เรื่องเก่า หุ้นหลุดจอง

ปีนี้ นักล่าหุ้นจอง มีบทเรียนที่ต้องกลับมาตั้งคำถามกันอีกครั้งว่า เกิดอะไรขึ้นกับหุ้นไอพีโอในปีนี้ ทั้งที่คำถามที่ว่า ไม่ใช่คำถามใหม่ เพราะหลายปีมานี้ มีการถามซ้ำซากทุกครั้งเมื่อเกิดอาการหุ้นหลุดจอง


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ปีนี้ นักล่าหุ้นจอง มีบทเรียนที่ต้องกลับมาตั้งคำถามกันอีกครั้งว่า เกิดอะไรขึ้นกับหุ้นไอพีโอในปีนี้ ทั้งที่คำถามที่ว่า ไม่ใช่คำถามใหม่ เพราะหลายปีมานี้ มีการถามซ้ำซากทุกครั้งเมื่อเกิดอาการหุ้นหลุดจอง

โดยเฉพาะตัวอย่างล่าสุด บริษัท นอร์ธอีสต์ รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ระดมทุน 600 ล้านหุ้น มีพี่เบิ้ม บล.โนมูระฯ เป็นอันเดอร์ไรเตอร์ และที่ปรึกษาการเงินมือหนึ่งของวงการ APM ตั้งราคาจองแค่ 2.58 บาท คิดเป็นค่าพี/อีที่ต่ำมากแค่ 9 เท่า ยังเกิดการหลุดจองได้

ที่เหลืออีกหลายรายที่จ่อคิวรอเทรดวันแรก ก็ทำเอานักล่าหุ้นจองพากันครั่นเนื้อครั่นตัวไปตาม ๆ กัน

บทสรุปง่าย ๆ เบื้องต้นคือ ปีนี้น่าจะหมดยุคทองของ หุ้นไอพีโอ ซึ่งไม่ใช่ข้อสรุปที่สมเหตุสมผลนัก เนื่องจากนับแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ไม่เคยมียุคทองหุ้นไอพีโอเลย ต่างจากก่อนหน้าที่สามารถเรียกว่าใช่เลย…ในบางปี

นักล่าหุ้นจองหลายรายคงยังพอจำกันได้บ้างว่าในช่วงยุคทองนั้น บรรดาอันเดอร์ไรเตอร์และผู้ถือหุ้นใหญ่ มักจะสุมหัวสมคบคิดกันตั้งราคาหุ้นจองเสียแพงเกินเหตุผล บางครั้งให้ค่าพี/อีหุ้นจองมากถึง 30-35 เท่า (โดยเฉพาะหุ้นโรงพยาบาล) ซึ่งผลลัพธ์คืออัพไซด์ของราคาตอนเข้าเทรดยากจะสูงกว่านั้นได้อีก เพียงแต่ในยุคที่ความบ้าระห่ำเข้าสิงจิตใจของนักล่าหุ้นจอง ทำให้เรื่องดังกล่าวถูกกลบเกลื่อนไป

เมื่อความคลั่งหุ้นจองอย่างบ้าระห่ำจบสิ้นลง ความมีเหตุมีผลก็เข้ามาแทนที่ ยุคทองหุ้นจองที่เคยกล่าวขวัญถึง จึงมีผลลัพธ์ต่างออกไป

ว่าไปแล้ว ปีนี้หุ้นจอง หรือไอพีโอที่เข้าเทรดในตลาด SET และ mai มีสภาพหลุดจองในการเข้าเทรดวันแรก หรือ the debut น้อยกว่าปีก่อน ๆ หน้า แต่หลังจากผ่านไป 1 เดือนหลังเข้าเทรด อาการหลุดจองค่อนข้างมาก เพราะมีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งทีเดียว

