จุดจบปิโตรดอลลาร์ หรือปาหี่ระดับโลก
ท่าทีขึงขังเอาเป็นเอาตายระหว่างสหรัฐฯ กับราชวงศ์ซาอูด ของซาอุดีอาระเบีย ด้วยเหตุเป็น “ศึกแห่งศักดิ์ศรี” ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง จะบานปลายถึงขั้นไหน มีเฉพาะโดนัลด์ ทรัมป์และพวก กับผู้นำซาอุดีอาระเบียเท่านั้นที่รู้
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ท่าทีขึงขังเอาเป็นเอาตายระหว่างสหรัฐฯ กับราชวงศ์ซาอูด ของซาอุดีอาระเบีย ด้วยเหตุเป็น “ศึกแห่งศักดิ์ศรี” ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง จะบานปลายถึงขั้นไหน มีเฉพาะโดนัลด์ ทรัมป์และพวก กับผู้นำซาอุดีอาระเบียเท่านั้นที่รู้
คำถามว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องจริง หรือว่าปาหี่ระดับโลก เพื่อสร้างราคาน้ำมันให้สูงขึ้นไปเรื่อย ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ดังนั้นคำถามที่ตามมาว่า หากบานปลายไปมีความเป็นไปได้อย่างไรและแค่ไหนที่ซาอุดีอาระเบียหรือโอเปกจะยกเลิกการใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลกลางในการซื้อขายน้ำมันดิบทั่วโลก จึงค่อนข้างห่างไกล
เพียงแต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าจะมีความเป็นไปได้ต่ำเท่ากับ 0
กรณีการหายตัวไปอย่างลึกลับของนายจามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบีย หลังเข้าไปติดต่อธุระที่สถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบูล เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา อาจจะเป็นเรื่องปกติของพลเมืองประเทศที่มีระบบการปกครองที่แปลกกว่าชาติอื่น ๆ ทั่วโลก
มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลซาอุฯ อยู่เบื้องหลังการสังหารนายคาช็อกกี ซึ่งได้หายสาบสูญหลังเข้าไปติดต่อขอรับเอกสารเตรียมแต่งงานกับคู่หมั้นชาวตุรกี ในสถานกงสุลซาอุฯ ประจำอิสตันบูลเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม แต่ไม่เคยมีใครเห็นเขาออกมาจากสถานกงสุลอีกเลย โดยนักข่าวรายนี้มักวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย และเขาได้หนีไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศเมื่อปีที่แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนจับกุม
ไม่มีใครรู้ว่านายคาช็อกกี มีความสำคัญต่อสหรัฐฯ มากน้อยแค่ไหน เพราะท่าทีของรัฐบาลอเมริกันต่อเรื่องนี้ ทำให้คนตั้งคำถามว่านายคาช็อกกี ทำงานให้ซีไอเอ หรือต้องการแสดงท่าทีปกป้องพนักงานลูกจ้างบริษัทสำนักข่าวอเมริกันกันแน่ แต่การที่โดนัลด์ ทรัมป์ขู่ลงโทษอย่างรุนแรง ไม่ธรรมดาแน่นอน
ด้านซาอุดีอาระเบียก็แรงไม่แพ้กัน ประกาศว่าพร้อมตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยมาตรการที่รุนแรงกว่า พร้อมย้ำเตือนว่า ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจน้ำมันนั้น มีบทบาทสำคัญและทรงประสิทธิภาพในเศรษฐกิจโลก
ในระยะเฉพาะหน้า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความต้องการน้ำมันดิบที่ลดลงได้กดดันราคาน้ำมันไม่ให้พุ่งแรงไปมากกว่านี้ในการซื้อขาย แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า ไม่เฉพาะเรื่องการผลิตน้ำมันเท่านั้นจะเป็นอาวุธสำคัญของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย นั่นคือสิ่งที่เรียกกันว่า ปิโตรดอลลาร์
ประเด็นนี้ เป็นจุดอ่อนสำคัญที่ต้องจดจำกันไว้ให้ดี เพราะนับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ผู้นำสหรัฐฯ ทุกยุคแสดงความหวาดกลัวอย่างยิ่งเกี่ยวกับดอลลาร์ ไม่ใช่เรื่องค่าดอลลาร์อ่อนหรือแข็ง แต่อยู่ที่ว่าโลกจะเมินเฉยต่อบทบาทของดอลลาร์สหรัฐเมื่อใด หลังจากมีฐานะครอบงำเหนือโลกมาเกือบ 70 ปีแล้ว
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา กุญแจสำคัญที่ชี้ชะตาดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ตลาดน้ำมันโลกใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวการในการซื้อขาย จนทำให้ค่าดอลลาร์มีมูลค่าในตลาดโลกเกินกว่าค่าจริงมากกว่า 30% มาโดยตลอด
รากเหง้าและเบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของค่าดอลลาร์ เริ่มต้นจากการถือกำเนิดของปิโตรดอลลาร์ หรือดอลลาร์ในตลาดน้ำมันและพลังงานของโลก
คำว่าปิโตรดอลลาร์ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตน้ำมันครั้งแรก ค.ศ. 1973 หรือ พ.ศ. 2516 ซึ่งมีผลทำให้กระบวนทัศน์ของมนุษย์ในเรื่องพลังงานได้เปลี่ยนไปอย่างที่ไม่หวนกลับคืนได้อีก
