หุ้นปาล์ม..เปื่อย.!?
ตัวเลขขาดทุนกันถ้วนหน้า..!! งบไตรมาส 3/61 หุ้นปาล์มน้ำมัน ที่นำโดยบริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ CPI, บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UPOIC, บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UVAN และบริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ VPO
สำนักข่าวรัชดา
ตัวเลขขาดทุนกันถ้วนหน้า..!! งบไตรมาส 3/61 หุ้นปาล์มน้ำมัน ที่นำโดยบริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ CPI, บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UPOIC, บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UVAN และบริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ VPO
ปรากฏว่า ขาดทุนกันถ้วนหน้า..!!
จึงถูกตั้งคำถามตามมาทันทีว่า หุ้นปาล์มน้ำมันยังน่าลงทุนหรือไม่..??
ตัวการสำคัญทำให้งบไตรมาส 3/61 หุ้นปาล์มน้ำมันไม่ค่อยน่าพิสมัย มาจากราคาปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำ โดยราคาผลปาล์มสดและน้ำมันปาล์มดิบไตรมาสที่ 3/61 อยู่ที่ 3.54 บาทต่อกิโลกรัมและ 20.24 บาทต่อกิโลกรัม เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ 4.18 บาทต่อกิโลกรัมและ 22.43 บาทต่อกิโลกรัม
โดยระหว่างช่วงไตรมาส 3/61 ราคาผลปาล์มสดและน้ำมันปาล์มดิบ ลดลงต่ำกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัมและ 17 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าต่ำสุดรอบ 10 ปีเลยทีเดียว
หากเข้าไปดูห้องเครื่องงบการเงินแต่ละบริษัท พบว่า CPI พลิกมาขาดทุนถึง 102 ล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 15 ล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนถึง 117 ล้านบาท สาเหตุมาจากรายได้จากการขาย และการให้บริการลดลง 19.31% อยู่ที่ 940.12 ล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อน 225.04 ล้านบาท
ขณะที่ต้นทุนขายและการให้บริการลดลง 9.81% อยู่ที่ 932.15 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 101.39 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากต้นทุนขายลดลงน้อยกว่าราคาขายที่ลดลง มีผลทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน จาก 11.30% เป็น 0.85%
ส่งผลให้งวด 9 เดือน ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 62 ล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อนที่ 60 ล้านบาท
ส่วน UPOIC ขาดทุนงวดไตรมาส 3/61 อยู่ที่ 42 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 193% เป็นผลมาจากรายได้จากการขายลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน จำนวน 89 ล้านบาท คิดเป็น 43.6%
ขณะที่อัตราต้นทุนการขายอยู่ที่ 122.3% เพิ่มขึ้น 21.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ 100.7% ส่งผลให้งวด 9 เดือน พลิกมามีกำไรสุทธิ 8 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 9 ล้านบาท
ด้าน UVAN พลิกมาขาดทุนงวดไตรมาส 3/61 อยู่ที่ 9 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 143 ล้านบาท ตัวการสำคัญมาจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มของบริษัท 5 แห่งในไทยขาดทุน 34.6 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 79.8 ล้านบาท เนื่องมาจากต้นทุนการรับซื้อผลปาล์มเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มลดลง ด้านสวนปาล์มบริษัทมีผลขาดทุน 10.1 ล้านบาท ในไตรมาส 3/61 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาล ที่ผลผลิตต่ำและราคาน้ำมันปาล์มต่ำมาก
ส่งผลให้งบงวด 9 เดือน บริษัทมีผลกำไรสุทธิ 253 ล้านบาท ลดลง 34.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 385 ล้านบาท
สำหรับ VPO แม้ผลขาดทุนสุทธิลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 55 ล้านบาท มาอยู่ที่ 42 ล้านบาท สาเหตุมาจากรายได้รวมเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนจาก 222 ล้านบาท มาอยู่ที่ 267 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.41%
ส่วนต้นทุนขายแม้เพิ่มขึ้นจาก 242 ล้านบาท เป็น 270 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.51% ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ ทำให้สัดส่วนต้นทุนขายต่อรายได้ปรับลดลงจาก 108.93% ในปี 2560 เป็น 100.89% ในปี 2561 ส่งผลให้งวด 9 เดือน ขาดทุนสุทธิ 34 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อนที่ 133 ล้านบาท
แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะล้างขาดทุนได้..!!??
ใครที่มีหุ้นปาล์มน้ำมันอยู่ในพอร์ต คงต้องเผื่อใจ และลุ้นช็อตต่อไปกับงบไตรมาส 4/61 ที่จะต้องออกมาสวย นั่นหมายถึงราคาปาล์มน้ำมันต้องปรับสูงขึ้น
แต่เนื่องจากปาล์มเป็นสินค้าเกษตรอีกตัวหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็คงไม่ง่ายนัก งานนี้คงต้องลุ้นตัวเกร็งกันต่อไป
…อิ อิ อิ…