พาราสาวะถี
ฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดที่จังหวัดเลยเมื่อวันจันทร์ นี่แหละท่วงทำนองของนักการเมืองขนานแท้และดั้งเดิม การบอกว่า “ผมไม่ใช่นักการเมืองตอนนี้ ผมทำหน้าที่งานการเมืองให้ท่าน” ดูเหมือนจะดี แต่ก็หนีไม่พ้นการทวงบุญคุณ แสดงตัวเป็นผู้เสียสละ หากไม่เล่นลิ้นก็ประกาศไปว่า “ผมจะไม่สืบทอดอำนาจ” ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามให้ชัด ๆ กันไปเลย
อรชุน
ฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดที่จังหวัดเลยเมื่อวันจันทร์ นี่แหละท่วงทำนองของนักการเมืองขนานแท้และดั้งเดิม การบอกว่า “ผมไม่ใช่นักการเมืองตอนนี้ ผมทำหน้าที่งานการเมืองให้ท่าน” ดูเหมือนจะดี แต่ก็หนีไม่พ้นการทวงบุญคุณ แสดงตัวเป็นผู้เสียสละ หากไม่เล่นลิ้นก็ประกาศไปว่า “ผมจะไม่สืบทอดอำนาจ” ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามให้ชัด ๆ กันไปเลย
เมื่อเกิดการชักเข้าชักออกก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีคนจับผิด เช่น ชวลิต วิชยสุทธิ์ จากค่ายเพื่อไทย ที่ชี้ว่าท่านผู้นำพูดไม่อยู่กับร่องกับรอยวันนี้บอกว่าไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่ลืมไปกระมังว่าเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมาหรือเมื่อ 8 เดือนที่แล้ว ตัวเองพูดอะไรออกไป ถ้าจำไม่ได้ก็ย้อนไปดู “วันนี้ผมต้องเปลี่ยนแปลง เพราะผมไม่ใช่ทหาร เข้าใจไหม ผมเป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร”
ไม่เพียงเท่านั้น การไปลงพื้นที่จังหวัดเลยหนนี้ เหมือนเป็นการประกาศตัวกราย ๆ ว่าจะไปต่อและมีพรรคการเมืองที่จะสังกัดเรียบร้อยแล้ว อ่านสัญญาณได้จากการถามหา ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ซึ่งเจรจากับแกนนำกลุ่มสามมิตรไปเมื่อหลายเดือนก่อน ที่งานนี้ส่งเมียอย่างเปล่งมณีมาต้อนรับ โดยอ้างฐานะประธานกลุ่มสตรีเลย
ก่อนที่เจ้าตัวจะดอดมาพบเพื่อเลี่ยงข้อครหาให้เป็นประเด็นทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่มาถึงตรงนี้ไม่ต้องมากระมิดกระเมี้ยนกันอีกแล้ว และยิ่งตอกย้ำความชัดเจนยิ่งขึ้นว่าสามมิตรก็คือนอมินีของพลังประชารัฐและพลังประชารัฐก็คือตัวแทนของคสช. พฤติกรรมที่เคลื่อนไหวกันอย่างโจ๋งครึ่มโดยไม่มีความผิดใด ๆ มันบ่งบอกถึงความเส้นใหญ่และอธิบายการปูทางเพื่อไปสู่เป้าหมายสืบทอดอำนาจได้เป็นอย่างดี
ที่เหลือก็เป็นเพียงแค่พิธีกรรม ประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพร้อมกรรมการบริหารพรรค ตัวบุคคลแทบจะไม่ต้องเอ่ยชื่อกันบ่อย ๆ อยู่เพียงแค่ว่าจะเข้ามากันรอบนี้เลยหรือยังใช้นอมินีสวมหัวโขนแทนไปก่อน ก็ไม่รู้ว่าจะมาทำหน้าบางกันทำไม ในเมื่อเดินเกมกันมาถึงขนาดนี้ ไม่ต้องห่วงว่าจะเอาเปรียบใครหรือไม่ เพราะคำอธิบายกับการกระทำมันสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
เหมือนอย่างกรณีการคลายล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม ทำไปทำมาเต็มไปด้วยข้อคำถาม ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองส่วนใหญ่ แต่เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาให้กับพรรคที่ตัวเองหนุนหลัง โดยมีพรรคเกิดใหม่ทั้งหลายคอยเป็นลูกคู่รับอานิสงส์ หากยึดตามตัวบทกฎหมายอย่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีจำนวนไม่น้อยที่จะส่งคนลงเลือกตั้งไม่ได้
