พาราสาวะถี
เชื่อแน่ว่าหลายคนที่ได้ฟังคำอธิบายของ วิษณุ เครืองาม เกี่ยวกับความพยายามในการหารือกับป.ป.ช.เพื่อแก้ไขเกี่ยวกับประกาศป.ป.ช.ฉบับล่าสุดเรื่องการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน อันเป็นเหตุให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยลาออกจากตำแหน่งกันจำนวนมาก เพราะไม่อยากยื่นบัญชีทรัพย์สินดังกล่าว ทำให้คิดกันว่า ทำไมเหล่าคนเก่ง คนดีทั้งหลายถึงกลัวที่จะต้องแสดงความโปร่งใส
อรชุน
เชื่อแน่ว่าหลายคนที่ได้ฟังคำอธิบายของ วิษณุ เครืองาม เกี่ยวกับความพยายามในการหารือกับป.ป.ช.เพื่อแก้ไขเกี่ยวกับประกาศป.ป.ช.ฉบับล่าสุดเรื่องการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน อันเป็นเหตุให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยลาออกจากตำแหน่งกันจำนวนมาก เพราะไม่อยากยื่นบัญชีทรัพย์สินดังกล่าว ทำให้คิดกันว่า ทำไมเหล่าคนเก่ง คนดีทั้งหลายถึงกลัวที่จะต้องแสดงความโปร่งใส
วิษณุอธิบายว่า คนที่จะลาออกส่วนหนึ่งเพราะจะครบวาระอยู่แล้ว เช่น มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่จะครบวาระในเดือนมกราคมปีหน้าและกลับมาเป็นไม่ได้อีก เลยเห็นว่าประกาศนี้จะมีผลในวันที่ 2 ธันวาคม จึงบอกว่าจะอยู่ไปทำไมให้ครบวาระแล้วจะต้องยื่น ออกไปเสียแต่ตอนนี้เพื่อไม่ต้องไปยุ่งกับประกาศที่จะมีผลกระทบในวันที่ 2 ธันวาคม คนที่คิดอย่างนี้มีเยอะ
ก่อนจะบอกต่อว่า กรณีของนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นไม่คิดว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับลับลมคมใน หรือไม่ต้องการเปิดเผย แต่ทุกคนมีปัญหาเดียวคือ ความรำคาญ จุกจิก ยุ่งยาก เหมือนกับที่หลายครั้งตนได้เชิญคนเข้ามาเป็นสนช.หรือรัฐมนตรี เมื่อทราบว่าจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินหลายคนจึงปฏิเสธไป ไม่ใช่ว่ากลัวความผิดจากการทุจริต แต่จุกจิก รำคาญ และกลัวผิดพลาด ทั้งยังมีคนจับตาดูอยู่ จึงไม่อยากเข้ามายุ่ง
เหตุผลที่พอจะรับฟังได้ แต่ก็ย้อนกลับไปทำให้เห็นความพยายามในการเขียนกฎหมายที่จะทำให้กระบวนการแจ้งและแสดงบัญชีทรัพย์สินจากที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีเงื่อนไขอันซับซ้อน ทำให้มีขั้นมีตอนที่ไม่ต้องเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบทั้งหมดหรือเงื่อนปมอื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบว่าทำไมนักการเมืองที่ถูกตราหน้าว่าชั่วและเลวนั้น ไม่เห็นมีใครกลัวที่จะต้องปฏิบัติตามต่อเรื่องนี้แม้แต่น้อย
ด้วยเหตุนี้ ความเห็นของ มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจึงน่ารับฟังและท้าทายกระบวนการคิดและวิธีดำเนินการของรัฐบาลเผด็จการเป็นอย่างยิ่ง ความพยายามในการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่กำหนดมาตรการเรียกร้องความร่วมมือจากประชาชน ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ทำกันมาตลอดในช่วงหลายปีจะสูญเปล่า
ประชาชนจะเริ่มคิดว่า ชนชั้นสูง คนมีอำนาจ คนร่ำรวย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อออกกติกาแล้ว พอถึงเวลาไม่ชอบก็จะไม่ยอมทำ แล้วอย่างนี้จะไปให้ความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันยังไง อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว และสิ่งที่จะตามมาก็คือคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติ ก็จะเลือกทำในสิ่งที่เขาคิด เลือกทำในสิ่งที่มีโอกาส ตรงนั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก นี่แหละความย้อนแย้งที่เราพบเห็นบ่อยครั้งขององคาพยพเผด็จการคณะนี้
ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองเวลานี้คึกคักเป็นพิเศษ ประชาธิปัตย์กระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเป็นไปอย่างเรียบร้อยและตามคาด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชนะการหยั่งเสียงในวันเสาร์ก่อนที่วันอาทิตย์ที่ประชุมใหญ่ของพรรคจะมีมติเป็นเอกฉันท์รับรองให้หล่อใหญ่ได้กุมบังเหียนพรรคเก่าแก่ต่อไป
