นักลงทุน กับ สัมภเวสีทางการเมือง

คำพูดของสัมภเวสีทางการเมืองอย่างนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แห่งกลุ่มมัชฌิมาฯกลายเป็นสัจจะที่ทรงพลังยิ่งที่บอกกันชัดเจนว่า “รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ตอกย้ำว่า หากบังเอิญจะมีการเลือกตั้งในสังคมไทยเกิดขึ้นต้นปีหน้า โครงสร้างของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เอื้อผลบวกต่อการลงทุนทั้งทางตรงและพอร์ตโฟลิโอเอาเสียเลย


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

คำพูดของสัมภเวสีทางการเมืองอย่างนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แห่งกลุ่มมัชฌิมาฯกลายเป็นสัจจะที่ทรงพลังยิ่งที่บอกกันชัดเจนว่า “รัฐธรรมนูญนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ตอกย้ำว่า หากบังเอิญจะมีการเลือกตั้งในสังคมไทยเกิดขึ้นต้นปีหน้า  โครงสร้างของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เอื้อผลบวกต่อการลงทุนทั้งทางตรงและพอร์ตโฟลิโอเอาเสียเลย

ความพยายามสร้างพรรคการเมืองที่เป็นนั่งร้าน คสช. ด้วยการกวาดต้อนนักการเมืองสัมภเวสีมาร่วมในพรรค “นั่งร้าน” ชื่อต่าง ๆ (ทั้งที่เปิดเผย และ อีแอบ) เพื่อเพิ่มน้ำหนักว่านอกจากกติกาที่เอื้อให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งอย่างแบเบอร์ (ทั้งที่มีเสียง ส.ว.ลากตั้งเกือบ 200 คนค้ำประกันอยู่) ทำให้ภาพลักษณ์ทางการเมืองย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาของพรรคสามัคคีธรรมในปี 2535 มากขึ้นทุกขณะ

แม้ความพยายาม “โรยหน้าสร้างภาพ” พรรคคนดีจากหลากอาชีพ เช่นผู้นำท้องถิ่น หรือเทคโนแครตที่เคยเป็นเครือข่ายราชการ หรือเอ็นจีโอ แต่การเปิดตัวสัมภเวสีทางการเมือง เปิดโปงเนื้อแท้ของพฤติกรรมทางการเมืองที่ “ถอยหลังเข้าคลองตัน” จนถึงที่สุด

รัฐบาลที่มีองค์ประกอบจากเสียงสนับสนุนของ “พรรคมารโรยหน้า” มีบทเรียนมาแล้วว่าไม่เคยยั่งยืน และหลอกใครไม่ได้ ก็ดื้อรั้นทำกัน

การเมืองในระบอบเลือกตั้งของไทย ยากจะปฏิเสธว่ามีองค์ประกอบจากนักการเมืองที่ออกจากพรรคนี้เพื่อไปพรรคโน้นแบบสัมภเวสี หรือหมายถึงพวกเร่ร่อนเพื่อหาพรรค ในทำนองเดียวกันกับชนเผ่าเร่ร่อนที่อพยพไปเพื่อหาแหล่งอาหาร และน้ำให้แก่ตนเองและสัตว์เลี้ยง เพื่อความอยู่รอดจากความแห้งแล้งและหิวโหยตายด้วยขาดน้ำ และอาหาร

รากเหง้าของสัมภเวสีการเมืองเกิดขึ้นจากความลุ่ม ๆ ดอน ๆ ของการเมืองไทยยุคหลังปี 2475  (ที่มีคนชอบกล่าวหาว่า “ชิงสุกก่อนห่าม”) โดยเริ่มจากยุคที่กฎหมายการเลือกตั้งอนุญาตให้นักการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง หรือที่เรียกว่าลงอิสระได้

เจตนารมณ์ดังกล่าวสบช่องให้บุคคลที่ผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ นับหน้าถือตา หรือมีอิทธิพลในท้องถิ่นที่ผู้คนเกรงกลัวจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ได้รับเลือกเกือบทุกครั้ง ต่อมาเมื่อเริ่มมีกฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง บุคคลที่ว่านี้ก็เป็นที่ต้องการของบรรดาพรรคการเมืองที่ต้องการได้คะแนนเสียงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อหวังจะได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ เปิดโอกาสให้นักการเมืองที่ว่านี้เดินเข้าหาพรรคโน้นพรรคนี้ พร้อมกับยื่นเงื่อนไขในการเข้าพรรค

เงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ก็คือ จะได้รับเงินสนับสนุนจากพรรคเท่าใด และตามด้วยถ้าได้รับเลือกเป็น ส.ส.แล้ว และพรรคได้เป็นรัฐบาลจะมีตำแหน่งทางการเมืองให้ตนหรือตัวแทนหรือไม่ ส่วนเงื่อนไขว่าอุดมการณ์ของพรรคจะสอดคล้องกับอุดมการณ์ของตัวหรือไม่ ถ้ามีก็เป็นเงื่อนไขรอง หรือในบางรายจะไม่พูดถึงเงื่อนไขข้อนี้ด้วยซ้ำ (แต่ใช้เป็นข้ออ้างในที่สาธารณะ)

