Elite เสื่อมหนีตรวจสอบ
ดูเหมือนผมจะเป็นเสียงข้างน้อยในข้างน้อย ที่เห็นใจกรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการองค์การมหาชน ชิงลาออกหนีการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ขณะที่กระแสสังคมไล่บี้ ไม่ให้ใช้ ม.44 แก้กฎหมาย หรือชะลอการบังคับใช้ เพื่อให้กรรมการเหล่านี้ได้อยู่ต่อ
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
ดูเหมือนผมจะเป็นเสียงข้างน้อยในข้างน้อย ที่เห็นใจกรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการองค์การมหาชน ชิงลาออกหนีการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ขณะที่กระแสสังคมไล่บี้ ไม่ให้ใช้ ม.44 แก้กฎหมาย หรือชะลอการบังคับใช้ เพื่อให้กรรมการเหล่านี้ได้อยู่ต่อ
ย้ำอีกที การบังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ทั้งบุตรและคู่สมรส รวมถึงไม่จดทะเบียน แจ้งผิดอาจติดคุก เป็นมาตรการจู้จี้จุกจิก และเป็นแค่ภาพลวงตา ให้เห็นว่าประเทศนี้มี “ยาแรง” ไว้ปราบโกง (รวมทั้งให้เห็นว่า ป.ป.ช.มีงานทำ) ทั้งที่ความเป็นจริง แทบไม่ช่วยอะไร ที่เอาผิดกันมากมาย โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่น ก็แค่ข้อหาแจ้งเท็จ จงใจไม่แจ้ง แต่ไม่ได้พิสูจน์ทุจริตอะไร ในขณะที่คนโกงจำนวนมาก ไม่สามารถจับได้
มันจึงเป็นการเอาเป็นเอาตายกับมาตรการไร้สาระ ที่มือกฎหมายคณะรัฐประหารสร้างขึ้น เพื่อสร้างภาพว่าเห็นไหม เราปราบโกงจริงจังแล้วไง เพิ่มข้อห้ามข้อกำหนดมากมาย เพิ่มอำนาจให้องค์กรเทวดาทั้งหลาย ที่จะมาไล่บี้เอาผิดนักการเมือง โดยสังคมตื้นเขินก็ชอบใจ ไม่ทันคิดว่าเทวดาไม่มีจริง มีแต่พวกที่ตั้งกันเองจากรัฐประหารและคนชั้นนำแล้วอ้างว่าเป็นคนดี
ทัศนะประชาธิปไตยจึงไม่สนับสนุน “ยาแรง” บ้าจี้ เพิ่มอำนาจ สร้างภาพขึงขัง แต่ต้องสร้างมาตรการให้สังคมตรวจสอบ เช่น เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การจัดซื้อจัดจ้าง การให้อนุญาตต่าง ๆ รวมถึงกระจายอำนาจตัดสินใจ ให้ท้องถิ่นหรือระดับล่างถ่วงดุลอำนาจระดับสูงได้
การแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ที่จริงควรเป็นแค่ “มารยาท” ของผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีโทษอาญาก็ได้ เพราะถ้าถูกจับโกหก จะแบกหน้าอยู่ในตำแหน่งได้อย่างไร ถ้าการปกปิดนั้นส่อว่าทุจริต ป.ป.ช.ค่อยไล่บี้ แต่มาตรการที่ใช้อยู่คือกวาดหมด กสทช. กกพ. องค์กรอิสระ มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายเงินเดือนหลายแสน กับกรรมการสภามหาวิทยาลัยได้เบี้ยประชุมสองพัน ต้องแจ้งบัญชีเสมอหน้ากัน
อย่างไรก็ตาม การที่สังคมไล่บี้ ไม่ยอมให้มีการผ่อนผัน ก็เข้าใจได้ สังคมไทยมาถึงจุดที่ประชาชนทั่วไปเบื่อหน่าย elite หรืออภิสิทธิ์ชน ทั้งในระบบราชการ องค์กรสถาบันของรัฐ ที่เมื่อก่อนเคยยกย่องกันว่าสูงส่ง
ไม่ว่าจะเป็นสถาบันมหาวิทยาลัย หรือตุลาการ ที่นอกจาก “บ้านพักศาล” ยังจะออกกฎหมายให้ได้เบี้ยประชุม จนเกิดดราม่าว่าเงินเดือนสูง เงินประจำตำแหน่งสูง มีค่าตอบแทนรถประจำตำแหน่ง มีบ้านพักสวย แล้วยังต้องได้เบี้ยประชุมอีกหรือไร
สถาบันมหาวิทยาลัย ในอดีตเคยเป็นที่ยกย่องของสังคม เป็นสถาบันวิชาการ เมื่อก่อนอยู่บนหอคอยงาช้าง ต่อมาก็มีบทบาททางสังคม แต่ระยะหลังก็ตกต่ำในสายตาประชาชน เพราะกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ ทำมาค้าหลักสูตร ขายสัมมนา อบรม รับจ้างทำวิจัยให้เอกชน ฯลฯ ออกนอกระบบก็ตั้งเงินเดือนค่าตอบแทนหลายแสน อธิการบดีบางคนแจ้งบัญชีตอนเป็น สนช.มีรายได้ปีละ 11 ล้าน ชาวบ้านตาค้างไปตาม ๆ กัน
พูดง่าย ๆ คืออธิการบดี คณบดี นายกสภา กรรมการสภามหาวิทยาลัย ในสายตาสังคมเป็น elite พอพวกท่านลาออก “หนีการตรวจสอบ” ไม่ยอมให้ตรวจบัญชีทรัพย์สินเหมือนนายกเทศมนตรีตำบลคอกนา กระแสสังคมก็รับไม่ได้ ไม่ว่าอ้างเหตุผลอย่างไรคนก็ไม่ฟัง
ซ้ำร้าย ผู้เฒ่ามีชัยดันลาออก ทั้งที่เป็นประธาน กรธ. ร่างรัฐธรรมนูญเอง ร่างกฎหมาย ป.ป.ช.เอง กลับมาหนีการตรวจสอบเสียเอง ก็ไม่รู้จะชี้แจงชาวบ้านอย่างไร (อธิบายอย่างผมก็ไม่ได้)
ไม่ว่าวิษณุจะใช้อภินิหารทางกฎหมายอย่างไร ก็โดนด่าอยู่ดี ดาบนี้คืนสนองตัวเอง