การเลือกตั้งครั้งนี้น่าสนใจตรงที่คะแนนหยั่งเสียงของ วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่หายใจรดต้นคออภิสิทธิ์ แสดงให้เห็นถึงพลังภายในของฝ่ายที่หนุนหลังอดีตส.ส.พิษณุโลกรายนี้อยู่ไม่น้อย แน่นอนว่า หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ แม้เจ้าตัวประกาศจะร่วมงานกับทีมบริหารพรรคต่อไป แต่คงมีอีกหลายเรื่องที่ต้องไปเคลียร์ใจ ในขณะเดียวกันแว่วมาว่าอาจจะต้องเช็กบิลและสั่งสอนคนบางคนบางพวกอยู่เหมือนกัน
ที่ดีใจกว่าใครเพื่อนคงเป็น อลงกรณ์ พลบุตร แม้จะได้รับคะแนนเพียงแค่สองพันเศษ แต่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะเป้าประสงค์ของเสี่ยจ้อนคือการไม่ต้องระหกระเหินไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น ที่ตัวเองก็ไม่แฮปปี้และอยากจะไป ดังนั้น วิธีการนี้จึงทำให้กลับเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคอย่างสง่างาม มิหนำซ้ำ ยังได้กลับมาเป็นรองหัวหน้าพรรคอีกคำรบ
เรียกได้ว่าจบกันแบบที่ควรจะเป็น ส่วนจะเกิดแรงกระเพื่อมอะไรตามมาอีกหรือไม่ ดูแล้วคงจะไม่มีอะไรน่ากังวล ที่น่าห่วงมากกว่าน่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญอย่างเพื่อไทย ที่เวลานี้ มีอดีตรัฐมนตรี อดีตส.ส.จำนวนไม่น้อย ทยอยไขก๊อกไปร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติหรือทษช. ถ้าเป็นไปเพราะเหตุผลสำคัญคืออย่างไรก็เป็นพรรคเครือข่ายเดียวกันคงไม่มีอะไร
แต่หากเป็นไปเพราะไม่ชอบใจ ไม่พอใจต่อการที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มาเป็นประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งของพรรค ตรงนี้แหละที่น่าคิด ลำพังอดีตส.ส.อีสานหรือจากภาคอื่นไปก็ยังไม่น่าคิดมากสำหรับเจ๊หน่อย แต่กับอดีตส.ส.กทม.หลายรายที่ดูจากชื่อชั้นแล้วไม่ธรรมดา นี่ต่างหากที่น่าขีดเส้นใต้
จากรายชื่อไม่ว่าจะเป็น วิชาญ มีนชัยนันท์, พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ, ธีรรัตน์ สำเร็จวณิชย์ คนเหล่านี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะถือเป็นกลุ่มอดีตส.ส.ที่มีฐานเสียงเหนียวแน่นในพื้นที่เมืองหลวง แต่หากยึดตามสิ่งที่หัวหน้าทีมกทม.บอก เป็นเรื่องธรรมดาไม่เป็นอะไรใครจะไปอยู่พรรคไหนก็ได้เป็นเรื่องธรรมดา บรรดากองเชียร์ทั้งหลายก็น่าจะลองคิดกันเสียว่า ไม่น่าจะมีอะไรในกอไผ่จริง ๆ
ส่วนรายนี้ถือเป็นบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในสายตาของคอการเมืองสำหรับ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ เจ้าของห้างอิมพีเรียล เวิลด์ ที่ตกปากรับคำนั่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ที่มี จตุพร พรหมพันธุ์ และ ยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นกองเชียร์คนสำคัญ จากที่เดิมทีพรรคนี้ได้วางตัว ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีคลังมากุมบังเหียน แต่ได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุผลคลาสสิก เกรงใจเมียที่เคารพ คงต้องดูพรรคที่อาศัยคราบไคลความเป็นแกนนำคนเสื้อแดง จะไปได้สวยในสนามเลือกตั้งหรือไม่
เป็นอันว่าโบกมือบ๊ายบายพรรคปลาไหลอย่างเป็นทางการเรียบร้อยสองศรีพี่น้อง ภราดร-กรวีร์ ปริศนานันทกุล หันไปซบพรรคเนื้อหอมอย่างภูมิใจไทย งานนี้ส่วนหนึ่งมาจากคำชักชวนของพี่ที่เคารพจากกลุ่มยังบลัดของชาติไทยพัฒนาอย่าง สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีตส.ส.ศรีสะเกษที่ย้ายมาร่วมพรรคเสี่ยหนูก่อนหน้า น่าจับตาสนามเลือกตั้งจังหวัดอ่างทองในยุคผลัดใบเปลี่ยนอำนาจ บารมี หน้าตาหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร