CFRESH จะฟื้นตัว?

มีการวิเคราะห์กันว่าแนวโน้มการดำเนินงานครึ่งหลังปี 2561 ของ CFRESH คาดว่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยการดำเนินงานในไทยจะได้ผลบวกจากการมีสต๊อกวัตถุดิบราคาถูก ขณะที่ราคาขายเริ่มฟื้นตัว


คุณค่าบริษัท

มีการวิเคราะห์กันว่าแนวโน้มการดำเนินงานครึ่งหลังปี 2561 ของ บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ CFRESH คาดว่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยการดำเนินงานในไทยจะได้ผลบวกจากการมีสต๊อกวัตถุดิบราคาถูก ขณะที่ราคาขายเริ่มฟื้นตัว หลังผู้เลี้ยงรายใหญ่อย่างอินเดียลดกำลังการเลี้ยงลง ส่งผลให้ราคาขายเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทจะได้ประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าว อีกทั้งจะเข้าสู่ฤดูขายในครึ่งปีหลัง

ส่วนการดำเนินงานในต่างประเทศยังเติบโตได้จากกำลังซื้อที่แข็งแกร่ง รวมถึงบริษัทมีการขยายสินค้าสู่กลุ่มอาหารทะเลอื่น ๆ เพิ่มนอกจากกุ้ง ทำให้ยังมีอัตราเติบโตที่ดี

โดยทางนักวิเคราะห์ประมาณการยอดขายปีนี้ที่ 8,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของการดำเนินงานในต่างประเทศ ขณะที่ในไทยคาดยอดขายลดลง และคาดว่าแนวโน้ม margin จะอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากผลของเงินบาทแข็งค่าและราคาวัตถุดิบลดลงในครึ่งปีแรก ส่วนค่าใช้จ่ายลดลง 1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการยุติการดำเนินงานของเบลิสทำให้รับรู้ขาดทุนลดลง

ดังนั้นนักวิเคราะห์ประมาณกำไรสุทธิในปีนี้ 140 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขาดทุน 8 ล้านบาท

ขณะที่การดำเนินงานในครึ่งปีแรกยอดขายในต่างประเทศคิดเป็น 60% ของยอดขายและคาดว่ายอดขายยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ทั้งจากสินค้าเดิมในกลุ่มกุ้ง รวมถึงมีการเพิ่มสินค้าอาหารทะเลอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งจากการเติบโตของยอดขายทำให้บริษัทได้ซื้อโรงงานแห่งใหม่ด้วยเงินลงทุนราว 150 ล้านบาท เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ส่วนฟาร์มของเบลิสปัจจุบันหยุดดำเนินการไปแล้ว และอยู่ระหว่างรอขายให้กับบุคคลภายนอก ซึ่งช่วยลดการรับรู้ผลขาดทุนให้ลดลง

ส่วนการดำเนินงานในไทยนั้นโรงงานแปรรูปกุ้งยังสามารถรองรับคำสั่งซื้อได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แต่บริษัทจะเน้นการขยายพื้นที่เลี้ยงกุ้งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 300 ไร่ และให้ผลผลิตเพียง 500 ตัน ล่าสุดบริษัทได้ซื้อที่ดินเพิ่ม 1,000 ไร่ คาดจะเริ่มผลิตได้ปีหน้าเป็นต้นไป โดยผู้บริหารตั้งเป้าจะมีผลผลิตกุ้งจากฟาร์มของตนเองที่ราว 5,000-10,000 ตัน โดยฟาร์มของบริษัทผ่านมาตรฐาน (ASC) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของอาหารทะเลได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค ทำให้บริษัทสามารถขายในตลาดพรีเมียมมากกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม

แม้การดำเนินงานของบริษัทจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบและค่าเงินบาท แต่คาดว่าการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และจะเห็นการฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี ทั้งจากการดำเนินงานในไทยและต่างประเทศ อีกทั้งเงินบาทที่อ่อนค่ากว่าในครึ่งปีแรกเป็นอีกปัจจัยหนุนการดำเนินงาน ณ ราคาปัจจุบัน

ทางนักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป ยังแนะนำ “ทยอยซื้อ” ประเมินราคาพื้นฐานปี 2562 ที่ 4.84 บาท

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. นายณฤทธิ์ เจียอาภา 107,803,000 หุ้น 23.26%
  2. นางทัศนีย์ ยังมีวิทยา 106,200,000 หุ้น 22.91%
  3. นายชินทัต เจียอาภา 67,053,500 หุ้น 14.47%
  4. น.ส.ชาญเกตุ เจียอาภา 25,466,200 หุ้น 5.49%
  5. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 21,189,550 หุ้น 4.57%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายณฤทธิ์ เจียอาภา ประธานกรรมการ, กรรมการผู้จัดการ
  2. นายณรงค์ฤทธิ์ เจียรวงศ์วาณิช กรรมการ
  3. นางทัศนีย์ ยังมีวิทยา กรรมการ
  4. นางสุพรรณี ปุณศรี กรรมการ
  5. นายชินทัต เจียอาภา กรรมการ

Back to top button