อุ้มสมทุนการเงินต่างชาติ
จู่ ๆ ชนิดไม่มีปี่มีขลุ่ย ก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 17/2561 ให้ใช้มาตรา 44 ออกมาเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา เรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรบางกรณี
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
จู่ ๆ ชนิดไม่มีปี่มีขลุ่ย ก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 17/2561 ให้ใช้มาตรา 44 ออกมาเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา เรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรบางกรณี
คำสั่งดังกล่าวมีรายละเอียดว่า
– เป็นการใช้อำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
– คำสั่งนี้ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สําหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและดอกเบี้ย พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เท่าเทียมกับการที่นิติบุคคลต่างชาติซื้อพันธบัตรรัฐบาล
– เพื่อประโยชน์ในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สําหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553 จนถึงวันที่คําสั่งฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
คำสั่งนี้หมายความว่า นิติบุคคลต่างชาติที่ถือครองพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553 จะได้รับยกเว้นภาษีย้อนหลังโดยปริยายจากผลของคำสั่งดังกล่าว
แม้คำสั่งจะอ้างว่าการยกเว้นภาษีดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันระหว่างคนถือพันธบัตรรัฐบาลที่ได้รับการยกเว้นไปแล้ว (ไม่ทราบเมื่อใด) กับคนที่ถือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ก็มีคำถามตามมาว่า ทำไมต้องยกเว้น
จากการสืบค้นข้อมูลกรมสรรพากร พบว่า มีข้อกำหนดเรื่องยกเว้นภาษีเงินได้ผู้มีเงินได้หรือนิติบุคคลต่างชาติที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจในไทย เฉพาะผู้ที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาล อยู่ก่อนวันที่ 13 ตุลาคม 2553 เท่านั้น โดยรายได้จากดอกเบี้ย หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนหรือผลประโยชน์ จากการโอนพันธบัตรและหุ้นกู้ ยังคงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ต่อไป ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 509) พ.ศ. 2553 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 286 (พ.ศ. 2554)
สำหรับผู้มีเงินได้ที่ได้รับดอกเบี้ยหรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอน หรือผลประโยชน์จากการโอนที่ได้รับจากการถือครองพันธบัตรและหุ้นกู้ฯ หลังวันที่ 13 ตุลาคม 2553 ต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน โดยยื่นแบบ ภ.ง.ด.2 (กรณีผู้มีเงินได้ มิได้เป็นผู้อยู่ในไทย) และ ภ.ง.ด.54 (กรณีผู้มีเงินได้ เป็นนิติบุคคลต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในไทย)
พันธบัตรรัฐบาลเป็นเครื่องมือรองรับนโยบายการคลัง ต่างจากพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่เป็นเครื่องมือสําคัญของนโยบายการเงิน โดยพันธบัตรทั้งหมดซื้อขายกันผ่านตลาดตราสารหนี้เป็นหลัก
ทันทีที่คำสั่งนี้ออกมา นายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาขานรับทันที เปิดเผยว่า เป็นประเด็นเชิงเทคนิคทางภาษีที่จำเป็นต้องมีความชัดเจนทางกฎหมายสำหรับดอกเบี้ยพันธบัตร ธปท. และพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้ได้รับการปฏิบัติทางภาษีเช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากในการแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 2553 ได้ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติทางภาษีสำหรับดอกเบี้ยพันธบัตร ธปท. และพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ ขึ้น การแก้ไขให้เกิดความชัดเจนในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน อันจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ
คำถามคือ 1) ทำไมจึงใช้มาตรการเลือกปฏิบัติเฉพาะนิติบุคคลต่างชาติ ไม่รวมถึงบุคคลธรรมดาต่างชาติ และบุคคลหรือนิติบุคคลไทยด้วย 2) ใครได้ประโยชน์จากการนี้ 3) ใครเสียหายจากการนี้
ข้อแรก เหตุผลในการอ้างว่า เพื่อไม่ให้ “นักลงทุนสับสน” และ “เพื่อให้กระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้ร่วมกันดำเนินนโยบายให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาล และตลาดพันธบัตร ธปท. เป็นตลาดเดียวกันในมุมมองของนักลงทุน โดยได้ร่วมกันวางแผนออกพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตร ธปท. เพื่อให้มีปริมาณที่เหมาะสม มีอัตราผลตอบแทนที่สอดคล้องกัน และสามารถใช้ร่วมกันเป็นฐานอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของการกู้ยืมเงินบาทสำหรับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน” เป็นคำอ้างน่าเวทนากว่าศรีธนญชัยชัดเจน
ข้อสอง นิติบุคคลต่างชาติที่ได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีผลตอบแทน 15% ย้อนหลัง มีใครบ้าง คำตอบคือ สถาบันการเงินและบริษัทเอกชน โดยเฉพาะกองทุนเฮดจฟันด์ทั้งหลายนั่นเอง
คำถามคือ นิติบุคคลหรือทุนการเงินเหล่านี้ สมควรได้รับการยกเว้นภาษีผลตอบแทนหรือไม่
คำตอบชัดเจนอยู่แล้วคือ ไม่สมควรเลย
ชาติที่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงสุดอันดับ 12 ของโลกอย่างไทย ยังไงต่างชาติก็ถือว่าตราสารหนี้ภาครัฐ หรือพันธบัตรภาครัฐ เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหรือ safe haven เสมอ แม้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนพันธบัตรไทย ยามนี้จะต่ำกว่าสหรัฐฯ ก็ยังต้องซื้ออยู่ดี
ข้อเท็จจริงจากพฤติกรรมในตลาดตราสารหนี้ไทยปีนี้ จะเห็นว่าปีนี้แม้ต่างชาติ (กองทุนเฮดจฟันด์) จะขายหุ้นมากกว่า 2.5 แสนล้านบาทในตลาดหุ้น มากสุดในรอบ 8 ปี แต่เงินที่ทิ้งหุ้นไม่ได้ไหลออกไปไหน แค่ย้ายพอร์ตไปซื้อพันธบัตรรัฐและอื่น ๆ ในตลาดตราสารหนี้ในสัดส่วนเท่ากัน
ข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้มองไม่เห็นถึงความจำเป็นต้องยกเว้นภาษีผลตอบแทนให้กองทุนเฮดจฟันด์และสถาบันการเงินต่างชาติเหล่านี้เลย
เสมือนคนจนแต้ม ไม่มีปัญญาอื่นจูงใจเฮดจฟันด์ให้ยังคงพักเงินในตลาดตราสารหนี้ต่อไป ทั้งที่เป้าหมายของการเข้าหรือออกจากตลาดตราสารหนี้คือส่วนต่างมากกว่าภาษี
ส่วนคนที่เสียหายคือ ผู้มีเงินได้และนิติบุคคลไทยที่ต่อไปต้องตกเป็นเบี้ยล่างนิติบุคคลต่างชาติจากต้นทุนด้านภาษีที่สูงกว่า และผู้มีเงินได้ที่มิใช่นิติบุคคลต่างชาติ
มาตรการเสมือน “สิ้นคิด” นี้ อาจจะไม่ได้ถูกเอ่ยถึงในเนื้อเพลง “ประเทศกูมี” ก็ได้เกิดขึ้นไปแล้ว ยิ่งกว่าการปล้นกลางแดดเสียด้วย