พาราสาวะถี

สีข้างถลอกปอกเปิกกันไปหมดแล้ว สำหรับคนในรัฐบาลคณะเผด็จการจากกรณีดาหน้าพากันออกมากางปีกปกป้อง 4 รัฐมนตรีที่ไปนั่งกุมบังเหียนพรรคพลังประชารัฐ มีทั้งการอ้างข้อกฎหมายสารพัด แต่อาการหนักสุดคือ ทุกเรื่องโยนคำถามย้อนกลับนักข่าวว่า แล้วรัฐบาลในอดีตเคยทำกันมาหรือไม่ ไม่มีใครเถียงว่าล้วนแล้วแต่ทำมากันทั้งนั้น


อรชุน

สีข้างถลอกปอกเปิกกันไปหมดแล้ว สำหรับคนในรัฐบาลคณะเผด็จการจากกรณีดาหน้าพากันออกมากางปีกปกป้อง 4 รัฐมนตรีที่ไปนั่งกุมบังเหียนพรรคพลังประชารัฐ มีทั้งการอ้างข้อกฎหมายสารพัด แต่อาการหนักสุดคือ ทุกเรื่องโยนคำถามย้อนกลับนักข่าวว่า แล้วรัฐบาลในอดีตเคยทำกันมาหรือไม่ ไม่มีใครเถียงว่าล้วนแล้วแต่ทำมากันทั้งนั้น

จะไม่ตั้งคำถามกลับไปในทำนองที่ว่า แล้วที่มาของรัฐบาลกับเผด็จการกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งมันต่างกันหรือไม่ แต่หยิบเอาหัวใจหลักของคณะรัฐประหารคนดีที่อ้างมาตลอดคือ ทุกอย่างต้องเกิดการปฏิรูป โดยเฉพาะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ย้ำทุกเวที อย่าเลือกแบบเดิมแล้วจะได้แบบเดิมและทุกอย่างก็จะกลับไปเหมือนเดิม

เป็นคนพูดเองแล้วลืมเองได้อย่างไร หรือว่าถึงบทที่ตัวเองจะเดินย่ำรอยเท้านักการเมืองชั่วนักการเมืองเลว จะไปหาเหตุอื่นมาอธิบายจะทำให้เสียเครดิต ก็เลยอ้างเอาหน้าตาเฉยคนพวกนั้นเคยทำไว้แล้ว ทำไมข้าจะทำบ้างไม่ได้ แค่เท่านี้มันก็ย้อนแย้งกันแล้ว และเป็นการย้อนแย้งในแง่ของมาตรฐานที่รัฐบาลเผด็จการพยายามพูดอยู่ตลอดเวลาว่าทุกอย่างต้องไม่เหมือนเดิมและต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง

กรณี 4 รัฐมนตรีเป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจน ทั้งในแง่ของธรรมาภิบาล มารยาททางการเมือง ที่ควรจะมีสูงกว่านักการเมืองชั่วนักการเมืองเลว ควรที่จะต้องทำให้เป็นบรรทัดฐาน สร้างตัวอย่างเพื่อที่ต่อไปรัฐบาลสามานย์ที่มาจากการเลือกตั้งตามความเชื่อของคนดี จะได้มีหลักเกณฑ์ว่า ถึงคราเลือกตั้งครั้งใด ใครที่มีตำแหน่งในพรรคการเมือง ก็ไม่ควรที่หน้าทนนั่งในเก้าอี้เสนาบดีให้คนเขาครหาอีกต่อไป

ในเมื่อมีโอกาสแต่กลับไม่สร้าง เอาแต่มุ่งที่จะใช้ต้นทุนต่ำหรือความเกลียดชังนักการเมืองมาเป็นบันไดสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง จนลืมไปว่าตัวเองประกาศให้คำมั่นสัญญาไว้อย่างไร และควรจะเดินอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอยพวกที่ถูกสร้างภาพให้คนจงเกลียดจงชัง ความจริงก็พอจะเข้าใจกันได้ตั้งแต่เกิดการเดินสายโชว์พลังดูดนักการเมืองเข้าร่วมก๊วนกันแล้ว

แนวคิด วิธีการ ไม่มีอะไรสร้างความเชื่อมั่นให้คนส่วนใหญ่ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงแม้แต่น้อย อย่างไรก็ตาม หากใช้ความรู้สึกวัดหรือใช้ความเห็นในการอธิบายเพียงอย่างเดียวมันจะถูกสวนกลับว่าเป็นเพราะมีอคติ ดังนั้น พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงยกเอาเหตุผลในข้อกฎหมายในมุมในเชิงวิชาการมาอธิบายได้อย่างเห็นภาพ

