พาราสาวะถี

หากถอดคำพูดระหว่างบรรทัดในการแถลงข่าวหลังประชุมครม.เมื่อวันอังคารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำให้เราเห็นเหตุผลที่จะใช้อธิบายเมื่อยามที่จะกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกกระทอก รวมทั้งความพยายามในการที่จะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด โดยอ้างถึงเรื่องของแผนการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ


อรชุน

หากถอดคำพูดระหว่างบรรทัดในการแถลงข่าวหลังประชุมครม.เมื่อวันอังคารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำให้เราเห็นเหตุผลที่จะใช้อธิบายเมื่อยามที่จะกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกกระทอก รวมทั้งความพยายามในการที่จะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด โดยอ้างถึงเรื่องของแผนการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ

นอกเหนือความสบายใจที่ได้ประกาศว่าสนใจการเมืองแล้ว เมื่อนักข่าวถามเรื่องการสืบทอดอำนาจ แม้จะไม่ตอบโดยตรง แต่การที่ผู้นำเผด็จการอ้างเรื่องการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ ในทำนองที่ว่าตนสนใจในเรื่องที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมตรงนี้ จะเข้าไปได้อย่างไร จะมาด้วยกลไกอะไร ต้องดูให้ละเอียดทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบทั้งหมด

นั่นหมายความว่า เขาจะกลับมาแน่โดยยกเอาสิ่งที่องคาพยพด้านกฎหมายของตัวเองยกร่างขึ้นมาทั้งหมดเป็นเหตุผลประกอบและยืนยันความถูกต้องชอบธรรม ซึ่งชวนให้เกิดคำถามว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายต่อต้านจะไม่ลุกฮือหรืออย่างไร ต้องไม่ลืมกันว่าระหว่างทางของโรดแมปเลือกตั้งจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่นั้น ท่านผู้นำยังมีอำนาจวิเศษมาตรา 44 อยู่ สามารถที่จะงัดมาใช้เล่นงานและจัดการได้ทุกเรื่อง

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของคำว่าไม่กลัวแรงเสียดทานใด ๆ แม้จะอ้างว่าทนมาได้กว่า 4 ปีและได้ปรับเปลี่ยนตัวเองไปมากพอสมควร นุ่มนวลและเยือกเย็นขึ้น แต่นั่นเป็นเพียงเป้าหลอก เพราะเป้าจริงฟังสิ่งที่ผู้นำเผด็จการอธิบายประกอบการจะสืบทอดอำนาจ การปฏิรูปให้ได้ การเดินตามยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปการเมืองให้มีธรรมาภิบาล ไม่สามารถสร้างขึ้นง่าย ๆ ภายใน 1-2 วันหรือ 1-2 ปี จำเป็นต้องใช้เวลาอย่างต่อเนื่อง

เงื่อนไขความต่อเนื่องดังว่านี้เอง เป็นสิ่งที่ไปอธิบายความตั้งใจจะนั่งอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด ตราบใดที่ไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองหรือมีแผลให้ถูกเล่นงาน ก็จะอ้างเรื่องความสงบเรียบร้อยและขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองให้ร่วมด้วยช่วยกัน พอยกเอาพวกต้นทุนต่ำอย่างนักการเมืองและพรรคการเมืองมาพูด คนจำนวนไม่น้อยก็สนับสนุนแนวคิดของผู้นำเผด็จการแล้ว

อย่างที่บอก เผด็จการยุคใหม่ได้มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มองกันทั้งระบบเพื่อไม่ให้เสียของและไม่ให้ใครลุกขึ้นมาต่อต้านได้ ไม่ใช่ว่าจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน แต่พวกที่มีพลังในการชี้นำสังคมหรือมีต้นทุนสูงต่างพากันเมินเฉยและปล่อยปละละเลยให้เผด็จการใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ โดยไม่แยแสว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับสังคมไทย ด้วยเหตุผลสำคัญคือเกลียดระบอบทักษิณ

ฟังสิ่งที่ วิษณุ เครืองาม พยายามอธิบายถึงความชอบธรรมในการเล่นการเมืองต่อของผู้นำเผด็จการ รวมไปถึงการสงวนท่าทีเรื่องที่จะกลับมารับตำแหน่งใหม่หากคนชื่อประยุทธ์ได้กลับมาเป็นผู้นำรัฐบาล ก็พอจะทำให้เห็นแล้วว่า ทิศทางหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นแนวโน้มจะเป็นอย่างไร มาถึงวันนี้คณะเผด็จการต่างมั่นใจสุดขีดว่าจะกลับมาอย่างสง่างามและไร้แรงต่อต้านใด ๆ