10 เดือนเศษที่ผ่านมา มีไอพีโอจำนวน 18 หลักทรัพย์ เข้าเทรดในตลาดหุ้นไทย โดยส่วนใหญ่ 16 รายเป็นบริษัทจดทะเบียน ส่วนที่เหลืออีก 2 หลักทรัพย์ เป็นกองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REITS

ในจำนวน 16 บริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดปีนี้ พบว่ามี 2 บริษัทเข้าเทรดในวันแรกปิดราคาต่ำกว่าจอง คือ NER และ SONIC

ล่าสุด IPO ที่เทรดในปีนี้ ราคาเทรดในกระดานล่าสุด ต่ำกว่าราคา IPO สูงถึง 9 บริษัท จากที่เข้าระดมทุน 16 บริษัท ประกอบด้วย NER, TIGER, SONIC, OSP, KWM, TPLAS, TEAMG, CMAN และ ABM และเมื่อดูผลประกอบการควบคู่ไปด้วยแล้ว โอกาสจะกลับไปยืนเหนือจองไม่ง่ายนัก ด้วยสาเหตุหลายประการ

กระแสหุ้น “หลุดจอง” ในการเข้าเทรดวันแรกมีความหมายมากกว่าการหลุดจองหลังจากเวลาผ่านไป เพราะเมื่อเกิดขึ้นกับตัวแรก มักจะตามมาด้วยอาการหลุดจริงตามมาเป็นหางว่าว ด้วยสาเหตุทางจิตวิทยาของ “คุณตลาด”

ตัวอย่างที่เป็นกรณีศึกษาทีเดียว ได้แก่ กรณีหุ้น PLAT ที่หลุดจองน่าสยดสยองตั้งแต่วันแรกมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นจุดเริ่มต้นของอาการหลุดจองที่ต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือน ในไตรมาสที่สองของปี 2558 โดยเฉพาะที่ตามมาอย่าง SLP และ GPSC

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นักลงทุน ที่ปรึกษาการเงิน และอันเดอร์ไรเตอร์จำนวนมาก เกิดอาการ “กลับบ้านไม่ถูก” นานทีเดียว เพราะสถานการณ์ต่างกับช่วงไตรมาส 1/2558 ซึ่งหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่เข้าเทรดในไตรมาสแรก ทำได้สวยงาม เพราะเป็นช่วงที่เรียกว่าตกค้างมาจากความสำเร็จของปี 2557

ปรากฏการณ์ซ้ำซากที่เราได้เห็นเสมอเมื่อมีอาการหุ้นหลุดจองในวันแรก จะเป็นอาการลุกลี้ลุกลนของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท รวมทั้งที่ปรึกษาการเงินและพีอาร์ ต้องร้อนตัวออกมาให้สัมภาษณ์เป็นสูตรสำเร็จว่า ไม่ได้เป็นคนเทขายหุ้นในมือออกมาแม้แต่หุ้นเดียว แต่ยังทำการซื้อเพิ่มเพื่อรักษาราคาเอาไว้ โดยอ้างว่าราคาหุ้นลดลงมาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก พร้อมกับยืนกรานว่าอยากให้นักลงทุนดูที่ผลประกอบการของบริษัทที่ยังดำเนินการตามปกติ เพื่อสร้างผลประกอบการที่ดีให้แก่นักลงทุน ส่วนราคาหุ้นจะปรับขึ้นเมื่อไหร่นั้น ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่อยากให้นักลงทุนมองระยะกลางถึงระยะยาวมากกว่า

โดยพื้นฐานทั่วไปแล้ว สาเหตุของหุ้นหลุดจองมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักน่าจะมาจากการตั้งราคาสูงเกินจริง (หรือมีปริมาณหุ้นมากเกิน) โดยคนที่เกี่ยวข้องคือ ผู้บริหารบริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการเงิน และอันเดอร์ไรเตอร์จะกำหนดเกมขึ้นมาพลาด เพราะเมื่อใดก็ตามที่ตลาดเป็นจังหวะตลาดขาขึ้น การตั้งราคาหุ้นจองมักจะกำหนดขึ้นมา “มหาโหด” ด้วยความละโมบ

