จีนกับตัวช่วย
ปีนี้ ใครก็รู้ดีว่าตลาดหุ้นจีนให้ผลตอบแทนการลงทุนเลวร้ายที่สุด เหตุเพราะสงครามการค้ากับสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ทำให้มีคำถามว่า จีนจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตที่ดีสุดในโลกหลายปีมาแล้วที่ระดับ 6.5-6.7% ได้หรือไม่ และตลาดหุ้นจีนจะดิ่งเหวมากน้อยแค่ไหน
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ปีนี้ ใครก็รู้ดีว่าตลาดหุ้นจีนให้ผลตอบแทนการลงทุนเลวร้ายที่สุด เหตุเพราะสงครามการค้ากับสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ทำให้มีคำถามว่า จีนจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตที่ดีสุดในโลกหลายปีมาแล้วที่ระดับ 6.5-6.7% ได้หรือไม่ และตลาดหุ้นจีนจะดิ่งเหวมากน้อยแค่ไหน
เมื่อวานนี้ตอนเช้า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศจีน (CSRC) หรือ ก.ล.ต.จีน ออกมาประกาศว่าจะเตรียมสนับสนุนให้บริษัทหลักทรัพย์จีนออกโครงการซื้อหุ้นคืน และทำธุรกรรมควบรวมกิจการและซื้อกิจการ (ทั้งฉันมิตรหรืออื่น ๆ) อีกทั้งเตรียมเพิ่มสภาพคล่องในตลาด พร้อมลดการแทรกแทรงตลาดทุนหากไม่จำเป็น
นอกจากนั้น ยังเพิ่มเติมว่าจะสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้นสำหรับนักลงทุน พร้อมระบุว่า CSRC จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนระยะยาวเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
ประกาศดังกล่าวแม้จะไม่มีผลเกิดขึ้นทันที แต่ในยามที่ค่าหยวนต่ำสุดในรอบหลายปีเทียบกับดอลลาร์ และมีแนวโน้มสำนักวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์เรื่องการลงทุนก็กำลังคิดจะปรับลดอัตราเติบโตของจีดีพีจีนลง ก็ถือเป็น “ขอนไม้ผุกลางลำธารเชี่ยว” ที่พอให้มีคนโดดเข้าเกาะ ยังผลให้ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดตลาด บวกสูงขึ้น 25.95 จุด หรือ 1.02% ปิดที่ 2,568.05 จุด ผลพลอยได้เกิดกับดัชนีตลาดหุ้นในเอเชียดีขึ้นระหว่างการซื้อขายระหว่างวันชั่วขณะหนึ่ง หยุดยั้งขาลงจนถึงเขตขายมากเกินได้ชั่วคราว
การยื่นมือเข้ามาของ ก.ล.ต.จีน จึงเป็น “มือที่มองเห็น” ในกลไกเศรษฐกิจแบบจีนที่หาเลียนแบบยาก เพียงแต่ในเชิงสัญลักษณ์ ถือว่าเป็นแค่การทำให้บรรยากาศ “หมี” ในตลาดหุ้นจีนที่ดำเนินมานานหลายเดือน พอมีความหวังมากขึ้นว่า ก.ล.ต.จีนยัง “เอาอยู่”
หากยังจำกันได้ไม่ลืม ปี 2559 ช่วงต้นปีเกิดภาวะฟองสบู่ตลาดหุ้นที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้พุ่งจากระดับ 2,400 จุดขึ้นไปเหนือ 5,000 จุดภายในเวลา 4 เดือน แล้วเกิดภาวะฟองสบู่แตก ชนิดที่ ก.ล.ต.จีน ไม่สามารถรับมือได้ ต้องยืมมือของธนาคารกลาง หรือ PBOC เข้ามาโอบอุ้มผ่านหลายช่องทาง ทำให้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศหดหายไปพอสมควร จนสามารถยับยั้งขาลงไม่ให้ดัชนีตลาดเซี่ยงไฮ้ต่ำกว่าแนวรับใต้ 3,000 จุด
ครั้งนี้ ก.ล.ต.จีน ดูจะมีประสบการณ์มากขึ้น ไม่ต้องยืมมือของธนาคารกลางมาช่วยล้างผลาญทุนสำรองเงินตรามากเหมือนเดิม แต่ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเองบางส่วน โดยการสร้างบรรยากาศที่เป็นบวกแทนอย่างแนบเนียนไร้รอยตะเข็บมากขึ้น
ที่สำคัญจีนยังมีตัวช่วยอีกหลายด้าน เช่นมาตรการปล่อยสินเชื่อที่ยืดหยุ่นของธนาคารพาณิชย์ มาตรการของบริษัทหลักทรัพย์ มาตรการจูงใจต่างชาติเข้ามาในตลาดทุนจีน และการกำกับค่าเงินหยวน
ทั้งหมดนี้ดำเนินควบคู่ไปกับการทำให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเดินหน้าไปได้ราบรื่น
หากย้อนดูข้อมูลย้อนหลังครึ่งแรกของปีนี้ จีนยังคงสามารถบริหารสถานการณ์ไว้ได้ดีพอสมควร
ครึ่งปีแรก 2561 GDP ของจีนเท่ากับ 41.9 ล้านล้านหยวน (ราว 6.28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 6.8% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 สามารถรักษาอัตราเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 6.7-6.9% ติดกันเป็นไตรมาสที่ 12 ที่สำคัญเป็นการเติบโตที่สมดุลในโครงสร้างพอสมควร เพราะหากแบ่งตามภาคธุรกิจ ภาคการเกษตรมีมูลค่าเท่ากับ 2.2 ล้านล้านหยวน (ราว 3.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 3.2% ภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่า 16.9 ล้านล้านหยวน (ราว 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 6.1% และภาคบริการมีมูลค่า 22.8 ล้านล้านหยวน (3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 7.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2560