ขนาด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ต้องบอกว่าน่าจะมีปัญหากับคำสั่งของคสช.น้อยกว่าพวกแล้วในบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งหลาย ยังอดไม่ได้ที่จะออกมาฉะคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 ว่า เป็นเพียงการเปิดให้ทำงานธุรการมากกว่าเป็นคำสั่งที่จะให้มีงานการเมืองจริง ๆ ซึ่งจะมีปัญหาในหลายเรื่อง เช่น เรื่องการหาเสียงเพราะจะมีการตีความที่แตกต่างออกไป รวมถึงมีปัญหาในการทำงานอย่างการหาสมาชิก
ถูกของหัวหน้าพรรคเก่าแก่ ธรรมชาติการเมืองต้องทำกิจกรรมจึงจะหาสมาชิกได้อย่างทั่วถึง สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าผู้ออกคำสั่งไม่เข้าใจงานการเมือง เพราะการบริหารธุรการแยกจากการทำกิจกรรมการเมืองไม่ได้ และยังมีทัศนคติว่าพรรคการเมืองมีไว้เพื่อหาเสียง ทั้งที่ต้องรับฟังปัญหาประชาชนอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่รวมตัวมีอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
น่าเสียดายที่มีการตั้งเป้าปฏิรูปการเมืองแต่กลับตอกย้ำค่านิยมผิดแบบนี้ ไม่อยากให้ผู้มีอำนาจและผู้ที่เกี่ยวข้องมองข้อจำกัดเกี่ยวกับกิจกรรมการเมืองว่าเป็นการจำกัดพรรคการเมืองเท่านั้น แต่อยากให้มองว่าเป็นการจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย มุมนี้ก็สอดคล้องกับที่ จาตุรนต์ ฉายแสง ว่าไปวันก่อน ผู้มีอำนาจต้องการให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลน้อยที่สุด มีส่วนร่วมน้อยที่สุด สักแต่ว่าให้ไปหย่อนบัตรโดยไม่ต้องรู้อะไรเลย
ที่เพิ่มเติมมาในมุมของหัวหน้าพรรคเก่าแก่คือ ถ้าอยากให้การเลือกตั้งมีกิจกรรมน้อยที่สุด คนได้ประโยชน์คือคนซื้อเสียงหรือได้คะแนนเสียงโดยมิชอบ คนได้คะแนนบริสุทธิ์ต้องทำการเมืองโน้มน้าวความคิดประชาชน ยิ่งจำกัดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ยิ่งช่วยพรรคการเมืองที่ไม่คิดจะได้คะแนนเสียงด้วยวิธีที่บริสุทธิ์
คงไม่ใช่ต้องการกล่าวหาใครคนใดคนหนึ่งหรือพวกใดเป็นพิเศษ แต่เป็นการยกหลักการมองในภาพรวม ทว่าถ้ามองจากกรณีการวางกฎห้ามหาเสียงโดยเฉพาะผ่านโซเชียลมีเดีย ก็พอจะทำให้คิดกันได้ว่า ผู้มีอำนาจกลัวอะไร หรือเกรงว่าจะมีการลากไส้ขบวนการเผด็จการที่ผ่านมา ซึ่งหากยึดมั่นในความบริสุทธิ์ใจ ก็ไม่เห็นมีอะไรจะต้องกังวล ในเมื่อทุกอย่างชี้แจงและอธิบายได้
การออกคำสั่งในลักษณะนี้ไม่น่าจะใช่เหตุผลไม่เข้าใจบริบทการเมือง เพราะเนติบริกรทั้งหลายย่อมอ่านเกมการเมืองได้ทะลุปรุโปร่ง แต่ไม่เพียงแค่สร้างความลำบากใจให้กับพรรคการเมืองเท่านั้น แม้แต่กกต.ในฐานะผู้ที่จะต้องดูแลการเลือกตั้งและควบคุมความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองยังออกอาการมึนกับข้อห้ามดังว่า
คำถามแรกที่เจอ จะหาสมาชิกสามารถประกาศนโยบายเพื่อเชิญชวนได้หรือไม่ และการประกาศนโยบายนั้นจะถือเป็นการหาเสียงหรือเป็นเพียงการชักชวน ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีการประสานจากคสช.ว่าจะให้กกต.ออกหลักเกณฑ์ลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์ หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามที่มีการระบุในคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ออกมาแต่อย่างใด
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ ชูศักดิ์ ศิรินิล จากค่ายเพื่อไทยจะตั้งข้อสงสัยและคงจะเหมือนกับนักการเมืองอีกจำนวนไม่น้อย คำสั่งเรื่องนี้จะสร้างความสับสนและเปิดโอกาสให้มีการเลือกปฏิบัติทำนองเดียวกับการห้ามชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากคำว่าหาเสียงมีความหมายกว้างมาก ไม่มีการให้ความหมายใด ๆ ไว้ คำสั่งเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินสมควร เกินกว่าเหตุแล้ว ดูเหมือนเป็นการทำตามอำเภอใจด้วย ซึ่งนี่แหละคือคุณสมบัติอันโดดเด่นของคณะเผด็จการชุดนี้