คนดี(และเก่ง)หายาก
หมดเวลาไปแล้ว สำหรับการรับสมัครบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่กำหนดมาตั้งแต่วันที่ 3–21 กันยายน 2561 ปรากฏว่า มีคนสนใจยื่นใบสมัครที่เข้าข่ายเพียงแค่ 1 คน ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกต้องเข้าที่ประชุมใหม่ เนื่องจากผิดเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
หมดเวลาไปแล้ว สำหรับการรับสมัครบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่กำหนดมาตั้งแต่วันที่ 3–21 กันยายน 2561 ปรากฏว่า มีคนสนใจยื่นใบสมัครที่เข้าข่ายเพียงแค่ 1 คน ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกต้องเข้าที่ประชุมใหม่ เนื่องจากผิดเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้
ตามเงื่อนไขทั่วไป ระบุว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต.จะพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. 2 รายชื่อ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้รัฐมนตรีคลังตัดเหลือชื่อเดียว เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อไป
เมื่อมีคนสมัครมาแค่คนเดียว ทางเลือกคือ เสนอชื่อคนเดียวเข้าไปเลย หรือไม่ก็ยกเลิก เพื่อรับสมัครใหม่ รอ “คนดีศรีอยุธยา” ที่สนใจเข้ามาสมัคร
ประเด็นคำถามตอนนี้คือ ทำไมจึงไม่มีคนสนใจเก้าอี้เลขาธิการ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐพิเศษที่กำกับดูแลตลาดทุนในฐานะ “regulator” ของตลาดทุนเป็นขาขึ้นระดับนำขบวนของอาเซียน ที่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อีกมากมาย
จะบอกว่าเก้าอี้เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.เป็น “เก้าอี้ร้อน” คงไม่ใช่ เพราะอดีตที่ผ่านมา ถ้าไม่นับนายเอกมล คีรีวัตน์ อดีตเลขาธิการคนแรกที่ต้องออกจากตำแหน่งกลางคันแล้ว เก้าอี้นี้ค่อนข้างปลอดภัยมาก “เกินระดับปกติ” เสียด้วยซ้ำ
ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่แสวงกำไร แต่ที่ผ่านมา งบแสดงฐานะทางการเงินของหน่วยงานนี้ มีรายรับมากกว่ารายจ่าย มีเงินส่วนเกิน (หากไม่เรียกว่ากำไร) ส่งกระทรวงการคลังปีละ 800-1,000 ล้านบาทมาโดยตลอด จากการเก็บค่าธรรมเนียม และค่าปรับในการกำกับดูแลตลาดทุน การที่มีคนสนใจมาสมัครเป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานนี้น้อยมาก หรือแทบจะไม่มี ถือเป็นความไม่ปกติอย่างยิ่งพอสมควร
หากพิจารณาเงื่อนไขการรับสมัคร ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า
– ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดทั้ง 7 ข้อ ในคำประกาศข้อที่ 2 ที่กำหนดไว้เดิมตั้งแต่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับแก้ไขใหม่ 2551 ที่ระบุว่า
2.1 มีสัญชาติไทย
2.2 มีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
2.3 เป็นผู้สามารถปฏิบัติงานเต็มเวลาให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต.
