OSP หุ้น 5 แผ่นดิน สำเพ็งถึงตลาดหลักทรัพย์
หุ้นบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP จากบริษัทเก่าแก่ 127 ปี มาเป็นหุ้นน้องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกตั้งคำถามว่า ทำไมจึงปล่อยมาถึงทายาทรุ่น 4 “เพชร โอสถานุเคราะห์” ถึงคิดนำ OSP เข้าตลาดหุ้น..!? แต่ที่แน่ ๆ ตำนาน “หุ้น 5 แผ่นดิน” จึงเป็นเสน่ห์ที่นักลงทุนมิอาจปฏิเสธได้
สำนักข่าวรัชดา
หุ้นบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP จากบริษัทเก่าแก่ 127 ปี มาเป็นหุ้นน้องใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกตั้งคำถามว่า ทำไมจึงปล่อยมาถึงทายาทรุ่น 4 “เพชร โอสถานุเคราะห์” ถึงคิดนำ OSP เข้าตลาดหุ้น..!? แต่ที่แน่ ๆ ตำนาน “หุ้น 5 แผ่นดิน” จึงเป็นเสน่ห์ที่นักลงทุนมิอาจปฏิเสธได้
จุดเริ่มต้นของบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เกิดขึ้นเมื่อปี 2434 จากร้านขายของเบ็ดเตล็ดย่านสำเพ็ง ชื่อ “เต็กเฮงหยู” ของ “แป๊ะ แซ่ลิ้ม” ที่นำสูตรยาจีนโบราณชื่อว่า “ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน” มีสรรพคุณบรรเทาโรคปวดท้องต่าง ๆ และทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อใช้ในการซ้อมรบของกิจการเสือป่า จ.นครปฐม จากคุณสมบัติของยาใช้ได้ผลดี ทำให้ปี 2456 “แป๊ะ แซ่ลิ้ม” ได้รับพระราชทานนามสกุล “โอสถานุเคราะห์” จากประสิทธิผลของยากฤษณากลั่น..นั่นเอง
ธุรกิจถูกส่งต่อถึงทายาทรุ่น 2 “สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์” ลูกชายคนที่ 3 (ของ “แป๊ะ แซ่ลิ้ม”) จากจำนวนพี่น้อง 6 คน มีพัฒนาการทั้งการย้ายร้านขายยามาตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง การเปลี่ยนชื่อร้านใหม่และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด จากการนำเอาความรู้เชิง “วิทยาศาสตร์” กับ “สมุนไพรต้นตำรับโบราณ” เข้าด้วยกัน อาทิ ยาธาตุ, ยาแก้ไอ, ยาอมวัน-วัน, ยาอมโบตัน และยาทัมใจ
มาถึงทายาทรุ่นที่ 3 นั่นคือ “สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์” ลูกชายคนที่ 3 (ของ “สวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์”) ในจำนวนพี่น้อง 6 คน รุ่นนี้เองที่แจ้งเกิด “ธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง (Energy Drink )” เริ่มจากการนำ “ลิโพวิตัน-ดี” จากบริษัท ไทโช่ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาด จนสร้างกระแสเครื่องดื่มชูกำลัง จนประสบความสำเร็จ ทำให้ต้องทำคลอดแบรนด์ M-150 และอื่น ๆ พร้อมการนำสินค้าไปบุกตลาดต่างประเทศ
ต่อมาทายาทรุ่นที่ 4 ที่มี “รัตน์ โอสถานุเคราะห์” บุตรชายคนที่ 2 (ของ “สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์”) เข้ามานั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร เมื่อปี 2551 หลังเข้ามาช่วยงานตั้งแต่ปี 2538 แล้ว ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการสายการเงิน ควบคู่กับการบริหารการเงินมหาวิทยาลัยกรุงเทพ พร้อมส่งไม้ต่อให้พี่ชายคือ “เพชร โอสถานุเคราะห์” เข้ามาบริหารธุรกิจอย่างจริงจัง พร้อมแปรสภาพบริษัท โอสถสภา จำกัด เป็นบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และทายาทรุ่นที่ 5 คือผู้ถือหุ้น OSP นั่นเอง
ความท้าทายของ OSP คือการดึงศักยภาพของ Port Folio อันเป็นจุดแข็งบริษัท โดยเฉพาะสินค้า Energy Drink อาทิ เอ็ม-150, เอ็ม-สตอร์ม, ลิโพวิตัน-ดี, ลิโพ-พลัส, ฉลาม, โสมอิน-ซัม, เอ็มเกลือแร่ ที่เป็นเรือธงที่มีสัดส่วนรายได้ 77% จาก 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล ธุรกิจบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน และธุรกิจอื่น ๆ
การเติบโต OSP จึงต้องบาลานซ์พอร์ตและเสริมสร้างแบรนด์เดิมให้แข็งแรง ถือเป็นการ “กำจัดจุดอ่อน” พร้อมสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อไม่ต้องเสี่ยงกับการพึ่งพาธุรกิจใดเพียงธุรกิจเดียว..!
การนำหุ้น OSP เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือการดึงมืออาชีพ “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” อดีตผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์และผู้บริหารกลุ่มยูนิลีเวอร์ “วรรณิภา ภักดีบุตร” อดีตรองประธานกรรมการบริหารด้านการตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลบริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด พร้อมทีมผู้บริหารกลุ่มยูนิลีเวอร์เข้ามา จะช่วยทำให้ OSP ตอบโจทย์การสร้างมูลค่าเพิ่มในจัดการพอร์ตการลงทุนและปลุกปั้นแบรนด์ต่าง ๆ ขึ้นได้
เท่านั้นยังไม่พอ..!! สำหรับ OSP กับการสร้างเติบโตยั่งยืน..การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ จึงเป็นไฟต์บังคับ..!? ด้วยเหตุว่า “ประเทศไทยเล็กเกินไปแล้ว” เริ่มจากการสร้างแบรนด์ในกลุ่มประเทศ CLMV ไม่ว่าจะเป็น เมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว
คำตอบสุดท้ายคือ “การเพิ่มประสิทธิภาพและอัตรากำไร” ทั้งการบริหารต้นทุน การลดต้นทุนวัตถุดิบ วัสดุบรรจุภัณฑ์ ลดค่าใช้จ่ายจากเครือข่ายโลจิสติกส์ จะเป็นตัวบ่งบอกตัวเลขงบการเงินบรรทัดสุดท้ายได้ว่า หุ้น OSP มีเสน่ห์เพียงพอกับการลงทุนหรือไม่..!?
แน่นอน OSP ไม่ใช่หุ้นวิเศษดั่งเพลงของ “เพชร โอสถานุเคราะห์” แต่เป็นหุ้นที่คุ้มค่ากับการลงทุนระยาว แฉกเช่นอายุบริษัทที่ “ผ่านมาร้อน ผ่านหนาว” มาถึง 5 แผ่นดิน..นั่นเอง..!?
…อิ อิ อิ…