“ศรีสวัสดิ์”…ชนะตลอด
พูดถึงผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ มีอยู่ 3 ค่ายหลักคือบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ของกลุ่มธนาคารกรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ BAY, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD และบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC น่าสนใจว่าค่ายไหนมีดีกว่ากัน..!?
สำนักข่าวรัชดา
พูดถึงผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ มีอยู่ 3 ค่ายหลักคือบริษัท เงินติดล้อ จำกัด ของกลุ่มธนาคารกรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ BAY, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD และบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC น่าสนใจว่าค่ายไหนมีดีกว่ากัน..!?
สำหรับ “เงินติดล้อ” ตั้งแต่อยู่ภายใต้ชายคา BAY และตัดคำว่า “ศรีสวัสดิ์” ทิ้งไป ทำให้แบรนด์มีภาพชัดเจนขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด หากดูงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี พบว่า เติบโตเฉลี่ยปีละ 30% ในปี 2558 มีรายได้อยู่ที่ 3,731 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 632 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้อยู่ที่ 4,537 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 869 ล้านบาท และปี 2560 มีรายได้อยู่ที่ 5,801 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,247 ล้านบาท
ด้าน SAWAD หลังบุกเบิกสร้างแบรนด์ขึ้นมาใหม่ สามารถกลับมายืนในตลาดได้อย่างแข็งแกร่ง รายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 30% โดยปี 2558 มีรายได้อยู่ที่ 3,776 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,336 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้อยู่ที่ 5,335 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,004 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้อยู่ที่ 6,998 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,666 ล้านบาท
ขณะที่ MTC ตัวเลขการเติบโตไม่ธรรมดาการเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 40-50% ปี 2558 มีรายได้อยู่ที่ 2,558 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 825 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้อยู่ที่ 4,472 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,464 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้อยู่ที่ 7,470 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,500 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ค่ายมีอัตราการเติบโตที่ดีต่อเนื่องทุกปี นั่นชี้ให้เห็นว่า มีกลุ่มคนอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินจากสถาบันการเงิน จึงหันมาใช้บริการทางการเงินจากกลุ่มนอนแบงก์แทน ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจนี้มีการเติบโตทุกปี
หากมาพิจารณาอัตรากำไรสุทธิแต่ละค่าย พบว่า “เงินติดล้อ” มีอัตรากำไรสุทธิน้อยกว่า SAWAD และ MTC โดยปี 2558 อยู่ที่ 16.94% ปี 2559 อยู่ที่ 19.17% ปี 2560 อยู่ที่ 21.50% ด้าน SAWAD ปี 2558 มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 35.38% ปี 2559 อยู่ที่ 37.57% และปี 2560 อยู่ที่ 38.10% ขณะที่ MTC ปี 2558 มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 32.24% ปี 2559 อยู่ที่ 32.74% ปี 2560 อยู่ที่ 33.47%
อาจเป็นเพราะ “เงินติดล้อ” มีต้นทุนทางการตลาดสูงกว่า SAWAD และ MTC เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา “เงินติดล้อ” อยู่ในยุคช่วงเปลี่ยนผ่าน แม้จะมีต้นทุนทางการเงินสำหรับปล่อยสินเชื่อไม่สูงนัก (เพราะเป็นบริษัทลูกของ BAY) แต่ต้องทุ่มเม็ดเงินทำการตลาดค่อนข้างมาก เพื่อตอกย้ำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่อนข้างสูง
ต่างจาก SAWAD มีต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่ไม่สูง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากบริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT (เป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกัน) ขณะที่ MTC แม้ไม่ได้อยู่ภายใต้สถาบันการเงิน แต่อาศัยอันดับเครดิตที่ดีในการออกหุ้นกู้ ทำให้ MTC มีต้นทุนทางการเงินที่ไม่สูงเช่นกัน
แต่ด้วยเงื่อนไขการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเริ่มต้นปีหน้า เป็นแรงกดดันกลุ่มธุรกิจนี้ไม่น้อย ทว่าสำหรับ “เงินติดล้อ” ที่เพิ่งได้กองทุน Capital Partners Asia Fund IV (CVC) และกลุ่ม CP เข้ามาถือหุ้น คาดว่าจะทำให้ได้ Know-how ใหม่ ๆ มาเสริมสถานะบริษัท น่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ขณะที่ SAWAD ก็ไม่น่าห่วง เพราะก่อนหน้านี้ เพิ่งได้พันธมิตรอย่างกลุ่มคาเธ่ย์ ไฟแนนเชียล โฮลดิ้ง จากไต้หวันมาเสริมแกร่งธุรกิจเช่นกัน
ส่วน MTC ไม่ได้อยู่ภายใต้สถาบันการเงินรายใด อาจดูสุ่มเสี่ยงที่จะเสียเปรียบ SAWAD และ เงินติดล้อ แต่จุดแข็ง MTC คือมีอันดับเครดิตที่ดี จึงทำให้ต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ถือว่าใกล้เคียงกับคู่แข่งทั้ง 2 ค่าย เงื่อนไขสำคัญของ MTC คืออันดับเครดิตต้องดี เพื่อการันตีว่า “ต้นทุนทางการเงิน” สู้กับรายอื่นได้..!?
…อิ อิ อิ…