พาราสาวะถีอรชุน
ใครที่ติดตามรายการพิเศษสนทนาในหัวข้อ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย ซึ่งจัดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยบีพีเอสกับบีบีซีไทย ทำให้เห็นถึงมุมมองของนักวิชาการต่างชาติและไทยที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการกันอยู่ รวมถึงการรับสภาพของตัวแทนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่าง เจษฎ์ โทณะวณิก ต่อความโปร่งใสและชอบธรรมของคณะกรรมาธิการชุดนี้ด้วย
ใครที่ติดตามรายการพิเศษสนทนาในหัวข้อ 800 ปี แมกนา คาร์ตา 83 ปี ประชาธิปไตยไทย ซึ่งจัดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยบีพีเอสกับบีบีซีไทย ทำให้เห็นถึงมุมมองของนักวิชาการต่างชาติและไทยที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการกันอยู่ รวมถึงการรับสภาพของตัวแทนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่าง เจษฎ์ โทณะวณิก ต่อความโปร่งใสและชอบธรรมของคณะกรรมาธิการชุดนี้ด้วย
ในมุมของนักวิชาการต่างชาติ ดอกเตอร์ลี โจนส์ จากคณะรัฐศาสตร์ ควีนแมรี่ มหาวิทยาลัยลอนดอน มองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ร่างขึ้นเพื่อการคงอยู่ของประชาธิปไตย แต่กลับทำให้หมดสภาพและมีจุดประสงค์ในการจำกัดเจตจำนงของประชาชน โดยเห็นได้จากการให้นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง พรรคที่ได้รับความนิยมจะถูกลดที่นั่งในสภา ขณะที่พรรคที่ไม่ได้รับความนิยมจะได้ที่นั่งมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังจะมีกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทรกแซงการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตุลาการ กลุ่มข้าราชการ องค์กรกำกับจริยธรรม จะมีอำนาจแทรกแซงกระบวนการทางการเมือง ฉะนั้นนโยบายหรือสถาบันที่ไม่ได้สนับสนุนชนชั้นนำจะถูกกำจัด ซึ่งแสดงว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ทำให้ดอกเตอร์ลี โจนส์ ไม่คิดว่ามีเหตุผลอะไรที่ประชาชนชาวไทยต้องรักษารัฐธรรมนูญที่เนื้อหาส่วนใหญ่เพิกเฉยประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ขณะที่ดอกเตอร์คาร์โล โบนูระ จากคณะรัฐศาสตร์ School of Oriental and African Studies หรือ SOAS เห็นว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีความซับซ้อนมากและมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหลายอย่าง รวมทั้งการที่ตัวแทนจากสปช.สามารถเสนอมาตราที่ต้องการถอดออกจากรัฐธรรมนูญได้ จึงไม่เป็นประชาธิปไตย และแม้จะมีการทำประชามติ แต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่โปร่งใสอย่างที่ควรจะเป็น
ด้านนักวิชาการไทยอย่าง ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาฯ มองว่า หลักการโดยรวมในรัฐธรรมนูญยังไม่สมดุล ไม่ครอบคลุมถึงประชากรส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่โปร่งใส หากไม่มีการแก้ไขและทำให้รัฐธรรมนูญนี้สมดุล ประเทศไทยจะประสบปัญหามากขึ้น
นอกจากนั้น อาจารย์ฐิตินันท์เห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมาไม่ได้คงไว้ซึ่งหลักการเบื้องต้นของประชาธิปไตย หลักนิติธรรม ซึ่งหมายความว่าทุกคนต้องเท่าเทียมกันโดยกฎหมายและการได้รับการยอมรับให้ปกครอง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของไทยต้องเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งจนทำให้เมืองไทยกลายสภาพเป็นสุสานรัฐธรรมนูญ
