สัปดาห์หุ้นธนาคาร
สัปดาห์นี้ ทิศทางตลาดหุ้นไทยจะถูกชี้ขาดโดยงบการเงินไตรมาสสามของบรรดาหุ้นกลุ่มธนาคาร
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
สัปดาห์นี้ ทิศทางตลาดหุ้นไทยจะถูกชี้ขาดโดยงบการเงินไตรมาสสามของบรรดาหุ้นกลุ่มธนาคาร
แม้ข้อเท็จจริงจากปัจจัยนอกตลาด เช่นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่มีแนวโน้มบานปลายลุกลามไปจนมีท่าว่าจะกลายเป็นสงครามค่าเงินด้วย จะไม่ใช่ข่าวดีที่รบกวนขาขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยแล้วสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาภาคบังคับที่ธนาคารจะต้องถูกกำหนดให้ต้องรายงงานงบการเงินรายไตรมาสให้แล้วเสร็จ จะมีความสำคัญต่อทิศทางของดัชนีอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมาร์เก็ตแค็ปหุ้นกลุ่มนี้ กินสัดส่วนมากถึงประมาณ 30% ของตลาด
ศุกร์ที่ผ่านมา กลุ่มการเงินที่มีธนาคารเป็นหลักคือ TISCO ยังคงช่วงชิงจังหวะประกาศงบก่อนรายอื่น ๆ ดูเผิน ๆ น่าจะไปได้สวย เพราะกำไรสุทธิออกมาดีที่ 1.8 พันล้านบาท เพิ่มจากระยะเดียวกันปีก่อน 15.4% และเพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้า 6.2% ใกล้เคียงกับที่ตลาดและนักวิเคราะห์คาด แต่ที่น่าสนใจคือราคาหุ้นถูกขายทิ้ง ไม่ใช่เพราะรายการ “ขายเมื่อมีข่าวจริง” แต่ขายเพราะความผิดหวัง
ที่ผิดหวังเพราะกำไรจากการดำเนินงานปกติลดลง แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะยังเติบโต แต่การที่ขณะที่ NPL ratio ทรงตัวที่ 2.7% และจำต้องตั้งสำรองกันหนี้สูญเพิ่มขึ้น แต่กลับปรากฏตัวเลขกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนในหุ้น 229 ล้านบาท และบันทึกกำไรพิเศษจากการขายธุรกิจบัตรเครดิตจากธนาคารซิตี้แบงก์ 211 ล้านบาท
มุมมองของนักลงทุนในหุ้นธนาคารนั้นละเอียดรอบคอบมากกว่าปกติ เพราะถือว่าเมื่อความสามารถจากการทำกำไรปกติลดลง สะท้อนถึงการดำเนินงานที่ท้าทายมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารขนาดกลางและเล็กที่ไม่มีช่องทางมากมายเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่
ประเด็นคำถามคือ TISCO ที่เคยมีผลการดำเนินงานโดดเด่นเหนือกลุ่มมาตลอดยังแสดงอาการซวนเซ ต้องพึ่งพารายได้และกำไรพิเศษมาทำให้มีกำไรสวยงาม แล้วธนาคารพาณิชย์อื่นที่ตกอยู่ใน “สถานการณ์สู้รบ” จากการต้องปรับเปลี่ยนหลายด้าน เช่น การรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น หนี้เน่าของลูกค้า การควบคุมคุณภาพสินเชื่อผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ และภาวะย่ำแย่ของลูค้า SME
ปัจจุบันการพิจารณาอนาคตของผลประกอบการหุ้นธนาคารพาณิชย์นั้น ดูจากการเติบโตของรายได้และกำไรสุทธิ ที่เคยเป็นสมการชั้นเดียวมายาวนาน ไม่เพียงพอเสียแล้ว นักลงทุนที่สนใจหรือนิยมถือหุ้นธนาคาร ต้องพิจารณาจุดเด่นด้อยของหุ้นธนาคารร่วมสมัย โดยอาศัยตัวแปรหลายด้านประกอบกัน ในลักษณะสมการหลายชั้น ได้แก่
– ผลประกอบการในรูปรายได้และกำไรสุทธิ (โดยเฉพาะต้องดูอัตรากำไรสุทธิประกอบด้วย)
– สุขภาพทางการเงินของลูกค้า อันได้แก่ผู้ประกอบการในภาคการผลิตและบริการทั้งหลาย ที่เชื่อมโยงเข้ากับตัวเลขกำลังซื้อของผู้บ้ริโภค ที่ส่งผลเป็นห่วงโซ่ของลูกค้าธนาคาร เพราะสะท้อนความสามารถของการชำระหนี้ของลูกค้าธนาคาร
– แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคาร ในการรับมือกับปัญหาของลูกค้าที่มีปัญหาทางการเงินในแต่ละช่วงเวลา
– ราคาหุ้นของธนาคารในปัจจุบัน เทียบกับพื้นฐานของหุ้นกลุ่มอื่นในตลาด หรืออุตสาหกรรมเดียวกันทั่วโลก
4 ปีที่ผ่านมา ประเด็นว่าด้วยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ได้รับการพูดถึงมากจากนักวิเคราะห์ เพราะในปัจจุบัน กฎที่เข้มงวดของบาเซิล 3 ทำให้ธนาคารถูกบังคับต้องตั้งสำรองในกรณีมีหนี้สงสัยจะสูญ (หรือพูดให้ไพเราะคือ สินเชื่อจัดชั้น หรือสินเชื่อด้อยคุณภาพ) ว่าด้วยอัตราส่วนสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือ coverage ratio per NPL ซึ่งกำหนดไว้เบื้องต้นว่ายิ่งมากยิ่งดี คือ ควรจะมากกว่า 150% หากต่ำกว่านี้ จะรบกวนความสามารถทำกำไรไปอีกหลายไตรมาสข้างหน้า
