
อ่านจากท่วงทำนองของ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช.ที่ถูกค่อนขอดว่าหลังได้รับการปล่อยพ้นเรือนจำกรุงเทพฯ ดูเหมือนเจ้าตัวจะเปลี่ยนไป ดูได้จากการหันไปเปิดโรงเรียนการเมืองของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ต้องพูดถึงซีกของระบอบสนธิ-จำลอง ที่วันนี้แทบจะไม่มีบทบาทอะไรแล้วในมิติทางการเมือง เหล่านี้ล้วนเป็นตัวบ่งบอกว่า อุปสรรคของคณะเผด็จการคสช.ในแง่ฝ่ายต่อต้านไม่มี
ที่เหลือจึงเป็นเรื่องของการแสดงฝีมือในการบริหารประเทศล้วน ๆ หากพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์นอกจากแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว ยังสามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ การจะไปต่อในฐานะเผด็จการผู้สืบทอดอำนาจ แรงกระเพื่อมที่จะเกิดขึ้นคงไม่รุนแรง แต่หากสถานการณ์ยังเหมือนที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน คงต้องไปถามประชาชนส่วนใหญ่ว่าจะให้โอกาสกลับมาอีกหรือไม่
ในแง่ของผู้ที่อ้างประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการยึดอำนาจมาโดยตลอด คงจะยกผลโพลสารพัดสำนักที่กลุ่มเป้าหมายยังคงไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นอันดับหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด เพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่ว่าจะยุคไหน สมัยใด ผู้ที่อยู่ในอำนาจมักจะมีคนเลือกเป็นอันดับต้น ๆ ทุกครั้งในการตอบแบบสอบถาม
ปัจจัยชี้ขาดที่แท้จริงคงอยู่ที่ผลโพลในทางลับไม่ว่าจะเป็นของกอ.รมน.หรือฝ่ายความมั่นคงคณะต่าง ๆ คะแนนของพรรคการเมืองที่มีอยู่ คนส่วนใหญ่จะเลือกใคร นั่นต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญ หากยึดตามโพลที่ปรากฏตามหน้าสื่อทุกสุดสัปดาห์ ป่านนี้ประเทศไทยมีคณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปแล้ว แต่พอพิจารณาจากโพลลับแล้ว มันทำให้เกิดการรีรอในการตัดสินใจคงไม่มีผู้มีอำนาจรายใดจะโง่พอจัดการเลือกตั้งทั้ง ๆ ที่รู้ว่าตัวเองตกเป็นรอง
ของจริงพรรคของ ทักษิณ ชินวัตร คงไม่ได้ชนะขาดเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แต่มันก็มากพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ได้เห็นว่านี่คือผู้ชนะการเลือกตั้ง ส่วนสิทธิในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้นวันนี้ไม่ต้องพูดถึง ทั้งหมดที่ดึงจังหวะเวลามันอยู่ที่การคำนวณตัวเลขของพรรคนอมินีและที่จะเข้ามาร่วม มันเหนือกว่าพรรคนายใหญ่จนไม่เป็นภัยต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหลังเลือกตั้งหรือไม่
ขณะที่ความชอบธรรมหรืออาจจะบอกว่ามารยาทในการที่จะให้ผู้มีเสียงข้างมากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้น หากฟังอภิสิทธิ์พูดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้หมายถึงพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ฟันธงว่าขึ้นอยู่กับทุกพรรคการเมืองที่จะรวบรวมคะแนนเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาล นั่นหมายความว่า ใครที่มีเก้าอี้ส.ส.ก็สามารถจับมือกันได้หมด ส่วนตัวผู้ที่จะถูกเลือกเป็นนายกฯ นั้นขึ้นอยู่กับการต่อรอง
หากเป็นไปในลักษณะนี้ ถ้าเป็นประชาธิปัตย์รวบรวมเสียงข้างมากได้ คำถามที่จะตามมาคือจะเกิดการยกเก้าอี้กระทรวงใหญ่ให้พรรคที่มีอำนาจต่อรองเหมือนเมื่อคราวยอมศิโรราบทุกเรื่องให้พรรคภูมิใจไทยในยุคตั้งรัฐบาลในค่ายทหารหรือไม่ หรือหากจะไปจับมือกันหนุนหัวหน้าเผด็จการคสช.ให้กลับมา ถามต่อว่าสัดส่วนของรัฐมนตรีในรัฐบาลหน้าตาจะออกมาอย่างไร
ที่ว่ามาทั้งหมดคงไม่น่าจะมีอะไรหลุดไปจากนี้ เว้นเสียแต่จะมีเหตุอย่างอื่นทำให้กระบวนการหลังเลือกตั้งไม่เป็นไปตามแผนการที่ได้วางกันไว้นั่นก็อีกเรื่อง ซึ่งทุกอย่างแม้แต่ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าปลายทางมันจะเป็นแบบไหน บางทีการประกาศจุดยืนของหัวหน้าเผด็จการคสช.ที่บอกว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนนี้ น่าจะทำให้เห็นทิศเห็นทางทางการเมืองได้ในระดับหนึ่งเหมือนกัน