รู้จักหุ้น ‘โอสถสภา’

เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักกลุ่มโอสถสภา (OSP)


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักกลุ่มโอสถสภา (OSP)

โอสถสภาเป็นผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค ทั้งเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนบุคคล บริหารผลิตสินค้า และการจำหน่ายสินค้า

สินค้าที่เป็น Flagship หรือ เรือธงและคนทั่วไปรู้จักกันดี นั่นคือ เครื่องดื่มเอ็ม-150

จากข้อมูลในงบการเงิน

เอ็ม-150 สามารถสร้างรายได้ให้กับโอสถสภาคิดเป็น 50-55% ของรายได้รวมทั้งหมด

ปัจจุบัน เอ็ม-150 มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ประมาณ 57-60% รองลงมา คือ คาราบาวแดง (หุ้น CBG) จำนวน 21% อันดับ 3 กระทิงแดง 16% และอื่น ๆ อีก 4-5%

ส่วนมูลค่าตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังอยู่ที่ประมาณ 3.6-4.0 หมื่นล้านบาท

โอสถสภายังมีสินค้า เช่น ลิโพวิตัน-ดีเป็นอีกแบรนด์สินค้าที่ได้รับความนิยมรองจาก เอ็ม-150 ส่วนสินค่าเครื่องดื่มอื่น ๆ เช่น เอ็ม-สตอร์ม”, “เครื่องดื่มฉลาม”, “โสมอิน-ซัม”, “เอ็มเกลือแร่หรือชื่อเดิมคือ เอ็ม-สปอร์ต

และยังมีกาแฟพร้อมดื่ม เอ็ม-เพรสโซและเครื่องดื่มชาร์ค เครื่องดื่มสูตรพิเศษสำหรับตลาดในเมียนมา

สำหรับแบรนด์เครื่องดื่มที่เหลือ เช่น เครื่องดื่มซี-วิต, เครื่องดื่มเปปทีน, เครื่องดื่มคาลพิส และเครื่องดื่มคาวาอิ ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดในปี 2560

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ตราสินค้า เบบี้มายด์และ ทเวลฟ์พลัส

ดูจากแบรนด์สินค้าต่าง ๆ แล้ว ผู้บริโภคต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี

โอสถสภา เตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มานานแล้ว มีบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

แล้วในด้านของบุคลากรล่ะ

ประเด็นนี้โอสถสภาก็ปรับโครงสร้างรองรับมานานแล้วเช่นกัน

เช่น การดึงคุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และอดีตผู้บริหารของยูนิลีเวอร์ เข้ามาเป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร

เท่านั้นยังไม่พอ

ยังได้ดึงคุณวรรณิกา ภักดีบุตร อดีตผู้บริหารระดับสูงของยูนิลีเวอร์ เข้ามาเป็น กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559

โอสถสภา อยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มตระกูล “โอสถานุเคราะห์”

และเมื่อพูดถึงโอสถานุเคราะห์ หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อ หรือรู้จักกับ “เพชร โอสถานุเคราะห์”

แต่หากคนในวงการตลาดทุนนอกเหนือจากคุณเพชรแล้ว ก็จะรู้จักชื่อของ “นิติ โอสถานุเคราะห์” เศรษฐีหุ้นอันดับ 5 ของประเทศไทย (2.89 หมื่นล้านบาท) และกำลังก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 1 ของไทย หลังโอสถสภาเข้าตลาดหุ้น

นิติ มีหุ้นในโอสถสภา จำนวน 624,250,000 หุ้น คิดเป็น 25% (ภายหลังขายหุ้นไอพีโอจะเหลือ 16.28%)

ส่วน เพชร มีหุ้น 149,735,700 ล้านหุ้น คิดเป็น 6.00% (ภายหลังขายไอพีโอจะเหลือ 149,735,700 หุ้น คิดเป็น 4.98%)

นิติ ถือเป็น ฟันเฟืองสำคัญของกลุ่มโอสถสภา แต่เขามีบุคลิกที่โลว์โปรไฟล์

มาถึงขั้นตอนการขายหุ้น และตัวเลขสำคัญทางการเงินของโอสถสภากันบ้าง

โอสถสภา จะขายหุ้นไอพีโอจำนวน 603.7 ล้านหุ้น แบ่งเป็นนักลงทุนในประเทศ 65% และต่างประเทศ 35%

โดยนักลงทุนในประเทศ ก็จะแบ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่าย 24.2%, นักลงทุนสถาบัน 34.5%, ผู้มีอุปการคุณของบริษัท 3.0% พนักงานของบริษัท 2.7% และอื่น ๆ อีกเล็กน้อย

ราคาที่เสนอขายยังไม่ได้กำหนด แต่วางช่วงราคาไว้ 22.00–25.00 บาท

ดังนั้น มูลค่าการเสนอขายจะอยู่ระหว่าง 1.32–1.50 หมื่นล้านบาท

เงินที่ได้จากการระดมทุน ส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนเปิดโรงงานในประเทศเมียนมา รวมถึงปรับปรุงระบบการผลิตสินค้าในโรงงานต่าง ๆ ชำระคืนเงินกู้บางส่วน และที่เหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียน

Book Value อยู่ที่ 1.72 บาทต่อหุ้น

อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ P/E Ratio ระหว่าง 25.97–29.51 เท่า โดยหนี้สินส่วนใหญ่จะอยู่กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ส่วน P/E Ratio ของบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันมีค่าเฉลี่ย 31.21 เท่า

อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ D/E อยู่ที่ 2.5 เท่า ขณะที่กำไรสุทธิ 6 เดือนแรก 1,471 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 1,795 ล้านบาท

หุ้นโอสถสภา ถือว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนพอสมควร

เหตุผลหลัก ๆ ก็มาจากทุกคนต่างรู้จักแบรนด์สินค้าที่เป็นเรือธงของโอสถสภา

นั่นคือ เครื่องดื่มเอ็ม-150 นั่นเอง

Back to top button