พาราสาวะถี
โชว์สปิริตกันเต็มที่ แต่ถ้าจะให้ดีควรลาออกจากตำแหน่งไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่ต้องตกเป็นขี้ปากของฝ่ายการเมืองตรงข้าม กับ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลเผด็จการคสช. ที่ในคราวการลงพื้นที่จังหวัดพะเยาของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ไม่ได้ร่วมคณะไปด้วยเหมือนทุกครั้ง คงเป็นการเลี่ยงข้อครหา หาเสียงล่วงหน้า เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ
อรชุน
โชว์สปิริตกันเต็มที่ แต่ถ้าจะให้ดีควรลาออกจากตำแหน่งไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่ต้องตกเป็นขี้ปากของฝ่ายการเมืองตรงข้าม กับ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลเผด็จการคสช. ที่ในคราวการลงพื้นที่จังหวัดพะเยาของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ไม่ได้ร่วมคณะไปด้วยเหมือนทุกครั้ง คงเป็นการเลี่ยงข้อครหา หาเสียงล่วงหน้า เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ
แต่ที่เล่นเอาสะดุ้งโหยง คงเป็นคำเยินยอของคนพะเยาที่ไปต้อนรับท่านผู้นำเมื่อพูดว่า “พลังประชารัฐไม่ต้องห่วง” ทำเอาท่านผู้นำต้องรีบปัดพัลวัน “ไม่ใช่แล้ว ๆ เดี๋ยวผมโดน ผมไม่ได้มาการเมือง” แหม! อุตส่าห์ไม่ให้ 4 รัฐมนตรีร่วมคณะด้วย นึกว่าจะเนียนแล้วเชียว นี่ไงบทพิสูจน์สิ่งที่คนในรัฐบาลปฏิเสธมาตลอด การร่วมพรรคการเมืองของรัฐมนตรีในรัฐบาลไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
ในเชิงความรู้สึกและการรับรู้ของประชาชนนั้นไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่การตลาดก็ถือว่าพรรคพลังประชารัฐประสบความสำเร็จแล้ว ในแง่การสร้างความรับรู้ของประชาชนว่าเป็นพรรคของใคร และประชาชนควรที่จะรู้ว่าต้องเลือกใคร แต่ก็น่าขีดเส้นใต้คำพูดของคนพะเยาที่บอกว่าไม่ต้องห่วงนั้น มันแปลได้หลายความหมาย
ในแง่ดีคือพร้อมที่จะเลือกพรรคของรัฐบาลและสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่ต้องห่วงยังไงก็ไม่เลือก(ฮา) ซึ่งอย่างหลังนี่แหละที่น่าห่วง ต้องไม่ลืมว่า ไม่ใช่เฉพาะเผด็จการเท่านั้นที่ปรับตัวและเล่นเกมการเมืองซึมซับให้คนไม่แสดงความรังเกียจ แต่ภาคประชาชนก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับเผด็จการแล้วรอจังหวะที่จะให้บทเรียนผ่านการเลือกตั้งอยู่เหมือนกัน
ตรงนี้ไม่ใช่การคิดหรือคาดเดาเอาเอง หากแต่ผลสำรวจความคิดเห็นของหน่วยงานในสังกัดภาครัฐที่ไปทำกันมานั่นแหละที่เป็นตัวบ่งบอก คะแนนนิยมทั้งตัวบุคคลและพรรคการเมืองที่ประชาชนคาดหวังในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่ที่ทำให้เผด็จการยังคงเชื่อมั่นอยู่เวลานี้ ก็เป็นผลมาจากกลไกรวมไปถึงกฎหมายที่ได้วางกับดักเอาไว้ จะสามารถเอื้อให้ก้าวไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างไม่ยากเย็น
ไม่มีอะไรซับซ้อน ฟังจากบทสัมภาษณ์ล่าสุดของ ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยอมรับมีหลายพรรคที่เคยประกาศหนุนผู้นำเผด็จการกลับมาเป็นนายกฯ แต่ช่วงหลังท่าทีเปลี่ยนไป แต่พรรคของตัวเองยังจุดยืนเดิม พร้อม ๆ กับแสดงความมั่นใจว่าพรรคตัวเองและพลังประชารัฐจะสามารถกวาดที่นั่งส.ส.รวมกันได้ 126 ที่นั่งอย่างแน่นอน
เป็นปกติธรรมดาของคนเป็นหัวหน้าพรรค คงไม่มีใครประกาศว่าพร้อมจะแพ้ในสนามเลือกตั้ง แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ หากแต่อยู่ที่ประโยคถัดมาของไพบูลย์ที่บอกว่า เมื่อได้ 126 เสียงแล้วบวกเข้ากับส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงก็มีจำนวนมากพอที่จะผลักดันให้บิ๊กตู่กลับมาเป็นผู้นำอีกคำรบ ได้สืบทอดอำนาจกันสมใจ ถ้าเป็นนักการเมืองอีกฝ่ายพูด คงจะถูกกล่าวหาว่านี่เป็นการดูถูกประชาชน