ว่าไปแล้ว การกำหนดค่าพี/อีสูงลิ่ว (ภายใต้ข้ออ้างว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มเท่านี้ แล้วดิสเคาต์ลงมา) หาคำอธิบายไม่ได้เช่นกันว่า หุ้นที่มีพี/อีสูง แถมเข้าเทรดวันที่ตลาดหุ้นร่วง จะสามารถกระโดดเหนือจองโดดเด่นได้อย่างไร เว้นแต่จะให้อาศัยปาฏิหาริย์หรือบังเอิญอย่างมักง่ายไปเรื่อย ๆ

สถิติการตกเป็นหุ้นหลุดจอง หมายถึงภาพลักษณ์ที่เลวร้ายของบริษัทจดทะเบียนเสมอมา เพราะทำให้หุ้นได้รับความนิยมต่ำกว่าปกติ และส่งผลเสียต่อการระดมทุนคราวต่อไป

อีกคำอธิบายด้านหนึ่งที่มั่ว ๆ คือการโยนปัญหาให้กับปัจจัยภายนอกตลาด เช่น แรงกดดันจากภาวะการเมืองในประเทศที่เริ่มมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น หรือเข้ามาในตลาดขณะที่ตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวลดลง โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปที่อยู่ในช่วงปรับฐาน

คำปลอบโยนซ้ำซากที่ตามมาคือ พื้นฐานของบริษัทยังมีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งเป็นหุ้นที่ควรลงทุนในระยะยาว ซึ่งไม่ได้มีอะไรมากกว่าจิตวิทยาแบบ “มะนาวหวาน” เท่านั้น

ท้ายสุดคือ ผู้บริหารของตลาด จะออกมาพูดซ้ำเสมือนนกแก้วนกขุนทองว่า ตลาดหุ้น IPO ยังคงสดใส แม้ภาวะตลาดบางช่วงจะไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากนักลงทุนใช้ความระมัดระวังในการเข้าซื้อขายหุ้น IPO ในวันแรกมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะหากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงเกินไป จะเป็นแรงกดดันต่อผู้บริหารบริษัทและอาจไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง …ซึ่งพูดอีก ก็ถูกอีก

มีคนพยายามหาคำตอบสำเร็จรูปเพื่อเตือนนักล่าหุ้นจองในยามหมดยุคทองว่า ต้องทำสิ่งต่อไปนี้ 1) ศึกษาข้อมูลให้ละเอียดว่าหุ้น IPO ที่เราจะเข้าไปลงทุน มีโมเดลธุรกิจ และในอนาคตเป็นอย่างไร วัตถุประสงค์การระดมทุน เอาไปคืนหนี้หรือขยายธุรกิจ 2) ราคาเหมาะสมหรือไม่ เช่น ค่า P/E ค่า P/BV และ EPS เป็นอย่างไร 3) ใครเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นตัวแทนการจัดจำหน่าย 4) หุ้นไอพีโอถูกกระจายให้ใครบ้าง รายใหญ่ สถาบัน หรือรายย่อย

คำตอบสำเร็จรูปที่กล่าวว่า มีผู้รู้และประสบการณ์โชกโชนแนะนำอีกแบบว่า เวลาที่มาร์เก็ตติ้งขาประจำบอกว่ามีหุ้นจองให้น้อยเพราะหุ้นมีจำกัด ให้ซื้อเลย แต่ถ้าบอกว่ามีไม่อั้นเมื่อใด…โอกาสหลุดจองเกิน 100% แน่นอน

ขอให้นักล่าหุ้นจอง โชคดีในการไล่ล่าคราวต่อไป 

อดีตเป็นแค่บทเรียน อย่าทำให้ถึงกับ “หมดแพสชั่น” เสียล่ะ

Back to top button