วิกฤตมะกะโรนี
ไม่มีใครอยากเชื่อว่า การเมืองสไตล์อิตาเลียนจะส่งผลกระทบกับปัญหาการคลังของรัฐบาลอิตาลีมากดังที่เกิดขึ้นยามนี้
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ไม่มีใครอยากเชื่อว่า การเมืองสไตล์อิตาเลียนจะส่งผลกระทบกับปัญหาการคลังของรัฐบาลอิตาลีมากดังที่เกิดขึ้นยามนี้
กว่า 200 ปี นับแต่ได้รับเอกราชเป็นประเทศใหม่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา การเมืองของอิตาลีไม่เคยมีเสถียรภาพเลย ยกเว้นในช่วงพรรคฟาสซิสต์ของมุสโสลินีเรืองอำนาจก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อสิ้นมุสโสลินี การเมืองสไตล์อิตาเลียนกลับเข้าสู่แวดวงเดิมคือมีรัฐบาลผสมจากพรรคเบี้ยหัวแตกจนจำไม่หวัดไหว มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีบ่อยครั้งจนชนิดร่ำลือกันว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในอิตาลี ไม่สามารถจำชื่อนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้
ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของอิตาลี เกิดจากรากเหง้าทางประวัตศาสตร์ของการก่อตั้งเป็นชาติอิตาลี เพราะในยุคกลางอันยาวนานของยุโรปนับพันปีนั้น ดินแดนในคาบสมุทรอิตาลี แตกกระสานเป็นนครรัฐมากกว่ายี่สิบนครรัฐ มีเจ้าครองนครสืบเนื่องและหมุนเวียนกัน โดยมีอิทธิพลของศาสนจักรโรมันคาธอลิกที่วาติกันคานอยู่เต็มที่
นับตั้งแต่หลังสงครามครูเสดที่นครรัฐในคาบสมุทรอิตาลีรุ่งเรืองอย่างมากจากการ “ค้าสงคราม” จนเกิดยุคสมัยของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หรือเรเนสซองส์ขึ้นในดินแดนนี้ โดยมีเวนิส และฟลอเรนซ์ เป็นศูนย์กลาง ทำให้เมื่อราชวงศ์ฮับสบวร์กของจักรวรรดิออสเตรียเข้ามาสร้างอิทธิพลเหนือนครรัฐต่าง ๆ เกือบทั้งคาบสมุทร โดยมีวาติกันหนุนหลัง กินเวลานานกว่า 300 ปี
การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 และการรุกรานของนโปเลียนขับไล่อิทธิพลครอบงำของออสเตรียออกไปชั่วคราว ได้จุดประกายให้เกิดแนวคิดหลากหลายที่ต้องการรวมชาติอิตาลีขึ้นมาใหม่ แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปกันได้ว่าระหว่างการเป็นมหาชนรัฐแบบสาธารณรัฐ หรือแบบมีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้กลุ่มผู้รักชาติเสียงแตกกันยาวนาน โดยมีวาติกันเป็นตัวการ “เสี้ยม” อยู่เบื้องหลัง
ท้ายสุดอิตาลีก็รวมชาติสำเร็จด้วยความช่วยเหลือของนโปเลียนที่สามแห่งฝรั่งเศส โดยใช้โรมเป็นเมืองหลวง แต่การเมืองหลังรวมชาติก็ไร้เสถียรภาพจนเป็นปกติจนถึงทุกวันนี้
แม้การเมืองจะไร้เสถียรภาพ แต่เศรษฐกิจอิตาลีกลับเฟื่องฟูเป็นระยะ ๆ จากความสามารถด้านการตลาดของนักธุรกิจอิตาเลียนเอง ที่สามารถสร้างอาณาจักรข้ามชาติและบางครั้งระดับโลกได้
คำอธิบายที่น่าสนใจคือ อิตาลีมีผู้ประกอบการท้องถิ่นระดับ SME ที่มีคุณภาพระดับโลกมากมายน่าอิจฉา สามารถผลิตสินค้าสารพัดที่โดดเด่นไม่แพ้คู่แข่ง โดยนอกเหนือจากไวน์ชั้นเลิศแล้ว ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำครัว สินค้าดีไซน์ เครื่องเงิน อัญมณี เครื่องหนัง แฟชั่น และฯลฯ
แม้ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลอิตาลีจะเริ่มเผชิญกับปัญหาการคลังชนิด “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” เพราะอัตราส่วนหนี้สาธารณะของประเทศพุ่งขึ้นเหนือกว่า 130% ของจีดีพีมาโดยตลอดนับแต่ปี ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ภายในประเทศ จึงเป็นอันตรายน้อยกว่าชาติที่มีหนี้นอกประเทศ
ปัญหาหนี้ท่วม ทำให้รัฐบาลอิตาลีระยะหลายปีมานี้ พยายามทำงบประมาณขาดดุลมากขึ้นต่อเนื่อง จนเริ่มเข้าใกล้เพดานสูงสุดของตัวเลขขาดดุลที่กำหนดโดยสหภาพยุโรป ที่มีเพดานห้ามเกินปีละ 3% เพื่อคุมวินัยทางการเงิน
ความกดดันจากปัญหาการคลัง และการต้องขออนุมัติเรื่องงบประมาณจากสหภาพยุโรป ทำให้คนอิตาเลียนบางส่วนเริ่มลืมไปว่า แนวคิดเรื่องต้นกำเนิดของสหภาพยุโรปเกิดจากนักคิดอิตาเลียนเอง ที่มองเห็นว่าอภิรัฐ (Ultranation) อย่างสหภาพยุโรปคือบทรวบยอดของการระงับสงครามใหญ่และย่อยที่คุกคามยุโรปมายาวนานกว่า 500 ปีได้
