เสาหลักปักเลนพลวัต2015
จดหมายตอบจากเลขาธิการก.ล.ต. นายระพี สุจริตกุล ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ถึงหนึ่งในผู้ที่อ้างตนเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย (ตามเอกสารประกอบ) ของบริษัท เนชั่น มัลติ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG มีความชัดเจนแล้วว่า จุดยืนของผู้กำหนดและรักษากติกาของบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน เป็นเช่นไร
จดหมายตอบจากเลขาธิการก.ล.ต. นายระพี สุจริตกุล ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ถึงหนึ่งในผู้ที่อ้างตนเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย (ตามเอกสารประกอบ) ของบริษัท เนชั่น มัลติ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG มีความชัดเจนแล้วว่า จุดยืนของผู้กำหนดและรักษากติกาของบริษัทมหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน เป็นเช่นไร
โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยธรรมาภิบาลของผู้บริหาร กรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียน
หนังสือตอบดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่นายระพีไม่ยอมตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ว่าด้วยกรณีการประชุมผู้ถือหุ้นอันอื้อฉาวของบริษัทดังกล่าวในวันที่ 29 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา และผู้ถือหุ้นรายย่อยกลุ่มดังกล่าว คำตอบดังกล่าว บอกชัดว่า ก.ล.ต. พร้อมจะลอยตัว ปัดสวะและโยนภาระการชี้ขาดเรื่องดังกล่าวไปให้หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ ผู้รักษาการตามกฎหมายบริษัทมหาชนแทน โดยอ้างว่า ไม่ใช่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่ตนดูแลอยู่
เหตุผลที่อธิบายว่า ”เนื่องจากการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามบทบัญญัติในมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.มหาชนฯ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานจึงได้จัดส่งข้อมูลให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว” อธิบายได้ชัดเจนว่า นับจากนี้ไป ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนยากจะพึ่งพา ก.ล.ต.เป็นเสาหลักในการกำกับดูแลบริษัทมหาชนจดทะเบียนได้อีกแล้ว เพราะก.ล.ต. พึงพอใจที่จะทำตัวเป็น ”หัวเต่า” เพื่อปกป้องฐานะของตัวเองในท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้น โดยไม่เปลืองตัวไปกับปัญหา
เสาหลักกลายเป็นเสาหลักที่ปักอยู่ในเลน เสาหลักนั้นย่อมพร้อมที่จะเคลื่อนคล้อยเอาตัวรอดท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
หากย้อนรอยเรื่องความขัดแย้งกรณีของ NMG จะเห็นชัดเจนว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย ที่รวมถึงนางสาวประทุม เรืองสุด (เจ้าของจดหมายที่ยื่นต่อ ก.ล.ต.) ซึ่งมีจำนวนหุ้นนับรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด ได้เคยเรียกร้องต่อกลุ่มนายสุทธิชัย หยุ่น มาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 เดือนมีนาคมแล้ว โดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 เข้าร่วมลงชื่อกันขอให้คณะกรรมการของบริษัทเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นภายใน 1 เดือน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ
ครั้งนั้น สื่อในเครือเดอะเนชั่นของ NMG ได้นำเสนอข่าวบิดเบือนว่า กลุ่มคนดังกล่าวไม่มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทในเครือเนชั่นทั้ง 3 บริษัทแต่อย่างใด และตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังการเรียกร้องในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับกลุ่มนายสุทธิชัย หยุ่น ได้ปฏิเสธการดำรงอยู่ของผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้น
คำชี้แจงของ ก.ล.ต. โดยอ้างถึง ”ข้อมูลที่บริษัทเผยแพร่ผ่านข่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ” ซึ่งเปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทไม่ได้รับหนังสือขอให้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นจากกลุ่มผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด โดยที่บริษัทได้รับทราบข้อร้องเรียนของกลุ่มผู้ถือหุ้นดังกล่าวจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น จึงเป็นการสรุปที่ง่ายดายและไม่รอบด้าน ทั้งที่การทำหนังสือเรียกร้องของกุล่มผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้ กระทำกันอย่างเปิดเผย และลงข่าวเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปนานนับเดือนแล้ว ก่อนที่จะมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นอันอื้อฉาวในปลายเดือนเมษายน
ท่าทีดังกล่าวของกลุ่มนายสุทธิชัย หยุ่น ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นการช่วงชิงหาประโยชน์จากแง่มุมของตนเอง แต่ ก.ล.ต.ในฐานะผู้กำกับดูแลกติกา กลับเลือกเข้าข้างคนที่ละเมิดกติกาอย่างมีเจตนา เพียงเพราะต้องการพาตัวเองให้พ้นจากการแปดเปื้อนหรือถูกโจมตีจากคู่กรณีที่มีสื่อทางโทรทัศน์อยู่ในกำมือทั้งสองฝั่งที่ขัดแย้งกัน เป็นเรื่องของการ “ละเลยต่อหน้าที่” อย่างชัดเจน
หรือ ก.ล.ต. จะชี้ช่องให้คนเข้าใจว่า การกระทำของกลุ่มนายสุทธิชัย หยุ่น และพวกนั้น เป็นต้นแบบของความชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ หากเพียงเพราะผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารที่คุมอำนาจในบอร์ดต้องการแสดงท่าทีว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นบางกลุ่มนั้น ”ไม่เคยมีตัวตน” ก็ทำได้เลยอย่างคล่องตัว ไม่มีความผิดอะไรเลย
ปรากฏการณ์นี้ จะเป็นรอยด่างครั้งสำคัญ ที่เลขา ก.ล.ต. ระพี สุจริตกุล ลงมือกระทำเป็นผลงานโบว์แดงในวันนี้ และสืบทอดในวันข้างหน้า