พาราสาวะถี

การเมืองช่วงจัดทัพจัดแถว พวกรู้แกวก็ดักคอกันทุกทาง อยู่ที่ว่าใครจะอย่างบางหรืออย่างหนา แต่ถ้าดูวิธีการที่ทำของฝ่ายยึดกุมอำนาจน่าจะเป็นพวกอย่างหลังเสียมากกว่า เพราะไม่สนใจเสียงวิจารณ์หรือความเห็นต่างอาจจะถือว่ามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือเสียอย่างใครก็ทำอะไรไม่ได้ ขนาดที่ใช้กฎหมายในการดูแลนักการเมืองและพรรคการเมืองแท้ ๆ ยังออกอาการหงอ


อรชุน

การเมืองช่วงจัดทัพจัดแถว พวกรู้แกวก็ดักคอกันทุกทาง อยู่ที่ว่าใครจะอย่างบางหรืออย่างหนา แต่ถ้าดูวิธีการที่ทำของฝ่ายยึดกุมอำนาจน่าจะเป็นพวกอย่างหลังเสียมากกว่า เพราะไม่สนใจเสียงวิจารณ์หรือความเห็นต่างอาจจะถือว่ามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือเสียอย่างใครก็ทำอะไรไม่ได้ ขนาดที่ใช้กฎหมายในการดูแลนักการเมืองและพรรคการเมืองแท้ ๆ ยังออกอาการหงอ

พอเข้าใจกันได้ เมื่อมองย้อนไปยังการได้มาซึ่งตำแหน่ง แม้กระทั่งการได้ไปต่อของคนในบางองค์กร เด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่ามาจากเผด็จการอุปถัมภ์ทั้งสิ้น เช่นนี้แล้วใครจะกล้าเนรคุณ เต็มที่ก็แค่ตะแบงข้อกฎหมายอ้างกันไปข้าง ๆ คู ๆ ที่ดูเหมือนว่าจะวางตัวเป็นกลางสุดท้ายก็แค่ทาสรับใช้ ไม่แยแสว่าประชาชนจะคิดหรือรู้สึกอย่างไร

ประเด็นความเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังจากที่ยุ่งเหมือนยุงตีกันทั้งการห้ามหาเสียง การห้ามพบปะประชาชน รวมไปถึงการห้ามใช้โซเชียลมีเดียกับพรรคการเมืองทั้งหลาย เอาเข้าจริงผู้ที่จะบังคับใช้กฎหมายก็ไม่อาจจะชี้ชัดฟันธงได้ว่าอย่างไหนทำได้หรือพวกไหนทำได้ มีแต่อาการใบ้รับประทาน พร้อม ๆ กับการโยนลูกไปให้คณะเผด็จการคสช.เป็นผู้วินิจฉัย

แต่เผด็จการยุคใหม่หรืออาจจะเรียกได้ว่ายุคปลาไหลเรียกพี่ พอถูกถามถึงเรื่องที่เป็นการเมืองก็จะโยนให้เป็นเรื่องของกกต. ใช้วิธีการแบบนี้คิดว่าคนอื่นจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะคนส่วนใหญ่ต่างรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น แต่วิจารณ์มากไปกว่านี้ไม่ได้ หากไม่ถูกใจเผด็จการขึ้นมาไม่รู้จะถูกเล่นงานแบบไหน

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าการบังคับใช้กฎหมายจะไร้บรรทัดฐาน เพราะความจริงมันไม่มีมาตรฐานใด ๆ แม้แต่น้อย หากเป็นห่วงอนาคตก็ไม่ควรใช้วิธีการมักง่าย ปัดสวะให้พ้นตัว ทุกคำตอบและการกระทำในวันนี้ มันจะส่งผลถึงวันข้างหน้า เผด็จการมาแล้วก็ไป ที่วางแผนไว้ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มองยังไงก็เดินไปไม่ถึง แต่องค์กรอิสระที่มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรม กรรมการทั้งหลายยังมีวาระกันอีกนาน

หากไปสร้างบรรทัดฐานเลวไว้เสียตั้งแต่วันนี้ อนาคตหากมีใครหยิบยกมายื่นตีความหรือถามหาความชอบธรรมทางกฎหมายจะตอบได้ยากหรือเกิดอาการน้ำท่วมปาก ทางที่ดีควรต้องยึดหลักการและความถูกต้องเป็นหลัก ถ้าจะถูกเผด็จการเล่นงานเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยจะออกมาปกป้อง เรียกร้องความเป็นธรรมให้เอง เว้นเสียแต่ว่าพวกท่านทั้งหลายจะฝักใฝ่และมีใจเป็นเผด็จการไปด้วยนั่นก็อีกเรื่อง

พรรคการเมืองที่ยังคงขบเหลี่ยมกันอยู่ทุกจังหวะหนีไม่พ้นสองพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ นาทีนี้มีการตั้งข้อสังเกตมาจากฝั่งพรรคนายใหญ่ คู่แข่งสำคัญกำลังใช้เวทีปราศรัยเรียกคะแนนเพื่อหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคของบรรดาผู้สมัครทั้ง 3 ราย เป็นการแอบแฝงหาเสียงแบบเนียน ๆ กันหรือเปล่า นั่นเท่ากับว่า กำลังมีการเล่นละครตบตากระบวนการตรวจสอบทั้งจากกกต.และฝ่ายความมั่นคง