กระแสกลุ่มบุคคลหรือบุคคลที่เล่นการเมืองเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตัวเอง และพวกพ้องทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง และมีการหาตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคต่าง ๆ จึงเป็นสีสันที่ขาดไม่ได้ และเป็นข้ออ้างในการตั้งข้อรังเกียจ “นักการเมือง” เสมอมา

ครั้งนี้ก็ส่อเค้าว่าวงจรอุบาทว์เดิมของสัมภเวสีทางการเมือง กับ พฤติกรรมในการต่อรองในการขอเข้าพรรค และจำนวนสัมภเวสีในแต่ละพรรคจะยังดำเนินต่อไป ทั้งเงื่อนไขในการเข้าพรรคซึ่งเน้นที่ตัวเงิน และตำแหน่งเป็นหลัก

ในช่วงเวลาก่อนตั้งรัฐบาล จำนวนสัมภเวสีที่ว่ามีมากพอจะเป็นปัจจัยบวกในคณิตศาสตร์การเลือกตั้ง แต่ทันทีที่เป็นรัฐบาลแล้ว จำนวนมากจะกลายเป็น “ภาระ” ทันที เพราะโอกาสเสี่ยงที่รัฐบาลจะล้มจากพฤติกรรม “ถอนทุน” และ “บิดเบือนอำนาจเป็นความมั่งคั่งส่วนตัว” อันอื้อฉาวตามถนัด หรือ ทำให้เสียงที่มีอยู่ของรัฐบาลในรัฐสภาไม่เพียงพอถ้าขาดคนกลุ่มนี้ เนื่องจากการเรียกร้องผลประโยชน์จากพรรคก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าพรรคยอมให้ไม่ได้ก็จะเกิดกบฏขึ้น “เงินไม่มา กดคะแนนไม่เป็น” ทำให้พรรคที่เป็นแกนนำ หรือแม้พรรคที่เป็นพรรคผสมเกิดสั่นสะเทือนได้ ในกรณีที่ต้องการเสียงสนับสนุนเพื่อผ่านกฎหมาย หรือเพื่อลงมติรับรองการไว้วางใจ

ในทางกลับกัน ถ้าพรรคที่เป็นรัฐบาลยอมให้ ส.ส.ประเภทนี้ ก็เท่ากับว่ายอมให้กลุ่มนี้ถอนทุนทางการเมืองโดยที่พรรคควบคุมไม่ได้ และนี่เองคือจุดที่ก่อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบเกิดขึ้น โดยที่พรรคการเมืองรับรู้ทั้งด้วยเต็มใจ และจำใจ

การแก้ไขเรื่องนี้ยากจะมีผลลัพธ์ทางบวกรวดเร็ว ตราบใดที่การให้ความรู้ทางการเมืองยังไม่สามารถสร้างความชัดเจนกับพลเมืองที่มีสิทธิเข้าคูหาเลือกตั้งว่า คนที่ดีกับตัวเองและพวกพ้องของตัวเองนั้น แท้จริงแล้วอาจจะเป็นผู้ที่ทำความเสียหายให้แก่ส่วนรวมถ้าปราศจากการกำกับดูแลที่ดี

ประเด็นที่พูดกันมายาวนานว่า ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะในเขตชนบทไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเมืองเท่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งยังยึดติดความดี และหนี้บุญคุณของบุคคลที่ให้ประโยชน์แก่ตัวเองมากกว่าพิจารณาลงลึกถึงพฤติกรรมบุคคลที่ก่อความเสียหายให้แก่ส่วนรวม ดังนั้นเมื่อใครก็ตามที่ให้ประโยชน์แก่ตนเองหรือพรรคพวกตัวเองจะสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะไปลงคะแนนให้โดยไม่ดูว่าคนที่ตนเองลงคะแนนให้เข้าไปเป็นผู้แทนแล้วทำอะไรให้แก่ประเทศบ้าง พูดง่าย ๆ ก็คือเลือกบุคคลมากกว่าเลือกพรรค

การเปิดโอกาสให้สัมภเวสีทางการเมืองเข้ามาสู่วงการเมืองเพื่อต่ออำนาจ จึงเท่ากับการปิดทางขจัดสัมภเวสีทางการเมืองโดยปริยาย ขัดแย้งกับเป้าหมาย “ล้างบ้านทำความสะอาดการเมือง” อย่างตรงกันข้าม

การเมืองหลังเลือกตั้งจึงสิ้นหวังตั้งแต่ไก่โห่ ไม่ทันเลือกตั้งก็น่าอดสูเช่นนี้ สมควรอย่างยิ่งที่นักลงทุนจะเมินหน้าหนีจากตลาดหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ

เหตุผลง่ายมาก นักลงทุนไม่ได้กินแกลบรำนั่นเอง

Back to top button