ถ้าเข้าสูตรที่ไพบูลย์ว่า ก็หมายถึงแคนดิเดต 3 รายชื่อของพรรคการเมืองที่จะเสนอในช่วงของการเลือกตั้งนั้น ไม่มีความหมาย ภาพในสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดการไม่ยอมรับ จนสุดท้ายหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้ออปชั่นตามรัฐธรรมนูญฉบับคสช.คือ ใช้เสียงของที่ประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก อย่างที่บอกเมื่อวันก่อน ไม่ต้องไปสนใจเรื่องความสง่างาม
กระนั้นก็ตาม จะยึดเอาสิ่งที่ไพบูลย์พูดเป็นที่ตั้งก็อาจจะไม่เป็นธรรมกับฝ่ายที่จ้องจะสืบทอดอำนาจ เพราะบางทีอาจจะไม่ได้มองอย่างที่คนสนับสนุนผู้นำเผด็จการอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูว่า เพราะการตั้งพรรคของตัวเอง ใช้พลังดูดสารพัด บวกเข้ากับการลงพื้นที่และอัดโครงการเอาใจคนจนถี่ยิบ ย่อมตั้งความหวังที่จะกวาดเก็บคะแนนเสียงได้เป็นกอบเป็นกำ
ต้องไม่ลืมว่าครั้งหนึ่ง สุวิทย์ เมษินทรีย์ ว่าที่รองหัวหน้าพรรคเคยตอบคำถามนักข่าวที่มองว่าพลังประชารัฐจะได้เสียงถึงร้อยเสียงว่า น้อยไปหรือเปล่า นั่นเท่ากับว่า ทีมยุทธศาสตร์ของพรรคคำนวณตัวเลขจากการรวบรวมไพร่พลมาจากพรรคการเมืองต่าง ๆ แล้ว ต้องมีจำนวนมากพอที่จะทำให้ผู้นำเผด็จการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างสง่างาม
เหล่านี้เป็นคณิตศาสตร์ทางการเมือง ที่สามารถบวกลบคูณหารกันในวอร์รูมได้ แต่การต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง มีอีกหลายปัจจัยที่จะเป็นตัวชี้วัด เอาแค่ว่าช่วงของการคลายล็อก ยังสร้างความหวั่นไหวให้กับฝ่ายกุมอำนาจชนิดปากกล้าขาสั่น เห็นได้จากการฮึ่ม ๆ จะเอาผิด ทักษิณ ชินวัตร แล้วลามไปถึงการยุบพรรคเพื่อไทย คู่แข่งคนสำคัญ
จึงไม่อยากนึกว่าเมื่อมีการปลดล็อกทางการเมืองแล้ว จะมีภาพอะไรเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะการไล่บี้เอาผิดกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า สิ่งที่มีการใช้อำนาจเผด็จการกดทับไว้นั้น เมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มรูปแบบแล้ว จะมีใครกล้าปูดข้อมูลอะไรที่ทำให้ผู้มีอำนาจเสียคะแนนนิยมหรือไม่ ของพรรค์นี้ในทางการเมืองไม่มีใครวางใจได้
ด้วยเหตุนี้นี่ไงที่ทำให้ผู้นำเผด็จการจึงต้องดึงเอาอดีตแกนนำกปปส.มาเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล เพื่อที่จะได้ตอบโต้ทุกกระบวนท่าของฝ่ายตรงข้าม เห็นท่วงทำนองของการให้สัมภาษณ์นักข่าวเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองเป็นเบื้องต้น รวมไปถึงเรื่องเพลงประเทศกูมีแล้ว ก็พอจะเห็นเค้าลางข้างหน้าแล้วว่า ทีมงานโฆษกรัฐบาลจากนี้ไป จะเน้นเกมการเมืองแบบใด
ขณะที่ทางพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้หัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรคตามสูตรที่เคยบอกไว้ก่อนหน้า จึงทำให้ไม่มีอะไรตื่นเต้น แต่น่าจับตาตรงที่อดีตรัฐมนตรีของพรรคอย่าง ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โดดเข้ามารับตำแหน่งโฆษกพรรคด้วยตัวเอง การวางตัวบุคคลที่เคยผ่านงานการเมืองกับประชาธิปัตย์มาแล้วมาทำหน้าที่กระบอกเสียงของพรรค ย่อมเป็นเรื่องไม่ธรรมดา ไม่ใช่แค่จะคอยตอบโต้ประเด็นที่ถูกสาดโคลนเข้าใส่เท่านั้น อาจจะหมายถึงการเดินเกมรุกในด้านการสื่อสารของพรรคนายใหญ่ด้วยเช่นกัน