เยี่ยมชม ‘อาลีบาบา’
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการของอาลีบาบา ที่หางโจว (Hangzhou) ประเทศจีน
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการของอาลีบาบา ที่หางโจว (Hangzhou) ประเทศจีน
เป็นการเดินทางของคณะผู้เข้ารับการอบรมตามโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พคส.) ของ “สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ” ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก “ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)”
เท่าที่พอจำได้
ผมเดินทางไปเซี่ยงไฮ้ จีน ล่าสุด น่าจะ 4 – 5 ปีก่อน
ส่วนครั้งนี้ทันทีที่ถึงสนามบินเซี่ยงไฮ้ ผู่ตง เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปมาก
สนามบินดูใหญ่ขึ้นเยอะ อาคารรองรับผู้โดยสารหลังที่ 2 สร้างเสร็จแล้ว และเมื่อรวมทั้ง 2 อาคาร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 80 ล้านคนต่อปี
เซี่ยงไฮ้ ยังมีสนามบินอีกแห่งคือ “หงเฉียว” แต่จะเน้นบินภายในประเทศ (ผู่ตง เน้นอินเตอร์)
การเดินทางจากเซี่ยงไฮ้ เพื่อไปหางโจว มีหลายเส้นทาง
ทั้งรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งด้วยความเร็ว 300 กม./ชั่วโมง (วิ่งจริงไม่ถึง) โดยเซี่ยงไฮ้กับหางโจวมีระยะทาง 170 – 180 กิโลเมตร
รถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลา 59 นาที เท่านั้น
แต่คณะศึกษาดูงานอาลีบาบา เลือกเดินทางโดยรถบัส วิ่งไปตามเส้นทางมอเตอร์เวย์ ใช้เวลาเกือบ ๆ 3 ชั่วโมง เพราะต้องเผชิญกับรถติดในช่วงเวลาเร่งด้วนในเซี่ยงไฮ้
ขณะที่รถบัสจะถูกจำกัดความเร็วอย่างเข้มงวด
ไม่มีใครกล้าฝ่าฝืน เพราะที่จีนทราบกันดีว่า เขาปรับหนัก จับจริง ไม่มีหน่อมแน้ม
เส้นทางมอเตอร์เวย์มีจุดจอดพักรถ หรือ Rest Area ที่ดูทันสมัย ห้องน้ำสะอาด พร้อมร้านค้าต่าง ๆ หรือคล้าย ๆ กับจุดพักรถของประเทศญี่ปุ่น
หางโจว ที่อยู่ในมณฑลเจ้อเจียงนั้นมีวัฒนธรรมที่ยาวนาน และเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
ที่สำคัญ ยังเป็นเมือง “ดิจิทัลไร้สาย” ครอบคลุมทั้งทางหลวง และตรอกเล็กต่าง ๆ
ทันทีที่ถึงหางโจว และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของโลก อย่างอาลีบาบา
พวกเราได้เดินทางเข้าไปยังศูนย์การค้า Hema Fresh @Ali-Mall หรือ เหอหม่า เฟรช ที่อาลีมอลล์ ซึ่งเป็นอีกธุรกิจของอาลีบาบา และเป็นศูนย์การค้าตัวอย่างของโมเดล New Retail ที่อาลีบาบาก่อตั้งขึ้นในปี 2558
จุดน่าสนใจของของเหอหม่า คือ ระบบการชำระเงิน
นั่นคือ หากลูกค้าต้องการนำสินค้ากลับบ้านเอง เดินไปที่จุดชำระเงิน โดยจะมีเครื่องชำระเงินอัตโนมัติ
การชำระเงินจะใช้ระบบของอาลีเพย์ (Alipay) ที่มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ “การสแกนบาร์โค้ด” หรือจะใช้วิธีการ “สแกนใบหน้า”
ทว่า จะต้องมีการลงทะเบียนใบหน้า เพื่อผูกกับบัญชีที่ร้านค้าก่อน
มีคำถามว่า แล้วหากไม่ได้ใช้ระบบอาลีเพย์ จะช็อปปิ้งได้ไหม
คำตอบคือ ได้ เพราะเขาก็จะมีจุดชำระเงินที่มีพนักงานไว้บริหาร เหมือนกับซูเปอร์มาร์เก็ตทั่ว ๆ ไปในไทยนั่นแหละ เพียงแต่ว่า เขาจะมีจุดบริหารแบบนี้เพียงจุดเดียวเท่านั้น
เพราะช่องที่เหลือจะเป็นระบบอาลีเพย์ทั้งหมด
และอีกวิธีคือ การชำระเงินซื้อสินค้าผ่านอาลีเพย์
วิธีการนี้จะสแกนบาร์โค้ด เพื่อดูรายละเอียดสินค้า และกดเก็บเข้าตะกร้า
ขั้นตอนต่อมา คือ เข้าสู่การชำระเงิน และจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์แล้ว ก็จะมีพนักงานเดินไปหยิบสินค้า นำไปรวมกันก่อนจัดส่งให้ถึงบ้าน (ระยะ 3 กม.)
“สังคมไร้เงินสด” ที่หางโจว และประเทศจีน พัฒนาไปไกลมาก
คนจีนมีความตื่นตัวกับระบบไร้เงินสดมานานแล้ว และน่าจะพัฒนาไปไกลมากกว่าหลาย ๆ ประเทศทางยุโรปเสียอีก
รู้ไหม ขนาดพ่อค้า-แม่ค้า หาบเร่แผงลอย ที่เดินขายของตามริมฟุตบาท พวกเขาต่างใช้ระบบชำระเงินด้วยการสแกนบาร์โค้ดด้วยกันทั้งนั้น
หลังจากเดินชมศูนย์การค้าในเหอหม่า
ต่อจากนั้น ก็เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของอาลีบาบา
และแน่นอนว่า ที่นี่มีความเข้มงวดในการเข้าออกอย่างมาก
ภายในอาณาจักรของอาลีบาบา มีตึกขนาดใหญ่อยู่หลายอาคาร มีจำนวนพนักงานมากกว่าหมื่นคน และมีคณะต่าง ๆ เข้ามาเยี่ยมชมอยู่ตลอดเวลา
แต่ส่วนที่เราสามารถเดินดูได้ จะเป็นส่วนที่เขากำหนดไว้แล้ว
รวมถึงภายในอาคารที่แสดงถึงประวัติความเป็นมา และธุรกิจในเครืออาลีบาบาทั้งหมด โดยมีเจ้าหน้าที่ของอาลีบาบาจะคอยบรรยายข้อมูลต่าง ๆ ให้ฟังเป็นจุด ๆ ไป
ปัจจุบัน อาลีบาบา เป็นธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่สุดในโลก มีฐานลูกค้าที่ซื้อสินค้าจริง 576 ล้านคนต่อปี (30 มิ.ย. 2561)
สำหรับอาลีบาบา เข้าจดทะเบียนใน NASDAQ ตลาดหุ้นของสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2557
ผ่านมาถึงวันนี้ อาลีบาบา เข้าจดทะเบียนใน NASDAQ มาแล้วกว่า 4 ปี หลังจากก่อตั้งบริษัทในปี 2542
มูลค่าหลักทรัพย์ของอาลีบาบามากกว่า 5.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือติดอันดับบริษัทที่มีมูลค่ามากสุดและใหญ่สุด 10 อันดับแรกของโลก
คิดเป็นเงิน (บาท) ไทย ก็ราว ๆ 17.1 ล้านล้านบาท
ตัวเลขนี้ถือว่าพอ ๆ กับมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทย (17.0 ล้านล้านบาท ณ 14 ก.ย. 2561) เลยล่ะ