ตัวประกัน

ในภาพยนตร์ เวลาที่มีการจับคนเป็นตัวประกัน จะมีเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้เสมอ คือ เพื่อเรียกค่าไถ่ กับเพื่อขู่ให้ถอยเมื่อจวนตัว


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ในภาพยนตร์ เวลาที่มีการจับคนเป็นตัวประกัน จะมีเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้เสมอ คือ เพื่อเรียกค่าไถ่ กับเพื่อขู่ให้ถอยเมื่อจวนตัว

กรณีล่าสุดของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จับตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นตัวประกัน น่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่าอย่างแรก ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ จะมีขึ้น

คนเพี้ยนสุดเจ้าเล่ห์อย่างทรัมป์พยายามกำจัดจุดอ่อนของตนเอง ออกมาประกาศอย่างจนแต้ม ท้านักลงทุนให้เลือกพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้ง 6 พฤศจิกายน ถ้าอยากให้หุ้นตก

ทรัมป์ทวีตข้อความแสดงอาการวิตกจริตซ้ำซาก เตือนนักลงทุนว่า ถ้าพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งกลางเทอมในวันที่ 6 พฤศจิกายน ก็จะส่งผลให้ตลาดหุ้นทรุดตัวลง

เขาระบุว่า “ตลาดหุ้นได้พุ่งขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ขณะนี้กำลังชะลอตัวลง โดยผู้คนกำลังรอดูผลการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งถ้าคุณอยากให้หุ้นของคุณตก ผมก็ขอแนะนำให้คุณลงคะแนนเสียงเลือกพรรคเดโมแครต เพราะพวกเขาชอบรูปแบบทางการเงินของเวเนซุเอลา โดยเก็บภาษีสูง และเปิดชายแดน”

ข้อความเท็จดังกล่าว มีลักษณะจับตลาดหุ้นเป็นตัวประกันชัดเจน ผิดจารีตที่นักการเมืองในทำเนียบขาวจะลังเลใจที่จะพูดถึงตลาดหุ้น เพราะถือว่าเป็นการทุบหรือสร้างราคาได้

ที่น่าสนใจก็ตรงที่คำกล่าวของทรัมป์ สอดคล้องกับคำเตือนก่อนหน้านี้ของนายมาร์ค โมเบียส ประธานกรรมการบริหาร เทมเพิลตัน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ กรุ๊ป และผู้ก่อตั้งบริษัท โมเบียส แคปิตัล พาร์ทเนอร์ส ที่ระบุว่า ตลาดหุ้นจะทรุดตัวลงมากขึ้น หากพรรครีพับลิกันพ่ายแพ้การเลือกตั้งกลางเทอมในสัปดาห์หน้า

ถ้าหากพรรคเดโมแครตสามารถเข้าควบคุมสภาคองเกรส ผมเชื่อว่านี่จะเป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ตลาดมีการปรับฐานรุนแรงขึ้น” นายโมเบียส กล่าว

อดีตพ่อมดที่ปัจจุบันเขี้ยวเล็บกร่อนลงมาก ระบุว่า สัญญาณทางเทคนิคบ่งชี้ภาวะซบเซาในตลาด ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 6% ในเดือนนี้

อีกมุมมองหนึ่ง นักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทเปิดเผยว่า การทรุดตัวของตลาดหุ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สาเหตุมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ และการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยว

การจับตลาดหุ้นเป็นตัวประกันของนักการเมือง หรือคนที่นั่งในตำแหน่งกำกับนโยบายประเทศ ไม่ใช่เรื่องแปลก มีมานานแล้ว

เวลาที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น จะมีคนสมอ้างว่ารัฐบาลทำเศรษฐกิจดี ตลาดหุ้นเลยดี แล้วก็พยายามกลบเกลื่อนเรื่องตลาดเป็นฟองสบู่ เพราะราคาหุ้นวิ่งเกินจริง แม้จะมีคนทักท้วงก็ทำวางเฉย

บางคนฉกฉวยโอกาสแวะเยี่ยมตลาดหุ้นให้เป็นข่าวโดยเจตนา

เวลาหุ้นเป็นขาลง ก็จะมีคนออกมาบอกว่าเป็นพวกไม่หวังดีต่อประเทศชาติ จากความเห็นแก่ตัว และสายตาสั้น พร้อมกับแนะอีกว่าราคาหุ้นต่ำเกินพื้นฐานเกินสมควร

ผู้บริหารของตลาดหุ้นทุกแห่งทั่วโลกจึงพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้มี “ระยะห่าง” จากนักการเมือง หรือผู้มีอำนาจกำกับนโยบายเกี่ยวกับตลาดหุ้น เพื่อเลี่ยงหลบฐานะ “ตัวประกัน” ให้ได้เท่าที่จะทำได้

โดยทฤษฎี การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นและดัชนี จะสอดคล้องกับแรงซื้อและแรงขายเป็นสำคัญ แต่อย่างที่ทราบกันดี ในทางปฏิบัติ ความแปรปรวนของราคาและดัชนีตลาด เชื่อมโยงกับหลากหลายปัจจัย ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ บางครั้งปัจจัยเสี่ยงก็ยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนแทรกอยู่ด้วย

พื้นฐานของราคาหุ้นที่อาจจะไม่สอดคล้องกับสัญญาณทางเทคนิค หรือข่าวสารทั้งจริงหรือลวงที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคา เป็นรายละเอียดที่บ่งชี้ว่าทิศทางของตลาดหุ้นไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีอย่างทื่อ ๆ แต่บางครั้งมีการสร้างขึ้นมาจากคนที่เกี่ยวข้อง

กรณีของการเมืองกับตลาดหุ้น ที่นักการเมืองชอบจับเป็นตัวประกันนั้น สำหรับคนที่มีประสบการณ์ลงทุนค่อนข้างยาวนาน ย่อมสัมผัสและรู้ดีว่าเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่สัจจะ หากเป็นมายามากกว่า เกิดขึ้น แล้วก็ผ่านไป

กรณีของทรัมป์ก็เช่นกัน คำเตือนของเขามีผลน้อยต่อตลาด ตราบใดที่เขายังออกนโยบายที่บั่นทอนตนเองลงไปเรื่อย ๆ อย่างไร้วิสัยทัศน์ ไม่ว่าพรรคไหนจะชนะการเลือกตั้งของสหรัฐฯ วันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ก็คงไม่มีผลต่อชะตากรรมของค่าดอลลาร์ ตลาดหุ้น หรือสงครามการค้ามากนัก

ความพยายามใช้เศรษฐกิจมารับใช้ผลประโยชน์ชั่วครั้งชั่วคราวทางการเมืองเช่นที่ทรัมป์กระทำ ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย

Back to top button