ถูกยำขนาดนี้เจษฎ์ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการยกร่างฯ จึงต้องยอมรับสภาพว่า ในภาพรวมกรรมาธิการยกร่างทั้ง 36 คนยังไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ การที่ระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังไม่มีความชอบธรรมเป็นคำพูดที่มีเหตุผล แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถหาทางออกได้ จึงหาความชอบธรรมด้วยการทำประชามติ ทั้งนี้ รัฐบาลไม่เคยชี้นำหรือออกคำสั่งว่าควรร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่ความที่เป็นฉบับชั่วคราว รัฐบาลมีสิทธิแสดงความเห็นและได้แสดงมาแล้ว 110 เรื่อง คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะรับฟังความคิดเห็นเหล่านี้
เป็นเรื่องที่ไม่ได้เหนือความคาดหมายต่อการทำประชามติเพราะอย่างไรเสียก็ต้องอาศัยเสียงของประชาชนมาช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ที่น่าแปลกใจคือ ความเห็นกว่าร้อยเรื่องของรัฐบาลตามที่เจษฎ์กล่าวอ้างนั้น คงไม่มีความหมายเพราะอย่างไรเสียก็ถือเป็นพวกเดียวกัน มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หัวใจสำคัญที่คนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศอยากเห็นคือ กระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากกว่า
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะแม้แต่ว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากสปช.ไปแล้ว และเข้าสู่กระบวนการทำประชามติที่หมายความว่า จะต้องมีการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ช่องทางนี้ก็ถูกปิดประตูตายไปแล้วจากคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนหน้านี้ที่บอกว่า ไม่มีทางที่จะเปิดพื้นที่เพื่อให้กลุ่มคนที่ไม่หวังดีมาใช้ถล่มรัฐบาลคสช.เด็ดขาด
เมื่อมีกับดักเรื่องความมั่นคงมาเป็นตัวถ่วง การที่จะให้รัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ นำไปสู่การถกเถียงของประชาชนเกิดขึ้นไม่ได้ แล้วจะหวังให้เกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วนได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า ท้ายที่สุดย่อมหนีไม่พ้นที่จะให้สปช.ต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนำไปสู่การเปิดประเด็นให้ผู้มีอำนาจถูกถล่มอีก
วันนี้จึงเกิดคำถามซ้ำซากเรื่องมีใบสั่งให้สปช.ดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ ล่าสุดบิ๊กตู่ก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำเช่นนั้น เพราะสมาชิกสปช.มีที่มาหลากหลายทุกคนมีความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งคงหาคนเชื่อตามนั้นน้อยเต็มที อย่างไรก็ดี องค์รัฏฐาธิปัตย์ปฏิเสธในเรื่องที่จะปรับเปลี่ยนโรดแม็พตามที่คสช.ได้กำหนดไว้ นั่นเป็นเพราะกระบวนการของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่กำลังจะแก้ไข ได้ระบุชัดแล้วว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะต้องทำอย่างไร
แต่พอได้ฟังเจษฎ์ขยายความคิดผ่านเวทีข้างต้น ยิ่งทำให้เห็นทิศทางที่จะได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติยาวไกลออกไป เพราะปัญหามันอยู่ที่มุมมองของผู้มีอำนาจ ที่เห็นว่าปัญหาที่เกิดในไทยคือคนที่เกิดมาไม่ใช่ชนชั้นนำพยายามที่จะเป็นให้ได้ และนั่นคือส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชั่น เพราะหากไม่ทุจริตก็ไม่มีทางเป็นชนชั้นนำได้เพราะไม่มียศ
ถ้าชนชั้นนำเป็นชนชั้นนำและพยายามให้พื้นที่ทุกฝ่าย คุยกับคนทุกกลุ่มก็จะช่วยคลี่คลายได้ ทางหนึ่งที่ทำได้คือพักเรื่องรัฐธรรมนูญเอาไว้และหาทางออก ซึ่งรัฐบาลทหารคงหาไม่เจอ ชนชั้นนำกับประชาชนต้องช่วยกันหาทางออกซึ่งอาจจะใช้เวลามากกว่า 1 ปี แล้วเรื่องรัฐธรรมนูญจึงค่อยกลับมา ซึ่งคงต้องย้อนกลับไปถามเจษฎ์ว่า ที่ผ่านมาชนชั้นนำมองเห็นหัวประชาชนหรือเปล่า