CPALL หนีตาย.!?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่แบงก์ต่าง ๆ หันมารุกบริการโมบายล์แบงกิ้งมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ที่ถือหุ้นโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL 100% อย่างมีนัยสำคัญ


สำนักข่าวรัชดา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่แบงก์ต่าง ๆ หันมารุกบริการโมบายล์แบงกิ้งมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ที่ถือหุ้นโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL 100% อย่างมีนัยสำคัญ

เคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นผู้ให้บริการรับชำระบิลต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าบัตรเครดิต ค่าผ่อนรถ ค่าบ้าน ฯลฯ ผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่น คิดค่าบริการ 15 บาทต่อบิล

โดยเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนไม่สูงนัก ลงทุนแค่ซอฟต์แวร์ แล้วเกาะพ่วงไปกับร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ปัจจุบันมีกว่า 1 หมื่นสาขา ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ทุกตรอกซอกซอย จึงสามารถสร้างรายได้ให้กับเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้เป็นกอบเป็นกำ โดยปี 2559 มีกำไรสุทธิ 869 ล้านบาท จากรายได้ 3,274 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 26.55% ขณะที่ปี 2560 มีกำไรสุทธิสูงถึง 1,001 จากรายได้ 3,677 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 27.22%

ถือว่าอัตรากำไรสุทธิสูงมากกกก..!

แน่นอนว่า เมื่อเคาน์เตอร์เซอร์วิส เติบโตดี ย่อมส่งผลดีต่อ CPALL ในฐานะบริษัทแม่ตามไปด้วย

แต่ช่วงเวลาฮันนีมูนมันจบลงแล้ว.! และเริ่มเข้าสู่ยุคถดถอยของเคาน์เตอร์เซอร์วิส หลังแบงก์พาณิชย์หันมาทำสงครามฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมบนโบายล์แบงกิ้ง

ค่ายสีฟ้า ธนาคารกรุงไทย เพิ่งเปิดตัว “กรุงไทย NEXT” แพลตฟอร์มใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิม ลงทุนดึง “ณเดชน์ คูกิมิยะ” นักแสดงหนุ่มชื่อดัง มาเป็นพรีเซ็นเตอร์แอป ภายใต้แนวคิด “ชีวิตครบ แอปเดียวอยู่” ด้านค่ายสีม่วง ธนาคารไทยพาณิชย์  ก็ยกเครื่องแอป SCB EASY ใหม่ ภายใต้แนวคิด “โมเมนต์ แบงกิ้ง” ส่วนแบงก์สีเหลือง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็ออกมาเปิดตัว #กรุงศรีอยู่นี่นะ ขณะที่แบงก์สีเขียว มี K PLUS เป็นตัวชูโรง

ส่งผลให้คนมาใช้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส ลดลง คาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนตั้งแต่ปีนี้ เป็นต้นไป

หากรายได้ของเคาน์เตอร์เซอร์วิส ลดลง คงสะเทือนต่อ CPALL ไม่น้อย

และไม่รู้ว่า เป็นเพราะ CPALL เห็นแนวโน้มที่ว่านี้หรือเปล่า บวกกับการเติบโตที่ถดถอยของตัว CPALL เอง ทำให้ช่วงที่ผ่านมาได้เห็น CPALL รุกขยายบริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

เริ่มตั้งแต่การประกาศเป็นตัวแทนเอเย่นต์แบงกิ้ง ซึ่งขณะนี้มีพันธมิตรเพียงรายเดียวคือแบงก์ออมสิน

ล่าสุดส่ง SPEED-D (สปีด-ดี) บริการขนส่งพัสดุด่วน เป็นความร่วมมือกันระหว่าง CPALL กับบริษัท ไดนามิค ลอจิสติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย CPALL ถือหุ้น 99.99% เพื่อหวังสร้างรายได้จากช่องทางใหม่ ๆ นำร่องให้บริการ 3,000 สาขาในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทั่วกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

จุดขายของ สปีด-ดี จะการันตีส่งถึงปลายทางภายใน 1 วัน หากส่งก่อน 21.00 น. จะรับสินค้าปลายทางได้ ในวันรุ่งขึ้น 18.00 น.

การรับ-ส่งพัสดุในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จะครอบคลุมตั้งแต่การซื้อกล่องหรือซองที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และลูกค้าสามารถเลือกรับพัสดุได้ทั้งที่บ้านหรือร้านเซเว่น อีเลฟเว่น โดยตรวจสอบสถานะพัสดุและติดตามด้วยระบบ tracking 24 ชั่วโมง

คาดว่าจะเข้ามาช่วยทดแทนรายได้ของเคาน์เตอร์เซอร์วิส ได้

ก่อนหน้านี้เซเว่น อีเลฟเว่น เพิ่งทดลองให้บริการร้านกาแฟแบบชนบทยามเช้า ตลอด 24 ชั่วโมง บางสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีบริการตั้งแต่กาแฟโบราณร้อน/เย็น โอเลี้ยง ชาดำเย็น ชาร้อน/ชาเย็น ปาท่องโก๋ที่ทอดกันสด ๆ ร้อน ๆ โจ๊กร้อน ๆ ข้าวเหนียวสังขยา ขนมจีน ไข่กระทะ ขนมปังสังขยา ฯลฯ

และแว่ว ๆ มาว่า เพิ่มบริการถ่ายเอกสารสีและเอกสารขาวดำ พร้อมบริการปริ๊นต์งานแบบเร่งด่วนตลอด 24 ชั่วโมง โดยทดลองให้บริการบางสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย

นอกจากนี้ยังเปิดบริการรับซักผ้า อบ และรีด รวมถึงรับซักแห้งแบบระยะเวลาเร่งด่วนตลอด 24 ชั่วโมง และบริการรับ-ส่งผ้าถึงบ้าน หากเจ้าของยังไม่มารับผ้าภายใน 3 วัน ระบบจะส่ง SMS แจ้งเตือนไปยังเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้มารับผ้าที่ซักไว้

ขอโทษเถอะครับ..จะไม่ให้คนอื่นเขาหากินเลยหรือไง..!?

ประเดิมเปิดให้บริการแล้วที่สาขาสีบุญเรือง 2, สาขาสีลมซอย 9, สาขาอโศก, สาขาดินแดง, และสาขาปากซอยวิภาวดี 64 คิดค่าบริการเป็นรายตัว มีหลากหลายราคาให้เลือก

เรียกได้ว่า เซเว่น อีเลฟเว่น มีสินค้าและบริการทุกอย่างจริง ๆ (งานนี้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยมีหวังตายเรียบ)

ปรากฏการณ์ดิ้นหนีตายของ CPALL ครั้งนี้ อาจตอกย้ำว่า ธุรกิจเคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่เคยสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำอาจเข้าสู่ยุคถดถอยแล้วก็เป็นได้

…อิ อิ อิ…

Back to top button