สำหรับการค้าระหว่างประเทศที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในช่วง 20 ปีนี้ของจีน (แม้จะพยายามลดการพึ่งพาลง ก็ยังมีมูลค่าครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 14.1 ล้านล้านหยวน (ราว 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็น 33% ของ GDP มีการเติบโต 7.9% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 ภายในจำนวนดังกล่าว มูลค่าการส่งออกเท่ากับ 7.5 ล้านล้านหยวน (1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 4.9% ส่วนมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 6.6 ล้านล้านหยวน (ราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 11.5%
ตัวเลข GDP ที่มีเสถียรภาพ นอกจากตอกย้ำว่า เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตจากอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มพัฒนาแล้ว ยังสะท้อนการปรับเปลี่ยนแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีน ทำให้คุณภาพและประสิทธิภาพของการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยที่การค้ากับสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และอาเซียน ยังเป็นคู่ค้า 3 อันดับแรกของจีน ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือตัวเลขการค้ากับสหรัฐฯ ก่อนสงครามการค้าจะมีผลบังคับ พบว่าครึ่งปีแรก 2561 มูลค่าการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.1% ในจำนวนดังกล่าว จีนส่งออกต่อสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.6% ส่วนจีนนำเข้าจากสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.8% แต่ผลกระทบจากข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา น่าจะทำให้อัตราเติบโตของจีนส่งออกต่อสหรัฐอเมริกาลดลงในครึ่งหลังของปีและอาจต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า
ในด้านการลงทุน ครึ่งปีแรก 2561 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนอยู่ที่ 68,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.1% โดยในเขตทดลองการค้าเสรี 11 แห่งของจีน มีการจัดตั้งบริษัททุนต่างชาติใหม่ 4,281 แห่ง และได้ดึงดูดทุนต่างชาติ 8,664 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.6% ส่วนการลงทุนโดยตรงของจีนในต่างประเทศ (ODI) ของจีนอยู่ที่ 57,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.7%
ที่น่าสนใจอยู่ที่รูปแบบของการควบรวมและเข้าซื้อกิจการยังเป็นรูปแบบการลงทุนที่สำคัญ โดยครึ่งปีแรก 2561 วิสาหกิจจีนได้ควบรวมและเข้าซื้อกิจการ 140 โครงการใน 41 ประเทศ/เขตในทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่า 26,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนมากเป็นโครงการด้านธุรกิจการผลิตธุรกิจเหมืองแร่
ไม่เพียงเท่านั้น คนจีนยังคงร่ำรวยและมีกำลังซื้อแข็งแกร่ง จากตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองอยู่ที่ 19,770 หยวน (2,961 ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 5.8% และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทอยู่ที่ 7,142 หยวน (1,070 ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 6.8%
ตัวช่วยมากมายจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีมากสุดในโลกยามนี้ ผสมกับความแข็งแกร่งภายใน คือกันชนชั้นเลิศที่ทำให้เสียงของนักวิเคราะห์และนักวิชาการสารพัดสาขาจะส่งเสียงชัดเจนเกือบเป็นเอกฉันท์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐฯ จะแก้การขาดดุลด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้า และทำสงครามการค้ากับจีน เพราะการขาดดุลของสหรัฐฯ ไม่ได้มาจากจีนขายสินค้าราคาต่ำกว่า แต่เหตุที่อเมริกาขาดดุลหนักมาจากนโยบายกระตุ้นให้ประชาชนบริโภค โดยเฉพาะให้ซื้อรถซื้อบ้าน หวังกระตุ้นหรือรักษาการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ ผลตามมาคือการจับจ่ายซื้อสินค้าต่างประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ขาดดุล
เสียงแห่งสติปัญญาดังกล่าวนับวันจะดังขึ้นเรื่อย แม้จะไม่ระบาดรวดเร็วเหมือน “ประเทศกูมี” ก็ตาม