ซิโนโฟเบีย
ยามนี้ หากอ่านสื่อที่มาจากฮ่องกงหลายสำนัก จะเห็นการนำเสนอข่าวและบทความที่น่าสนใจในยามที่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนบานปลายไปเรื่อย ในทิศทางที่กลายเป็นกระแสเสมือนยุคสงครามเย็นที่เต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ยามนี้ หากอ่านสื่อที่มาจากฮ่องกงหลายสำนัก จะเห็นการนำเสนอข่าวและบทความที่น่าสนใจในยามที่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนบานปลายไปเรื่อย ในทิศทางที่กลายเป็นกระแสเสมือนยุคสงครามเย็นที่เต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ
กระแสที่ว่าคือ สหรัฐฯ โดยโดนัลด์ ทรัมป์ และชาติตะวันตกที่ร่ำรวยหรือ OECD กำลังสร้างกระแสต่อต่านจีน หรือซิโนโฟเบีย ขึ้นมาอย่างเป็นระบบทั้งการค้าและการลงทุน เพื่อขัดขวางแผนการพัฒนาของจีนภายใต้โครงการ Made In China และ One Belt, One Road
ไม่มีใครรู้ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวมีจริงแค่ไหน หรือมีการวางแผนเป็นนโยบายรัฐตะวันตกจริงหรือไม่ แต่กระแสดังกล่าว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะการเติบโตที่รุนแรงต่อเนื่องทางด้านเศรษฐกิจของจีนยามนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ชาติต่าง ๆ พากันตื่นเต้นและหวาดผวาไม่น้อย
ปรากฏการณ์ต่อต้านจีน หรือซิโนโฟเบีย เป็นพฤติกรรมที่เราสามารถเห็นได้จากท่าทีของนักท่องสื่อออนไลน์ หรือชาวโซเชียลมีเดียบางกลุ่ม รวมทั้งในไทยด้วย
ซิโนโฟเบีย ที่ระบาดไปพร้อมกับอาการแปลก ๆ เหมือนได้รับเชื้อบางอย่างที่แปลกปลอมเข้าไป และได้มีการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญว่า ไม่ใช่ไวรัสคอมพิวเตอร์ แต่มันเป็นไวรัสเก่าแก่นับพันปีที่กลายพันธุ์ไปตามยุคสมัย
เชื้อซิโนโฟเบีย (Sinophobia) เป็นศัพท์ประดิษฐ์เพื่ออธิบายกระแสต่อต้านจีนที่ไม่มีเหตุผลอะไรมากมาย หรือ “Anti-Chinese sentiment” โดยที่ใครที่ติดไวรัสชนิดนี้แล้วจะมีอาการดังต่อไปนี้ มีความรู้สึกต่อต้านจีน ต่อต้านคนจีน ต่อต้านประเทศจีนโพ้นทะเล และต่อต้านวัฒนธรรมจีน มีความรู้สึกที่เป็นลบ ไม่ชอบ และหวาดกลัว เกลียด ชิงชัง และดูถูก มีอคติต่อจีน (ไม่ว่าจะเป็นจักรวรรดิจีนในอดีต หรือคอมมิวนิสต์จีน หรือพวกลี้ภัยจีน หรือกระทั่งนักท่องเที่ยวจีน) อย่างแรง โดยไม่มีเหตุผล
ในอดีต จักรวรรดิจีนที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลางโลก มองว่าชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาวฮั่นเป็น “คนเถื่อน” ที่ต้องมา “จิ้มก้อง” ให้จักรพรรดิตลอด แต่ในยุคใหม่สมัยสงครามเย็น มุมมองว่า จีนมีระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ น่าหวาดกลัวทั้งที่เป็นจีนและคอมมิวนิสต์ หลายคนคลั่งหนักถึงขั้นที่กลัวว่ารัฐบาลของประเทศตนเองจะเปลี่ยนระบบการปกครองไปเป็นแบบคอมมิวนิสต์จีน
โดยภายนอกแล้ว คนไหนที่ติดเชื้อไวรัสซิโนโฟเบียในเบื้องต้น จะไม่ค่อยปรากฏอาการให้เห็นว่ามีความผิดปรกติบางอย่างภายใน แต่จะสังเกตได้จากพฤติกรรม จากการสนทนา หรือสังเกตใกล้ชิดผู้ที่ติดเชื้อเหล่านั้น
นักจิตวิทยาบอกว่า จุดที่เห็นได้เด่นชัดสำหรับคนที่ติดเชื้อซิโนโฟเบีย จะอยู่ที่ระดับสติปัญญาในการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารลดลง หรือไม่สามารถพัฒนาขึ้นได้ การใช้เหตุผลในการขบคิดหรือโต้เถียงกันจะลดลง มีน้อย หรือมีค่าเป็นศูนย์ สิ่งที่เพิ่มขึ้นก็คืออีโก้ที่รุนแรงมาก จนกว่าจะได้รับวัคซีนหรือได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
พูดถึงตรงนี้แล้ว ทำให้คิดถึงคำพูดใครบางคนที่บอกว่า “วันใดถ้าอยากโง่ ให้เกลียดทักษิณและพวก” จริง ๆ
อาการข้างเคียงของโรคเหล่านี้ก็คือคลั่งอเมริกาและตะวันตก คลั่งชาตินิยม คลั่งเรื่องสิทธิมนุษยชน เหมือนถูกสะกดจิตให้เที่ยวโพนทะนาว่ากล่าว และลดทอนความสามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ ต่อไปก็จะมีอาการขาดสติ
ผลการวิจัยของสถาบันระดับโลกทั้งในยุโรปและอเมริกา ระบุต่อเนื่องว่า ซิโนโฟเบีย ไม่ใช่เรื่องผิดประหลาด ดำรงอยู่มายาวนานในกลุ่มคนต่าง ๆ แม้กระทั่งจีนโพ้นทะเลเอง เพียงแต่ระดับความเข้มข้นไม่เท่ากันในแต่ละสังคมเท่านั้น
เชื้อซิโนโฟเบียเข้มข้นเสมอมาในเกาหลีเหนือและใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเชีย อินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม บราซิล ชิลี และบางชาติที่ไม่น่าเกิด เช่น ไนจีเรีย ขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ที่เรียนกันมาจะเล่าเรื่องจีนอย่างไร
สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้ซิโนโฟเบีย กลับมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ดูเหมือนจีนจะพยายามโหมประโคมเสียเองว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของทฤษฎีสมคบคิดของชาติตะวันตก ที่พยายามขัดขวางแผนการเป็นเจ้าเทคโนโลยีในระยะยาว
มุมมองของจีนดังกล่าวมีส่วนอยู่บ้างเพราะระยะหลัง บริษัทจีนที่พยายามเข้าเทกโอเวอร์ หรือเข้าร่วมทุนในสัดส่วนสำคัญในบริษัทขนาดใหญ่ของยุโรปและอเมริกา ถูกสกัดกั้นจากอำนาจรัฐหรือรัฐสภาหลายประเทศ ด้วยเหตุผลที่อ้างคือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สะท้อนความหวาดระแวงจีนที่ฝังหัว ยากจะถอดถอนได้ง่าย ๆ
จีนเองก็คงต้องอดทนเพื่อเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับสังคมอื่น ๆ เพราะซิโนโฟเบียเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ยากจะหายไปได้ง่าย ๆ
คำพูดเก่าแก่ของจีนที่ว่า “มีเงินก็จ้างผีโม่แป้งได้” ใช้ไม่ได้ในหลายกรณี จากปัญหาซิโนโฟเบียที่เกิดขึ้นยามนี้