ล่าสุด นับตั้งแต่ต้นปีหน้านี้ไป ระบบบันทึกบัญชีใหม่ IFRS หรือ IFRS 9 (แม้ในทางนิตินัยจะยังไม่บังคับใช้เป็นทางการ แต่ในทางพฤตินัยจะมีผลจริงจังไปแล้ว) เพราะเชื่อมโยงเข้ากับการตั้งสำรองของธนาคารเพื่อกันความเสี่ยงหนี้สูญ ธนาคารไหนไม่ทำจะถูกตั้งคำถามเรื่องความเสี่ยงมากกว่าปกติ
การตั้งสำรองส่วนนี้ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการรบกวนความสามารถทำกำไรของธนาคารค่อนข้างมาก ทำให้ธุรกิจธนาคารมีอัตรากำไรสุทธิต่ำมาโดยตลอดเมื่อเทียบกับธุรกิจการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร
หลายไตรมาสที่ผ่านมา (และคาดว่าจะเกิดขึ้นในครึ่งแรกของปีนี้) ตัวเลข NPL ของธนาคารพาณิชย์ไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต จนทำให้เริ่มมีคำถามย้อนกลับมาว่า ยุคสมัยของการถดถอยของธนาคารกำลังหวนย้อนมา (หลังจากที่ฟื้นกลับมาแข็งแกร่งปลอดจากการขาดทุนเมื่อปี 2554 เป็นต้นมา เป็นเวลานานเกินกว่า 5 ปี)
ต้นปีนี้ การเพิ่มทุนครั้งที่สองในรอบ 2 ปีของ CIMBT จากการที่ขาดแคลนส่วนทุนเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ NPL ทำให้ความกังวลเรื่องนี้เข้มข้นขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้เลย
ในไตรมาสสอง ธนาคารขนาดกลางอย่าง TMB ถูกนักวิเคราะห์เกือบทุกสำนัก ออกคำชี้แนะปรับลดราคาเป้าหมายของราคาหุ้นระนาว เพราะเหตุการตั้งสำรองแบบลับลมคมใน ที่มีผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 4,306 ล้านบาท ลดลง 3% จากปีก่อนหน้านั้น ด้วยข้ออ้างที่ทะแม่งของผู้บริหารว่า เป็นการตั้งเพื่อคงอัตราส่วนสำรองฯ ต่อ NPL ที่ 140% เน้นความรอบคอบในการดูแลคุณภาพสินทรัพย์และยังคงสามารถควบคุมสัดส่วนหนี้เสียในระดับต่ำที่ 2.37% คำถามว่า มีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลซุกซ่อนอยู่ จนต้องเร่งตั้งสำรองทั้งที่คุยโตว่าสามารถควบคุม NPL ให้อยู่ในกรอบต่ำได้ดีเหมือนเดิม ตามมา
เช่นเดียวกัน กำไรที่ลดลงครึ่งแรกของปีเกือบ 20% ของธนาคารที่เคยมีกำไรอันดับหนึ่งยาวนานอย่าง SCB แม้ในไตรมาสสองจะอ้างว่า กำไรที่ลดลงมาจากสาเหตุการลงทุนในด้านไอทีของโครงการ SCB Transformation ผ่านแพลตฟอร์ม SCB Easy และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมที่ลดลงจากการทำโปรโมชั่นยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล รวมไปถึงรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย รวมไปถึงการทำการตลาดในการสนับสนุนการขยายฐานลูกค้าดิจิทัลด้วย
กำไรที่ลดลงมากมาย ทำให้ SCB ตกเป็นเหยื่อของข่าวลือจากการทำธุรกรรมที่คลุมเครือหลายรูปแบบนอกเหนือจากการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ในฐานะเจ้าหนี้เหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไปในอดีต แต่ยังทำหน้าที่เสมือนหนึ่งที่ปรึกษาการเงินและดีลเมกเกอร์แบบที่วาณิชธนกิจกระทำด้วยกับบรรดาลูกหนี้รายใหญ่ที่มีพฤตกรรมทางธุรกิจฉาวโฉ่ เช่น กลุ่ม JAS โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของกลุ่มวินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง หรือชื่อใหม่ KPN เอนเนอร์ยี่ จำกัด และ ฯลฯ จนบางครั้งจำต้องออกมาชี้แจงกรณีการปล่อยสินเชื่อ
หากไม่มีอะไรเป็นพิเศษ คาดว่าภายในวันศุกร์นี้ หุ้นธนาคารน่าจะประกาศงบไตรมาสสามได้ครบถ้วน (อาจจะมียกเว้น KTB ที่มักจะล่าช้า แต่คงไม่เกินเช้าวันจันทร์หน้า) ซึ่งจะทำให้นักลงทุนรู้ตัวดีว่า ควรมีท่าทีอย่างไรกับช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้
พ้นจากสัปดาห์นี้ไป ความชัดเจนน่าจะเห็นได้ง่ายขึ้น