ลาว และ เมียนมา
หนึ่งในหุ้นที่นักวิเคราะห์พากันยืนหยัดแนะนำให้ซื้อ ในยามที่ตลาดเป็นขาลง เพราะมีความมั่นใจในอนาคต จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในสปป.ลาว ตั้งแต่ปลายปี 2561 ถึงตลอดปีหน้า
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
หนึ่งในหุ้นที่นักวิเคราะห์พากันยืนหยัดแนะนำให้ซื้อ ในยามที่ตลาดเป็นขาลง เพราะมีความมั่นใจในอนาคต จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในสปป.ลาว ตั้งแต่ปลายปี 2561 ถึงตลอดปีหน้า
เหตุผลของนักวิเคราะห์ ระบุว่าปีหน้าทางบริษัทจะเดินหน้าผลิตไฟฟ้าเต็มที่ จากหลายปัจจัยดังนี้ 1) ปริมาณน้ำเข้าเขื่อนน้ำงึม 2 เต็ม ช่วยหนุนการผลิตไฟฟ้าในปี 2562 2) โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรีเตรียมทดสอบเดินเครื่องชุดที่ 1 ในเดือนธันวาคม 2561 คาดสามารถเริ่มขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันกำหนดการในเดือนตุลาคม 2562 3) อยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลลาวเพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งใหม่ขนาดกำลังการผลิตมากกว่า 1,000 MW คาดทราบผลปลายปี 2561
อนาคตของ CKP ที่มีเค้าลางขาขึ้นยาวนานไม่ใช่เรื่องผิดแปลก แต่ที่น่าสนใจมากกว่าจากข้อเท็จจริงที่ว่า การพึ่งพาแหล่งพลังานไฟฟ้าจากสปป.ลาวนั้นค่อนข้างสูงมาก จนมีคำถามว่าด้วยดุลยภาพของแหล่งผลิตไฟฟ้า
ทำนองเดียวกันกับที่โรงไฟฟ้าในประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไปกว่า 70% จนเกิดความกังวลว่าหากเกิดการชะงักงันของอุปทานก๊าซธรรมชาติ อาจจะเสียหายได้ จนเกิดคามพยายามให้ถ่วงดุลสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่มีคนต่อต้านมากมาย
ประเด็นเรื่อง การสร้างเขื่อนในประเทศ สปป.ลาว ไม่ใช่เรื่องความลับ ถือเป็นโครงการระดับรัฐบาล ที่ต้องการสร้างเพื่อเป็นแหล่ง “ผลิตกระแสไฟฟ้า” โดยจะจำหน่ายและส่งออกให้กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเป้าหมายระดับชาติของสปป.ลาว ในฐานะยุทธศาสตร์ เพื่อเป็น “แบตเตอรี่แห่งอาเซียน”
สปป.ลาวมีเป้าหมายที่จะสร้างเขื่อนทั้งสิ้น 100 โครงการ เพื่อใช้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า โดยในปัจจุบันมีแหล่งผลิตไฟฟ้าแล้ว 53 แห่ง กำลังติดตั้ง 7,082 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง คือโรงไฟฟ้าหงสา ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ
ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ ภายในปี 2563 จะมีแหล่งผลิตไฟฟ้าอีก 47 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งทำให้สปป.ลาวมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจำนวน 13,862 เมกะวัตต์
แน่นอนว่าการก่อสร้างเขื่อนมหาศาลนี้ ไม่ได้มาฟรี เนื่องจากรัฐบาลสปป.ลาวนั้นยังยากจน งบประมาณครึ่งหนึ่งในแต่ละปี มาจากเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ รายได้หลักของรัฐบาลจึงมาจากสัมปทานให้แก่เอกชนทั้งในและต่างประเทศ เข้าไป โดยมีเงื่อนไขให้ทางการสปป.ลาวร่วมทุนในบริษัทสัมปทานด้วย