ฝ่ายที่บังคับใช้กฎหมายไม่รู้ว่ายังงง ๆ อยู่หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น หรืออีกนัยคือเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้เป็นการชิงความได้เปรียบทางการเมืองจึงปล่อยผ่านกันไป ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่รู้ว่าพลพรรคนายใหญ่คิดมากไป เก็บเล็กเก็บน้อยจนเกินงามหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงตอกกลับนิ่ม ๆ จาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้าพรรคเก่าแก่ว่า สิ่งที่ทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

กระบวนการหาเสียงเพื่อหยั่งเสียงเป็นไปตามข้อบังคับพรรคที่ผ่านการอนุญาตจากกกต. สิ่งสำคัญคือที่พรรคเก่าแก่ดำเนินการไป นี่เป็นแบบอย่างของระบอบประชาธิปไตยภายในพรรค และน่าจะเป็นต้นแบบให้พรรคการเมืองอื่นทำตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ ไม่ว่าจะเรียกร้องการปฏิรูปอย่างไร สุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่จะจบลงตรงวาทกรรมเดิม ๆ ตามสไตล์คนพรรคนี้

สิ่งที่เห็นและเป็นไปผ่านการปราศรัยของผู้แย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคทั้ง 3 ราย ล้วนแล้วแต่ดูสวยหรูและทำให้พรรคเก่าแก่ห่างไกลฝ่ายเผด็จการเป็นอย่างยิ่ง แต่นั่นไม่ใช่บทพิสูจน์ เพราะต้องดูหลังการเลือกตั้ง คำประกาศไม่ยอมรับนายกฯคนนอกหรือไม่เกรงใจใครอีกต่อไป จะทำให้ประชาชนเชื่อได้ก็ต่อเมื่อได้เห็นการปฏิเสธจะร่วมงานกับคณะผู้สืบทอดอำนาจอย่างจริงจังและจริงใจ

ต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับการรัฐประหารทั้งสองครั้งสองครา พรรคเก่าแก่ล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่วมโบกมือดักกวักมือเรียกทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบอยคอตเลือกตั้ง ที่ อลงกรณ์ พลบุตร ย้ำแล้วย้ำอีกหากได้เป็นผู้นำจะไม่ทำให้เกิดภาพเช่นนี้อีก เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่า การตัดสินใจภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งถึงสองครั้งสองหนนั้น เป็นตัวการสำคัญที่บ่อนทำลายประชาธิปไตย

คงรู้ซึ้งอยู่แก่ใจกันดีและอย่างที่บอกกันบ่อยครั้ง ถ้าอภิสิทธิ์เลือกที่จะเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยปกติ ไม่ปล่อยให้สมาชิกไปร่วมก่อม็อบไล่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ส่งคนลงแข่งขันทุกครั้งไม่ว่าผลการหย่อนบัตรจะออกมาอย่างไร ดีไม่ดีป่านนี้เจ้าตัวอาจจะได้เป็นนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งอย่างสง่างามไปแล้ว พอไม่ใช้วิธีการที่ควรจะเป็นจึงต้องเหนื่อยอย่างที่เห็น และกลายเป็นว่าถูกอำนาจเผด็จการเล่นงานไม่น้อยไปกว่าพรรคนายใหญ่ที่ตัวเองกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา

เช่นเดียวกันกับการมีรัฐสภาเผด็จการ จะเห็นได้ว่าการผ่านร่างกฎหมายหลายครั้งหลายหน สร้างปัญหาไม่น้อยโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ที่สังคมกำลังจับตาอยู่เวลานี้หนีไม่พ้นปมร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพราะเกรงกันว่าจะมีการลักไก่นำเข้าสู่การพิจารณาของสนช.เพื่อให้ทันเดดไลน์การพิจารณาร่างกฎหมายของสภาตรายางภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

แม้ว่าโฆษกรัฐบาลจะออกมาบอกท่านผู้นำสั่งให้ทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าว โดยอ้างว่าไม่เห็นด้วยกับปมอำนาจหน้าที่ที่คลุมเครือ แต่ฟังจากสิ่งที่ท่านผู้นำให้สัมภาษณ์ถ้าไม่ทำผิดร่างกฎหมายนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ทำให้ไม่แน่ใจว่าเป็นห่วงจริงหรือไม่ แต่ถ้ามองโลกในแง่ดีอุตส่าห์เปิดช่องทางโซเชียลมีเดียถึงขนาดนี้ ก็น่าจะเข้าใจหัวอกของคนคอเดียวกัน

เรื่องความมั่นคงที่ต้องใช้การตีความโดยไม่ระบุให้ชัดแถมพกด้วยการให้ใช้อำนาจที่คลุมเครือเช่นนี้ การอ้างว่าต่างชาติก็มีกฎหมายในลักษณะนี้ แต่ที่ไม่น่าจะเหมือนประเทศไทยคือ ทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตยคงไม่มีใครใช้กฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งกันทางการเมืองหรือไปจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนเหมือนรัฐบาลเผด็จการแน่นอน

Back to top button