จุดคืนแวต…เจ้าปัญหา.!

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาทันที เมื่อกรมสรรพากร ประกาศผลให้บริษัท เคาน์เตอร์ เซอร์วิส จำกัด บริษัทในกลุ่ม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL (เซเว่น อีเลฟเว่น) เป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่ผ่านคุณสมบัติการคัดเลือกตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต ให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง


สำนักข่าวรัชดา

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาทันที เมื่อกรมสรรพากร ประกาศผลให้บริษัท เคาน์เตอร์ เซอร์วิส จำกัด บริษัทในกลุ่ม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL (เซเว่น อีเลฟเว่น) เป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่ผ่านคุณสมบัติการคัดเลือกตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต ให้แก่นักท่องเที่ยวในเมือง

ขณะที่อีก 2 ราย และหนึ่งในนั้นเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ากลับไม่ผ่านคุณสมบัติซะงั้น..???

ต้องบอกว่า การตัดสินใจเลือกเคาน์เตอร์ เซอร์วิส ของกรมสรรพากร ในครั้งนี้ ดูแปลกเอามาก ๆ มีอย่างที่ไหน ให้ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งขายของยิบย่อย พวกขนมขบเคี้ยว สบู่ ผงซักฟอก น้ำปลา ฯลฯ ทำหน้าที่คืนภาษีแก่นักท่องเที่ยว

จะว่าไปแล้ว คงไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหน ซื้อของกินของใช้ในร้านสะดวกซื้อเกิน 2,000 บาทหรอกนะ (หลักเกณฑ์ต้องซื้อสินค้าไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อทริป จึงจะขอคืนภาษีได้) อย่างมากคงซื้อน้ำขวดในเซเว่นฯ และขนมขบเคี้ยวอีกนิดหน่อย คิดเป็นเงินก็น่าจะตกราว ๆ ไม่กี่ร้อยบาท

การที่จะให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อสินค้าจากในห้าง แล้ววิ่งหาเซเว่นฯ เพื่อมาขอคืนภาษีแวต นอกจากไม่สะดวกแล้ว ยังกลายเป็นภาระ จึไม่มีประเทศไหนเค้าทำกัน..!!?

ในต่างประเทศที่มีการคืนภาษีแวตแก่นักท่องเที่ยว เค้ายึดหลักที่ว่าต้องอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว เพื่อนำเงินที่ได้จากการคืนภาษีกลับมาซื้อสินค้าอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน  จึงกำหนดจุดคืนภาษีกันในห้างสรรพสินค้า หรือในศูนย์การค้าทั้งนั้น ยังไม่เคยเห็นประเทศไหนกำหนดให้ร้านสะดวกซื้อเป็นจุดคืนภาษีแก่นักท่องเที่ยวเหมือนอย่างบ้านเราเลย แต่ขึ้นชื่อว่าประเทศไทยแล้ว อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ จริงมั้ย..!!!

ยิ่งเมื่อได้ฟังคำชี้แจงของกรมสรรพากร ที่อ้างว่า บริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ไม่ผ่านเกณฑ์ เพราะเสนอจุดคืนภาษีมา 5 จุด เกินกว่าที่เงื่อนไขกำหนดไว้ว่าเสนอได้ไม่เกิน 3 จุด น่าจะไม่ใช่สาระสำคัญ

เพราะหากพิจารณาที่ตั้งทั้ง 5 จุด ได้แก่ ห้างเซน ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ห้างเซ็นทรัล ชิดลม, ดิเอ็มโพเรียม, โรบินสัน สุขุมวิท และสยามพารากอน จะพบว่าเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมาช็อปปิ้งกัน ต่างจากที่ตั้งทั้ง 3 จุดของเคาน์เตอร์ เซอร์วิส ที่จะเปิดให้บริการ ได้แก่ ร้านเซเว่นฯ-ลิโด้, ร้านเซเว่นฯ-แบ็งคอกไนท์ บาซาร์ และร้านเซเว่นฯ-ผดุงด้าว (เยาวราช) ซึ่งส่วนใหญ่เน้นรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนเท่านั้น

ที่สำคัญห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าใน 5 จุดนั้น ได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) ตามที่กรมสรรพากรกำหนด และมีระบบในการออกใบ ภ.พ.10 อยู่แล้ว จึงสามารถออกใบ ภ.พ.10 ได้ดีกว่าร้านค้าสะดวกซื้อที่ไม่ได้เข้าอยู่ในระบบการออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว ประกอบกับร้านสะดวกซื้อมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ลองคิดภาพตามว่าหากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมายืนต่อคิวเข้าแถวเพื่อรอคืนภาษี คงดูไม่จืดทีเดียว

และแม้กรมสรรพากรจะยืนยันว่า นี่เป็นเพียงโครงการทดลองในแซนด์บ็อกซ์มีระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561-31 มีนาคม 2562 เท่านั้น แต่จะดีกว่ามั้ย..???

หากเลือกจุดทดลองที่เหมาะสม สามารถตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของโครงการได้อย่างแท้จริง

นี่ก็ได้ยินข่าวมาว่า กลุ่มบริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จะยื่นอุทธรณ์ต่อกรมสรรพากรเพื่อขอให้พิจารณาใหม่ ซึ่งมีเวลายื่นอุทธรณ์ 15 วันนับจากได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการและกรมจะใช้เวลาพิจารณาอุทธรณ์ 30 วัน ถ้ายังสรุปไม่ได้กรมต้องเสนอเรื่องไปยังกระทรวงการคลังให้พิจารณา ซึ่งจะใช้เวลา 90 วัน ถึงจะรู้ผลอุทธรณ์

หากต้องใช้เวลาพิจารณาถึง 90 วันจริง นั่นหมายถึงกินเวลาไปแล้ว 3 เดือน จะเหลือเวลาดำเนินการแค่ 3 เดือนเท่านั้น เท่ากับว่าการทดลองดำเนินโครงการนี้น่าจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร

ขณะนี้จึงมีเสียงเม้าท์กันให้แซดว่า การที่กรมสรรพากรตัดสินใจให้ร้านเซเว่นฯ ทำหน้าที่คืนภาษีแวต แก่นักท่องเที่ยว อาจเป็นเพราะโดนใบสั่งมา บ้างก็ว่ากรมสรรพากรไม่ได้จริงจัง ที่จะมีโครงการดาวน์ทาวน์แวตรีฟันด์ฟอร์ทัวร์ริสต์สักเท่าใด เพราะโครงการนี้อาจทำให้กรมต้องสูญเสียรายได้ไปไม่น้อย แต่ในเมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาล ก็ยากที่จะขัด จึงต้องอยู่ในภาวะจำยอมกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ก็ไม่รู้สินะ..หรือจะจริงอย่างที่เค้าเม้าท์กัน ???

Back to top button