นอกจากนั้น การที่ระดับขั้นพัฒนาการทางเศรษฐกิจของสปป.ลาวยังไม่สูงมาก ทำให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เกิดความต้องการในประเทศที่จะใช้เพียงแค่ 15% ที่เหลือต้องส่งออกไปขายให้เพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา หรือเวียดนาม
ที่ผ่านมา ไทยซื้อพลังงานไฟฟ้าจากสปป.ลาวประมาณปีละ 10,000 เมกะวัตต์ และเวียดนามประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ แต่ในอนาคต ลาวมีแผนจำหน่ายกระแสไฟฟ้าผ่านไทยและมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ประมาณ 100 เมกะวัตต์ต่อปี และไปยังเมียนมา 200 เมกะวัตต์ ทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายในปี ค.ศ. 2020
ยุทธศาสตร์และความจำเป็นทางการคลังของรัฐบาลสปป.ลาว เข้าทางของภาคเอกชนไทยอย่างมาก ความพยายามของการเข้าไปแสวงหาสัมปทานผลิตไฟฟ้าจากสปป.ลาวจึงมีไม่เคยขาด เพียงแต่ไม่ง่าย เพราะเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการด้านการเงินของโครงการ
รัฐบาลสปป.ลาว มีเงื่อนไขสำคัญในการให้สัมปทานที่เอื้อต่อการลงทุนไม่น้อย กล่าวคือ ไม่เรียกเงื่อนไขขอถือ “หุ้นลม” แต่เอกชนต่างชาติที่ต้องการสร้างเขื่อนและรับสัมปทานผลิตไฟฟ้าจะต้องทำหน้าที่จัดหาแหล่งเงินกู้ให้กับหน่วยงานรัฐลาว เพื่อเอามาซื้อหุ้นบริษัทสัมปทานร่วม ถือหลัก debt-financing for equity ที่ในทางปฏิบัติผิดหลักการของธนาคารอย่างมาก
ภารกิจในการจัดหาแหล่งเงินกู้มาให้หน่วยงานรัฐ สปป.ลาว มีเงินสดมาถือหุ้น จึงเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของเอกชนต่างชาติ
เท่าที่ทราบ เอกชนไทยดังเช่น CKP หรือ RATCH หรือ BANPU ใช้บริการของ EXIM Bank ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย เป็นสำคัญในการดำเนินการให้รัฐ สปป.ลาว สามารถมีเงินสดมาถือหุ้น แม้ว่าเอกชนไทยจะต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินบางส่วน (ซึ่งเป็นความลับ ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง) ก็ยังถือว่าคุ้มค่า
ต่างกันกับกรณีของการเข้าไปขอสัมปทานสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในเมียนมา ที่ภาคเอกชนไทยยังประสบคามสำเร็จต่ำมาก ด้วยเหตุผลหลักคือเงื่อนไขสัมปทาน “โหดหิน” มากถึง 2 ชั้นคือ 1) โครงสร้างรัฐบาลท้องถิ่นและกลางที่เหลื่อมซ้อน 2) เงื่อนไขร่วมทุนในบริษัทร่วมรับสัมปทาน
ทั้งสองเงื่อนไขทำให้ความเป็นไปได้ต่ำ
เริ่มจากข้อแรก การสร้างเขื่อนจะต้องเจรจากับรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่นเจรจาเรื่องราคาซื้อขายไฟฟ้ากับรัฐบาลกลางที่ผูกขาดสายไฟฟ้าและการจัดจำหน่ายไฟฟ้า หากไม่ได้ก็อาจจะทำให้การลงทุนสูญเปล่า
ส่วนข้อหลัง รัฐบาลท้องถิ่นเรียกร้องขอถือ “หุ้นลม” 20% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งเป็นภาระหนักอึ้งที่ภาคเอกชนยากจะกล้ำกลืน
ล่าสุดเงื่อนไขเอี่ยว “หุ้นลม” ในยุคของนางอองซานซูยี กลับเข้มข้นหนักเป็น 25% ของทุนจดทะเบียน ยิ่งยากขึ้นเป็นทวีคูณ
ข้อเท็จจริงภาคสนามเช่นนี้ อย่าได้แปลกใจเลยว่า เหตุใด เขื่อนในสปป.ลาว จึงเพิ่มขึ้นมากมาย ในขณะที่ในเมียนมาชะงักงันไปเลย