คงไม่ต้องถือเป็นบทเรียนของประเทศไทย แต่ให้ช่วยกันมองว่าชะตากรรมของบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป สิ่งที่คณะเผด็จการคสช.คาดหวังไว้จากนี้คือ ปัญหาปากท้องของประชาชนจะดีขึ้น โดยวัดผลจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่โพนทะนากันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หากเป็นไปตามฝันเหมือนการติดปีกให้เผด็จการได้นั่งในอำนาจต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ขณะที่เรื่องของกฎ กติกา มารยาททางการเมืองนั้นไม่ต้องไปสนใจ หากคิดเช่นนั้นคณะเผด็จการคงไม่นำพาตัวเองเข้ามาบริหารประเทศจนถึงทุกวันนี้ พร้อมกับการวางเครือข่ายเพื่อการสืบทอดอำนาจไว้อย่างแน่นหนา มิหนำซ้ำ ยังได้พวกเสือหิวเข้ามาช่วยอุ้มสมให้เดินไปบนถนนสายการเมืองได้อย่างมั่นคงไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีใดก็ตาม จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องไปเกรงอกเกรงใจใคร

สิ่งที่คนอย่าง วีระ สมความคิด ออกมาตั้งข้อสังเกต บิ๊กตู่เล่นการเมืองมาตั้ง 5 ปีแล้วไม่ใช่เพิ่งมาสนใจ แต่เล่นแบบเอาเปรียบคนอื่นใช้ปืนแย่งยึดอำนาจเข้ามา จะเล่นการเมืองต่อหรือสืบทอดอำนาจก็เอาเปรียบคนอื่น ๆ เขาอีก โดยยังจะถือปืนเข้ามาเล่นไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคสช. ใครจะทำอะไรได้ในเมื่อท่องคำว่ากฎหมายล้างสมองให้คนเชื่อและคล้อยตามมาตลอดระยะเวลาแห่งการอยู่ในอำนาจ

เมื่อทุกอย่างชัดเจนกันถึงขนาดนี้ คงไม่ต้องไปถามถึงความพร้อมของพรรคคสช.อย่างพลังประชารัฐ การประชุมใหญ่ในวันที่ 29 กันยายนนี้ เป็นเพียงพิธีกรรมทำให้ถูกต้องตามกระบวนการเท่านั้น พร้อมแสดงพลานุภาพของพรรคให้เป็นที่ประจักษ์กับทุกฝ่าย โดยเมื่อได้ยลโฉมพรรคของผู้เป็นเผด็จการแล้ว โจทย์ใหญ่ก็จะไปตกอยู่ที่สองพรรคการเมืองใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์จะต่อสู้กันอย่างไร

จะว่าไปแล้วความจริงน่าจะเหลือแต่เพื่อไทยที่เป็นฝ่ายต่อสู้กับพรรคของเผด็จการอย่างเต็มที่ เพราะพรรคเก่าแก่พิจารณาจากปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกท้าทายจาก วรงค์ เดชกิจวิกรม และ อลงกรณ์ พลบุตร โดยที่ทั้งคู่นั้นก็เห็นกันอยู่แล้วว่าหลังฉากน่าจะมีใครเป็นผู้สนับสนุน

ดังนั้น สิ่งที่ วัชระ เพชรทอง บอกว่าพรรคกำลังจะถูกยึดจึงไม่ใช่การพูดลอย ๆ เพื่อปกป้องอภิสิทธิ์เท่านั้น หากแต่ย่อมมีปัจจัยที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีขบวนการเพื่อทำให้พรรคเก่าแก่ไม่ได้แสดงตัวแปลกแยกไปจากเผด็จการที่ตัวเองมีส่วนในการโบกมือดักกวักมือเรียกให้มายึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงคลางแคลงใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันคือความขัดแย้งกันจริงหรือแค่ละครฉากหนึ่งที่เล่นกันสมจริงเพื่อให้คนเชื่อว่าพรรคการเมืองนี้ไม่ได้มีอะไรข้องแวะกับพวกที่จะสืบทอดอำนาจ

ยิ่งพิจารณาคำขู่ของท่านผู้นำที่มีต่ออภิสิทธิ์หลังออกมาวิพากษ์วิจารณ์คณะเผด็จการอย่างเผ็ดร้อนว่า อย่าเปลี่ยนแปลงท่าทีหลังเลือกตั้งก็แล้วกัน มันยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงข้อตกลงบางอย่างที่เกิดขึ้นทั้งก่อน ระหว่างและหลังการรัฐประหาร ยิ่งมีการมองกันว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะมีคู่แข่งขันแค่สองฝ่ายคือฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านคณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจ หากพรรคเก่าแก่ยังแทงกั๊กไม่ประกาศให้ชัดว่าเลือกฝั่งไหน คนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าต้องสังฆกรรมกับอำนาจเผด็จการอย่างแน่นอน

Back to top button