เหตุผลของนาร์ซิสซัส

รายงายผลประกอบการของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ออกมาแล้ว ทำให้ราคาหุ้นร่วงกราวรูดชนิดไม่กล้ามองเลยทีเดียว


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

รายงายผลประกอบการของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ออกมาแล้ว ทำให้ราคาหุ้นร่วงกราวรูดชนิดไม่กล้ามองเลยทีเดียว

มุมมองของนักลงทุนช่างตรงกันข้ามกับมุมมองของผู้บริหารยิ่งนัก จนชวนให้ตั้งคำถาม

หนึ่งในคำถามสำคัญคือ ผู้บริหารของ TMB เคยตรวจสอบอาการของโรคนาร์ซิสซัสหรือไม่

คำอธิบายเลิศหรูอลังการของ TMB วานนี้ ที่ออกมาระบุว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิในไตรมาสสามของปีนี้ 5.59 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 176.1% จากระดับ 2.03 พันล้านบาทในไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 179.2% จากระดับ 2 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน เกือบดูดี หากไม่ลงลึกในรายละเอียด

คำกล่าวอ้างของ TMB ชนิดเหนือจริงที่ว่า กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นโดดเด่นนี้ “ตอกย้ำการเป็นผู้นำการขายกองทุนรวม ร่วมเป็นพันธมิตรกับอีสท์สปริง พร้อมรับรู้กำไรจากดีล บลจ.ทหารไทย 1.2 หมื่นล้านบาท” เป็นคำอธิบายที่น่าเวทนามากกว่าน่าชื่นชม เพราะเป็นกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุน ไม่ใช่กำไรจากการดำเนินงานปกติ

หากดูจากผลการดำเนินงานปกติ จะเห็นข้อเท็จจริงที่ชวนเศร้ามากกว่าชื่นชมเช่นกัน เพราะมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6.13 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.5% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 1% จากงวดปีก่อน ขณะที่มีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 1.45 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 368.1% จากไตรมาสก่อน และ 354.9% จากงวดปีก่อน ได้รวมเอาส่วนกำไรพิเศษเข้ามาด้วย โดยเฉพาะจากการรับรู้กำไรจากดีล บลจ.ทหารไทย ซึ่งประกอบด้วยกำไรจากการขายหุ้น บลจ.ทหารไทย 65% จำนวน 7.6 พันล้านบาท และกำไรจากการเปลี่ยนแปลงการควบคุมจากบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วม 35% จำนวน 4.2 พันล้านบาท

ในแง่อัตราการเติบโตของเงินฝากและสินเชื่อยังคงเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขการเติบโตของยอดเงินฝากเพิ่มขึ้นช่วง 9 เดือนของปี 4.5% และสินเชื่อเติบโต 3.7% เนื่องจากธนาคารเน้นการขยายกลุ่มลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก แต่ที่น่าสนใจก็ตรงที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและ NIM ลดลงจาก “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสินเชื่อ” โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 18,263 ล้านบาท เนื่องจาก NIM ลดลง 0.20% มาอยู่ที่ 2.96% ในรอบ 9 เดือนปีนี้

สาเหตุหลัก TMB อธิบายเองว่า มาจากการที่ธนาคารมีสภาพคล่องส่วนเกินไปลงทุนชั่วคราวในสินทรัพย์สภาพคล่องสูงที่ให้ผลตอบแทนต่ำ รวมทั้งผลจากอัตราผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อที่ลดลงจากการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ ในขณะที่ธนาคารดำเนินการปรับปรุงคุณภาพพอร์ตเอสเอ็มอี

เฉพาะไตรมาสสามอย่างเดียว ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) อยู่ที่ 2.90% ลดลง 0.11% จากระดับ 3.01% ในไตรมาสสอง โดยมีปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำ

หากใช้ภาษาที่พูดรู้เรื่อง ก็ต้องบอกว่า รายได้จากดอกเบี้ยซึ่งเป็นรายได้หลักถดถอย ลงทุนกำไรต่ำ ดังนั้น หากไม่มีกำไรพิเศษเข้ามา 1.2 หมื่นล้านบาท (ซึ่งต้องกันเอาไว้ตั้งสำรองมากถึง 9.39 พันล้านบาท ด้วยข้ออ้างว่าเตรียมความพร้อมรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 9) กำไรสุทธิน่าจะทรงตัว หรือไม่ก็ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสสองด้วยซ้ำ

วังวนเดิม ๆ ที่เคยเกิดกับ TMB ว่าด้วย “สินเชื่อโตช้า และรายได้ค่าธรรมเนียมไม่ดีตามคาด ยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวจากการกระจุกตัวของการขายกองทุน” ยังคงดำรงอยู่ครบครัน

คำโอ้อวดประเภท “ตอกย้ำการเป็นผู้นำการขายกองทุนรวม” จึงไม่มีอะไรนอกจากบอกว่าเก่งที่ขายของแพงเกินราคาได้

ไม่ทราบว่า ผู้บริหารและกลุ่มผู้ถือหุ้นของอีสท์สปริง อินเวสต์เมนทส์ (สิงคโปร์) จะรู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อได้อ่านข้อความโอ้อวดดังกล่าว

หมายเหตุเพิ่มเติมที่ต้องวิเคราะห์เป็นพิเศษอยู่ที่ข้อความซึ่งระบุว่า ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวน 9.39 พันล้านบาท ในไตรมาสสาม เทียบกับ 2.38 พันล้านบาทในไตรมาสสอง และ 2.39 พันล้านบาทในไตรมาสแรก โดยการตั้งสำรองฯ ที่เพิ่มขึ้นเพื่อปรับลดชั้นสินเชื่ออย่างรอบคอบ และเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชี IFRS 9 ที่จะใช้ในปี 2563 ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 157% จาก 140% เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน โดยที่ตัวเลขสินเชื่อด้อยคุณภาพล่าสุดมีจำนวน 2.09 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 2.69% ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 2.37%

ตัวเลขสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPL ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก สอดรับกับเหตุผลที่ TMB ต้องตั้งสำรองต่อเนื่องทุกไตรมาส

ถึงบางอ้อกันได้เสียที กับปริศนาที่ตั้งขึ้นมาว่า มีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลซุกซ่อนอยู่ใน TMB จึงทำให้ผู้บริหารต้องเร่งตั้งสำรองต่อเนื่องไม่ยอมหยุด ทั้งที่คุยโตว่าสามารถควบคุม NPL ให้อยู่ในกรอบต่ำได้ดีเหมือนเดิม

ข้ออ้างซ้ำซากเรื่อง “เน้นความรอบคอบในการดูแลคุณภาพสินทรัพย์” ซึ่งเคยเป็นเหตุผลที่ไม่มีใครอยากได้ยินมาหลายไตรมาส จึงกลายเป็นเหตุผลที่ไร้สาระสิ้นดี และไม่ควรแก่การเชื่อถืออีก

การขายหุ้นทิ้งเพราะความผิดหวังกับงบการเงินของ TMB ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนักลงทุนไม่เชื่อที่ผู้บริหารพร่ำออกมา ในขณะที่บางคนมองข้ามช็อตไปว่า หากกำไรพิเศษไม่มีในไตรมาสสี่แล้วกำไรในส่วนที่เคยได้รับจาก บลจ.ทหารไทย ที่หดหายไป อาจจะทำให้กำไรถดถอยมากกว่าเดิมได้

หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น อาจจะได้เห็นข่าวTMB “ตอกย้ำการเป็นผู้นำขายเงินลงทุนบริษัทในเครือ” เพิ่มเติมในไตรมาส 4 นี้

Back to top button