ในแง่ที่อ้างกันว่าข้อกฎหมายไม่ได้ห้ามว่าคนเป็นรัฐมนตรีจะเป็นผู้บริหารพรรคการเมืองไม่ได้ และไม่ได้บอกว่าต้องให้ลาออกจากตำแหน่งด้วยนั้น ต้องไม่ลืมว่าในฐานะรัฐมนตรี ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่รัฐธรรมนูญได้มีการวางกรอบหลักการพื้นฐานในการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ผ่านมาตรา 164 (3) ซึ่งหาได้เป็นข้อยกเว้นในบทเฉพาะกาลที่รัฐมนตรีจะหลีกเลี่ยงไม่พึงต้องกระทำได้

กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รัฐมนตรีจำต้องปฏิบัติตามหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี หรือ good governance ที่มีเรื่องความโปร่งใสและการตรวจสอบได้เป็นองค์ประกอบย่อย โดยหลักการนี้มีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมกำกับการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่า ตนจะมิได้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ อันเป็นการสอดคล้องกับหลักกฎหมายมหาชนทั่วไปด้วย

ยังมิพักที่จะกล่าวการเทียบเคียงกับมาตรา 169 ให้เห็นถึงเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่พยายามควบคุมมิให้รัฐมนตรี ที่โดยธรรมชาติอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่อาจหมิ่นเหม่ต่อการใช้อำนาจตนเองไปในการก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนตนในด้านการเลือกตั้งได้ แต่ประเด็นธรรมาภิบาลนั้นท่านผู้นำเผด็จการยืนยันด้วยท่าทีขึงขัง รัฐบาลในอดีตเคยมีหรืออย่างไร ต่อไปอย่าเอาคำถามแบบนี้มาถามอีก เป็นอันจบข่าว

อย่างไรก็ตาม พรสันต์ชี้ให้เห็นอีกว่าถ้าไม่คำนึงถึงธรรมาภิบาล ก็จำต้องคำนึงถึงการปฏิรูปการเมือง อันที่จริงถือเป็นวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่มีการกำหนดไว้ค่อนข้างชัดเจนในมาตรา 258 เรื่องการปฏิรูปการเมือง ที่ต้องให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยโปร่งใสตรวจสอบได้ ประกอบกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ประกาศแผนการปฏิรูปดังกล่าว

ในรายละเอียดที่มีการเน้นถึงแนวคิดการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ในฐานะคุณธรรมและจริยธรรมที่นักการเมืองพึงยึดถือเป็นสรณะ ดังนั้น การกระทำใด ๆ ที่เป็นการบั่นทอน หรือก่อให้เกิดความสงสัยต่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ก็ไม่น่าจะสอดคล้องกับเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่มุ่งปฏิรูปการเมืองข้างต้น อันอาจส่งผลต่อความขัดแย้งในทางการเมืองได้

ประการต่อมาคือ แนวคิดการขัดกันของผลประโยชน์หรือ conflict of interest แนวคิดนี้เป็นแนวคิดพื้นฐานทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การมีบทบัญญัติต่าง ๆ มากมายในรัฐธรรมนูญทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นบทบัญญัติว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะ(การกระทำ)ต้องห้ามต่าง ๆ บทบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ ฯลฯ

โดยแนวคิดนี้เรียกร้องมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางรัฐธรรมนูญ(กรณีนี้คือฝ่ายบริหาร)มีลักษณะของการกระทำเพื่อให้ได้มา หรือก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยอย่างมีนัยสำคัญต่อการกระทำใด ๆ ว่าอาจได้มาซึ่งผลประโยชน์ ผ่านการกำหนดนโยบายในฐานะของฝ่ายบริหาร ทั้งหมดนี้ก็เพื่อกำกับมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญใช้อำนาจโดยไร้ขอบเขตอันเป็นการอันตรายต่อระบอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดขึ้นภายใต้หลักการแบ่งแยกอำนาจ และรักษาไว้ซึ่งเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกผ่านสัญญาประชาคมอย่างรัฐธรรมนูญ

นี่คือการสร้างธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมือง หากท่านยืนยันว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับ 4 รัฐมนตรี ไม่มีบทบัญญัติทางด้านรัฐธรรมนูญกล่าวถึงไว้ ในทางหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ต้องเข้าใจด้วยว่า การกระทำ หรือการปฏิบัติของเหล่าบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในห้วงเวลาใดห้วงเวลาหนึ่ง โดยธรรมชาติแล้วเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ทางการเมืองขึ้น โดยในทางหลักการเรียกว่าธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญอันจะมีผลไม่มากก็น้อยต่อผู้ดำรงตำแหน่งหรือนักการเมืองในวันข้างหน้าในการที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ถ้ายึดอย่างที่อาจารย์พรสันต์ว่า ประสาชาวบ้านเขาบอกต้องถามหาสำเหนียกของคนเหล่านั้นนั่นแหละ

Back to top button