ช่วงเวลาดังกล่าว พวกชาติในตะวันออกกลาง ได้แสดงความไม่พอใจต่อการที่สหรัฐฯ สนับสนุนให้อิสราเอลทำสงครามกับชาติอาหรับ ด้วยการใช้กลุ่มชาติส่งออกน้ำมัน หรือโอเปก รวมตัวกันขึ้นราคาน้ำมัน เป็นวิกฤตน้ำมัน
ระหว่างที่ชาวโลกกำลังสาละวนกับการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำมันซึ่งนำไปสู่เงินเฟ้ออย่างมหาศาล ตัวแทนรัฐบาลและกลุ่มทุนอเมริกัน กลับคิดค้นนวัตกรรมใหม่จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ด้วยการเจรจาลับกับรัฐบาลราชวงศ์ซาอูด ของประเทศซาอุดีอาระเบียเรียกกันว่าข้อตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจ U.S.-Saudi Arabian Joint Economic Commission โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า อเมริกาจะให้ความร่วมมือช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันและทางทหาร เพื่อปกป้องราชวงศ์ซาอูดให้อยู่ในอำนาจไปยาวนาน (หลังจากที่อังกฤษถอนตัวจากตะวันออกกลางและซาอุดีอาระเบีย) แลกกับการที่ซาอุดีอาระเบียจะยอมขายน้ำมันให้กับสหรัฐฯ หรือบริษัทอเมริกัน หรือชาติอื่น ๆ ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น ซาอุดีอาระเบียยังมีข้อตกลงเพิ่มเติมอีกว่า ในฐานะที่เป็นแกนกลางของกลุ่มโอเปก ซาอุดีอาระเบียจะโน้มน้าวให้ชาติสมาชิกโอเปกยินยอมขายน้ำมันสู่ตลาดโลกโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางซื้อขาย และซาอุฯ จะนำเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่ล้นเกินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งเป็นผลดีทั้ง 2 ฝั่ง คือ ซาอุฯ ไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ และอเมริกาสามารถก่อหนี้ได้เต็มที่ และรักษาดุลชำระเงินให้เป็นบวกตลอดเวลา (แม้ว่าจะมีภาวะ 3 ขาดดุล ประกอบด้วย ดุลการค้า ดุลบัญชีเงินสะพัด และดุลบัญชีงบประมาณ ในบางช่วง) ผ่านการซื้อพันธบัตร ตราสารหนี้บริษัทอเมริกัน หุ้น รวมทั้ง กิจการ ธนาคาร สถาบันการเงินและอสังหาริมทรัพย์
การที่กลุ่มโอเปกให้การซื้อขายน้ำมันในรูปดอลลาร์สหรัฐอย่างเดียว มีผลทำให้มาตรฐานราคาน้ำมันโลก เป็นมาตรฐานดอลลาร์โดยปริยาย
ผลลัพธ์คือ ไม่ว่าโอเปกที่ยิ่งใหญ่คับฟ้าแค่ไหนจากพลังของน้ำมันและปิโตรดอลลาร์ แต่เบื้องหลังของความยิ่งใหญ่นั้นได้ซ่อนความอ่อนแอในลักษณะทาสที่ปล่อยไม่ไปด้วยจากการที่โอเปกไม่สามารถจะหาเงินสกุลอื่นมาทำการค้าน้ำมันทดแทนดอลลาร์สหรัฐได้ และทำให้ดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นเงินสากลสำหรับธุรกิจพลังงานโดยอัตโนมัติ และไม่มีสกุลเงินไหนท้าทายค่าดอลลาร์ได้
ผลข้างเคียงที่ตามมา ทุกชาติในโลกที่ต้องซื้อ หรือขายพลังงาน ล้วนมีความจำเป็นต้องถือเงินดอลลาร์เอาไว้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดทางให้เฟดกลายเป็นผู้กำหนดชะตากรรมทางเศรษฐกิจของโลกผ่านการควบคุมปริมาณเงินดอลลาร์ในตลาดโลก เพื่อให้สัมพันธ์กับราคาน้ำมันในตลาดโลก เท่ากับว่าเฟดมีส่วนร่วมในการกำหนดราคาน้ำมันและปริมาณปิโตรดอลลาร์ตามไปด้วย
กติกาที่เฟดเป็นคนกำหนดทั้งทางตรงและอ้อมมายาวนาน จึงเป็นเสาหลักทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ มาโดยตลอด แต่เสาหลักนี้จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง หากโอเปกและวงการน้ำมันยกเลิกปิโตรดอลลาร์
ที่ผ่านมา ความสามารถของสหรัฐฯ ในการออกแบบให้ค่าดอลลาร์สหรัฐเปลี่ยนสภาพจาก “เงินเลว” กลายเป็น “เงินดี” ที่โลกไม่สามารถปฏิเสธได้ ส่งให้ปิโตรดอลลาร์เกิดอาการ “กรดไหลย้อน” พากันไหลกลับเข้ามาในสหรัฐฯ ทำให้ดุลชำระเงินของสหรัฐฯ ยังคงเป็นบวกเสมอมา ซึ่งผลพวงที่ตามมาคือเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีตัวเลขดีเกินจริง
ข้อเท็จจริงทางยุทธศาสตร์และประวัติศาสตร์หยั่งลึกนี้จะเหลือแต่ตำนาน หากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเลือกเส้นทางนี้ ซึ่งแม้ในระยะสั้นอาจจะเป็นแค่พล็อตนวนิยาย หรือประเด็นข่าว แต่ในโลกยามนี้ บางครั้งความเป็นไปไม่ได้ อาจจะเกิดขึ้นได้
เว้นเสียแต่ว่าเรื่องนี้จะเป็นแค่ปาหี่ดันราคาน้ำมันดิบชั่วคราว เพราะราคาหุ้นของบริษัทน้ำมันแห่งชาติซาอุดีอาระเบียคือ ARAMCO ที่เตรียมตัวจะออกขาย IPO มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ดูไม่แพงจนหาคนซื้อยาก