พาราสาวะถี
ต้องจับตาการหารือกันระหว่าง กกต. กับ 61 พรรคการเมือง 10 กลุ่มการเมืองในวันนี้ จะมีบทสรุปอย่างไร แน่นอนว่ามีวาระที่เป็นข่าวก่อนหน้าคือกลุ่มสหการเมือง จะยื่นหนังสือเพื่อขอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์เป็น 5 พฤษภาคม 2562 ด้วยเหตุผลของความไม่พร้อม ขณะที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังยืนยันให้จัดการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม
อรชุน
ต้องจับตาการหารือกันระหว่าง กกต. กับ 61 พรรคการเมือง 10 กลุ่มการเมืองในวันนี้ จะมีบทสรุปอย่างไร แน่นอนว่ามีวาระที่เป็นข่าวก่อนหน้าคือกลุ่มสหการเมือง จะยื่นหนังสือเพื่อขอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์เป็น 5 พฤษภาคม 2562 ด้วยเหตุผลของความไม่พร้อม ขณะที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังยืนยันให้จัดการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม
ต้องดูว่า กกต.จะให้น้ำหนักไปในทิศทางใด เพราะเวลานี้ไฮไลต์หลักไม่ได้อยู่ที่เลื่อนหรือไม่เลื่อนการเลือกตั้งเสียแล้ว แต่ทุกสายตาจับจ้องไปยังประเด็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 ว่าเข้าข่ายแทรกแซงองค์กรอิสระและจะส่งผลให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งให้พรรคพลังประชารัฐของ คสช.ได้ประโยชน์หรือไม่ จนกระทั่ง อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ต้องงดให้สัมภาษณ์นักข่าวโดยอ้างไม่อยากพูดรายวัน
ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะคนออกคำสั่งกลับอารมณ์ดีกว่าใครเพื่อนครวญเพลงบ้านเราอยู่ตลอดเวลาระหว่างการแถลงข่าวหลังประชุม ครม.เมื่อวันอังคาร พร้อมยืนยันไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใครทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นการแทรกแซงการทำงานของ กกต. แต่กลับเป็นการให้อำนาจ กกต.อย่างเด็ดขาด ซึ่งถือว่าน่าจะเป็นคำตอบของคนในรัฐบาลที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เพราะหลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ วิษณุ เครืองาม ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน คำสั่งที่ออกมาเพื่อคุ้มครอง กกต. ซึ่งนั่นยิ่งทำให้หลายคนกังขาหนักเข้าไปอีก ในเมื่อเป็นองค์กรอิสระและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำไมต้องได้รับการคุ้มครอง หรือว่ามีการกระทำใดเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายอันส่งผลสะเทือนต่อสถานะของ กกต.เช่นนั้นหรือ
ผลที่จะทำให้ กกต.ต้องรับผิดทางกฎหมายเท่าที่เห็นคงเป็นเรื่องการวางตัวไม่เป็นกลางหรือการกลั่นแกล้งนักการเมืองหรือพรรคการเมืองให้เกิดความเสียหายมากกว่า แต่ถ้าทำทุกอย่างตามเนื้อหาที่กฎหมายกำหนด ก็ไม่เห็นที่จะต้องมีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องให้มีกฎหมายอื่นมาปกป้อง คุ้มครอง ยิ่งเป็นกฎหมายพิเศษจากคณะเผด็จการด้วยแล้ว แทนที่จะทำให้องค์กรอิสระแห่งนี้ดูดี มีสง่าราศรี กลับจะเป็นในทางตรงข้ามเสียฉิบ