2.4 ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
2.5 ไม่เป็นข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งได้รับเลือกตั้ง หรือเป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
2.6 ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐอื่นหรือของราชการส่วนท้องถิ่น
2.7 ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในบริษัทหลักทรัพย์
ในกรณีที่ผู้สมัครไม่มีคุณสมบัติตาม 2.3 หรือมีลักษณะต้องห้ามตาม 2.5 ถึง 2.7 ต้องมี
คำรับรองว่า หากได้รับการเสนอชื่อให้แต่งตั้งเป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. จะต้องลาออกจากงานเพื่อให้มีคุณสมบัติตาม 2.3 รวมทั้งลาออกจากการเป็นบุคคลตาม 2.5 ถึง 2.7 ก่อนที่การแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.จะมีผล โดยผู้สมัครต้องลงนามในคำรับรองตามแบบแสดงข้อมูลของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการสำนักงาน
– ผู้สมัครควรมีคุณสมบัติเสริมที่มีผลสำคัญอื่น กำหนดในข้อ 3 เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น
3.1 การมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการองค์กรในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) กรณีเป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารส่วนราชการ ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองของผู้บริหารสูงสุดของส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่ามาไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินหรือตลาดทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ
(ข) กรณีเป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองของผู้บริหารสูงสุดหรือผู้บริหารระดับสูง
ที่รายงานตรงต่อผู้บริหารสูงสุดมาไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินหรือตลาดทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ
(ค) กรณีเป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในองค์กรภาคเอกชน ต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินหรือตลาดทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และดำรงตำแหน่งกรรมการ หรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองของผู้บริหารสูงสุดหรือผู้บริหารระดับสูงที่รายงานตรงต่อผู้บริหารสูงสุด มาไม่น้อยกว่า 1 ปี ของบริษัทจดทะเบียน หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินหรือตลาดทุน โดยองค์กรนั้นจะต้องมีขนาดสินทรัพย์ของตนเอง มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท หรือมีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารหรือเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า มากกว่า 1 แสนล้านบาท
3.2 การเป็นบุคคลที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศ 2 ฉบับ ของคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท และประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
– ข้อกำหนดตามกฎหมายเพิ่มเติมหลังหมดวาระ เป็นไปตามหลัก incomplete clause ที่ระบุไว้ใน มาตรา 22/1 ที่ระบุว่า “…ภายในสองปีนับแต่พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการจะประกอบอาชีพ หรือทำงานให้แก่ผู้ประกอบการ องค์กร หรือบริษัท หรือดำรงตำแหน่งที่กำหนดไว้ในมาตรา 16/2 วรรคหนึ่ง มิได้”
ธุรกิจ “ต้องเว้นวรรค” ประกอบด้วย ธุรกิจหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สานักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมการกำกับผู้ประกอบธุรกิจ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือบริษัทอื่นใดซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน
ข้อกำหนดสุดท้ายนี้แหละ มีคนเอาไปเอ่ยอ้างในวงสนทนาปากเปล่าที่แพร่สะพัดว่า การบังคับให้เว้นวรรค 2 ปี คือ ยอมตกงาน 2 ปี เป็นการกีดกันให้คนที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการต่อไป ต้องมีคุณสมบัติ “กินน้ำต่างข้าว” (คำเสียดสีว่า มีอุดมการณ์เลอเลิศ) หรือคุณสมบัติแบบ “ชายกลางแห่งบ้านทรายทอง” (ฐานะทางบ้านร่ำรวยจนไม่ต้องการเพิ่มอีกแล้ว) เลยทีเดียว
คำเล่าลือที่เกินจริงนี้ พาดพิงไปถึง “แพะ” อย่างนาย สมชาย พงศ์พัฒนะศิลป์ ผู้ช่วยเลขาฯ ก.ล.ต. ที่อดีตเป็นนักกฎหมายมาก่อนว่าเป็นคนแก้เกณฑ์ให้ขาดความยืดหยุ่น ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วผิดอย่างสิ้นเชิง
กติกาที่ให้อดีตเลขาฯ ก.ล.ต.เว้นวรรค 2 ปี มาจากพฤติกรรมของ “ประสาร เอฟเฟกต์” ที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล “คนดีศรีสยาม” ที่เมื่อออกจากตำแหน่งก็กระโดดข้ามฟากไปนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทยแทบจะทันทีอย่างอื้อฉาวในอดีต
แล้วกติกานี้ก็เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่สมัยนายวรพล โสคติยานุรักษ์ มานั่งเป็นเลขาฯ ก.ล.ต. เมื่อเกือบ 8 ปีก่อน เพราะก่อนหน้านั้นนายวรพลนั่งเป็นกรรมการที่บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชันแนล จำกัด (มหาชน) อยู่แล้ว
ในขณะที่นายสมชาย เพิ่งเข้ามานั่งทำงานใน ก.ล.ต.เมื่อปี 2559 นี้เอง จึงไม่ได้เกี่ยวข้องหรือแก้ไขข้อกำหนดเรื่องนี้
เพียงแค่การกำหนด “คุณสมบัติปกติ” ก็ทำให้มีคนเข็ดขยาดที่จะเป็น “คนดีศรีอยุธยา” เสียแล้ว ทิศทางในอนาคตของ ก.ล.ต.ที่ยังต้องผลักดันให้ตลาดทุนไทยรุกคืบหน้าไปอีกยาวไกล จะคดเคี้ยวขนาดไหน ยากจะคาดเดาพอสมควร