กระแสการเมืองอิตาลีหลายปีมานี้ จึงเหวี่ยงไปมาระหว่าง ฝั่งแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรป กับฝั่งที่ยังต้องการอยู่ในสหภาพยุโรป
แนวคิดว่าด้วยสมาชิกภาพสหภาพยุโรปที่ขัดกัน ทำให้การเมืองอิตาลีที่เดิมซับซ้อนอยู่แล้ว มีปัญหามากขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือล่าสุดขนาดของเศรษฐกิจอิตาลีในยามนี้ กลับเติบใหญ่มากขึ้น เป็นอันดับสองของสหภาพยุโรป (ไม่นับอังกฤษและสหราชอาณาจักร)
นับจากวิกฤตหนี้สินช่วงปี ค.ศ. 2010-2011 ซึ่งยังไม่สะสาง ถึงขั้นประธานาธิบดีต้องใช้อำนาจแต่งตั้งรัฐบาลคนนอกขัดตาทัพ การเมืองอิตาลียังไม่ออกจากวังวนของวิกฤตตั้งรัฐบาล เมื่อการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมาก
การจัดตั้งรัฐบาลผสมส่งผลเสียงข้างน้อย ระหว่างพรรคไฟว์สตาร์ มูฟเมนต์ และพรรคลีก ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรป โดยมีนายกรัฐมนตรีคนนอก คือ นายจูเซปเป้ คอนเต้ ล่มไม่เป็นท่าเมื่อประธานาธิบดี แซร์จิโอ มัตเรลลา ปฏิเสธการแต่งตั้ง เปาโล ซาโวนา ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เพราะมีแนวคิดต่อต้านสกุลเงินยูโร จนมาลงตัวเมื่อมีการแต่งตั้งนายคาร์โล คอตตาเรลลี วัย 64 ปี ที่มีแนวคิดฝั่งสนับสนุนยูโรโซน โดยที่ทั้งสองพรรคก็อกมารับสภาพว่า ถึงแม้โดยพื้นฐานจะมีแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรป แต่รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดที่จะออกจากสกุลเงินยูโร
อย่างที่ทราบกันดี การที่รัฐบาลอิตาลีมีภาระหนี้สินกว่า 2.3 ล้านล้านยูโร หรือคิดเป็น 132% ของ GDP มากเป็นอันดับสองของยุโรปต่อจากประเทศกรีซ ทำให้ต้องถูกรัฐสภาของสหภาพยุโรปยื่นมือมา “คุมประพฤติ” เข้มข้น มีเงื่อนไขให้ต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้แน่นอน คือ การไปเจรจากับเงื่อนไขของยูโรโซน เช่น ข้อตกลงด้านเสถียรภาพและการเติบโต รวมไปถึงการควบคุมทางการเงินและการคลัง รวมทั้งการเพิ่มงบประมาณช่วยเรื่องเงินบำนาญและสวัสดิการคนรายได้น้อย
ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวทำให้เกิดการงัดข้อครั้งใหม่ เมื่อรัฐบาลอิตาลีได้เพิ่มตัวเลขขาดดุลงบประมาณสู่ระดับ 2.4% ของ GDP ในปีหน้า ซึ่งสุดขั้วต่างจากข้อเสนอของรัฐบาลชุดเดิมที่เคยรับปากว่าจะรักษาตัวเลขขาดดุลที่ 0.8% ของ GDP
ภายใต้กติกาของสหภาพยุโรป กำหนดให้ประเทศสมาชิก มีตัวเลขขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 3% ของ GDP
ทันทีที่รัฐบาลอิตาลียื่นงบประมาณ บริษัทจัดอันดับความเสี่ยงอย่างมูดี้ส์ก็แสดงท่าทีทันควัน ได้ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลีลงสู่ระดับ Baa3 จาก Baa2 เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับตัวเลขขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้
วันอังคารที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ประกาศว่า อิตาลีจะต้องทำการทบทวนข้อเสนอร่างงบประมาณประจำปีหน้า โดยนายไดอาลอก วัลดิส ดอมโบรสกีส์ รองประธาน EC กล่าวว่า EC ไม่มีทางเลือก นอกจากปฏิเสธข้อเสนองบประมาณของรัฐบาลอิตาลี ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน และอิตาลีมีเวลา 3 สัปดาห์ในการยื่นข้อเสนองบประมาณฉบับใหม่ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ EC ได้ปฏิเสธการยอมรับร่างงบประมาณของประเทศสมาชิก
ความท้าทายอย่างนี้ ทำให้สหภาพยุโรปถือว่า ต้อง “ล้อมคอกก่อนวัวหาย” เพราะมุมมองว่าร่างงบประมาณปี 2562 ของอิตาลีขัดต่อกฎหมายทางการเงินของสหภาพ พร้อมกับตั้งข้อเรียกร้องอย่างเข้มข้นว่า ให้อิตาลีดำเนินการไปสู่การมีงบประมาณสมดุล เนื่องจากอิตาลีมีหนี้ในภาครัฐจำนวนมาก
ปฏิบัติการ “ตอกหน้าหงาย และถีบส่ง” นี้ เป็นท่าทีเกือบซ้ำรอยกรณีของกรีซเมื่อ 3 ปีก่อน ถือเป็นการสั่งสอน “เด็กเกเร” สไตล์ยุโรปก็ได้
ประเด็นเชิงลบจากวิกฤตมะกะโรนีอย่างนี้ เข้าทาง “ขาทุบ” ในตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นพิเศษ แต่ “ขาเชียร์” คงต้องเหนื่อยหนัก เพราะมีสิทธิ์ “ขาเป๋” ได้ง่ายมาก