แต่ก็อีกนั่นแหละ ในเมื่อคนในองค์กรเองยังไม่รู้ร้อนรู้หนาว มิหนำซ้ำ ยังประกาศยอมรับด้วยความเต็มใจ เสียงวิจารณ์ที่ตามมา จึงจะไปโทษว่าเกิดจากความอคติคงไม่ใช่ เพื่อให้ความเป็นธรรมคงต้องรอดูโฉมหน้าของเขตเลือกตั้งที่จะประกาศออกมาว่าจะเป็นอย่างไร หากหลุดไปจากที่เคยได้รับฟังความเห็นจากประชาชนและนักการเมือง ค่อยไปรอฟังคำแก้ตัวของคนในองค์กรอิสระแห่งนี้ว่าจะอธิบายต่อสาธารณชนอย่างไร
ไม่ผิดจากที่คาดความฮึกเหิม ห้าวหาญของบรรดาแกนนำพรรคพลังประชารัฐและแกนนำกลุ่มสามมิตรที่ประกาศกันอย่างเปรี้ยงปร้าง ในวันที่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมศักดิ์ เทพสุทิน พาอดีตรัฐมนตรี และ ส.ส.ในเครือข่ายมาเข้าคอก คล้อยหลังจากนั้นจะต้องมีการแก้ต่างแก้ตัว เริ่มจาก สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคที่ลั่นวาจาพรรคจะได้ ส.ส. 350 ที่นั่ง
ก่อนการประชุม ครม. เจ้าตัวต้องใช้การลากิจถึงเวลา 10 โมงครึ่งเพื่อจะตอบคำถามของนักข่าวในกรณีดังกล่าว โดยยอมรับแต่โดยดีที่พูดไปเป็นแค่วาทกรรมสร้างกำลังใจให้กับสมาชิกพรรค โดยเฉพาะคนที่จะลงสมัคร ส.ส.แบบเขตเท่านั้น เพราะความเป็นจริงทางการเมืองตัวเลขที่ฟุ้งไปนั้นไม่มีทางเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แล้วไปนึกว่าจะยอมรับเผลอไปนับรวมกับ ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง (ฮา)
ด้านสมศักดิ์ที่กลอนพาไปบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์เพื่อพวกเรา ก็ออกตัวอย่างที่คนส่วนใหญ่ก็คาดไว้ล่วงหน้าแล้วต้องมาอีหรอบนี้ นั่นก็คือ ในความหมายหมายถึงพรรคการเมืองขนาดกลาง พรรคการเมืองขนาดเล็ก รวมถึงพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ไม่มีฐานเสียงมาก่อนจะได้รับอานิสงส์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้มีแค่พลังประชารัฐเท่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคะแนนเสียงที่ไม่ตกน้ำ ถือเป็นโอกาสของทุกพรรคการเมือง แหม! ไม่ต้องอธิบายอะไรกันให้เมื่อยตุ้ม ประชาชนยุคโซเชียลมีเดีย รู้เช่นเห็นชาตินักการเมืองกันอยู่แล้ว ต่อให้หมายถึงพรรคของเผด็จการตรง ๆ ก็จะหาเหตุมาแถไถกันไปได้อยู่ดี งานนี้ถ้าไม่หวังว่าพูดไปแล้วสร้างราคาให้พรรคตัวเองแล้วค่อยมาแก้ตัวทีหลัง ก็ถือเป็นบทเรียนว่าเวลาเห็นนักการเมืองมาเข้าคอกมาก ๆ อย่าเหลิงจนแสดงปฏิกิริยาที่ทำให้สังคมต้องหมั่นไส้ออกไป
ต้องไม่ลืมว่าการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชนในการเลือกตั้งนั้นจะมีอยู่แค่ 3 ส่วนเท่านั้น คือ ชอบ หมั่นไส้และสงสาร ซึ่งอย่างแรกและอย่างหลังคนจำนวนไม่น้อยได้ตัดสินใจไปแล้ว จะเหลือก็แต่อย่างที่สองนั่นแหละ คนจำนวนหนึ่งกำลังจับตาดูอยู่ว่าจะออกนอกหน้ากันขนาดไหน ที่กำลังจะตัดสินใจเลือกพอเห็นอาการกร่างหรือข่มคู่ต่อสู้จนเกินงาม คะแนนมันจะไหลไปอยู่อีกทางด้วยความสงสารเสียนั่นปะไร
อีกเหตุผลนอกเหนือจากพลังดูดและกลเกมที่วางหมากกันไว้สารพัด ทำให้พรรคของคณะเผด็จการมั่นใจ คงเป็นมาตรการแจกแหลกที่ปากก็พล่ามบอกว่าไม่ใช่ประชานิยม การทุ่มงบประมาณล่าสุดอีก 58,000 ล้านบาทอ้างว่าเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ถามว่ามันมีความจำเป็นขนาดไหน และที่ทำไปจะอธิบายว่าไม่ได้หวังผลทางการเมืองเช่นนั้นหรือ
ยิ่งฟัง พุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกรัฐบาลพยายามแถว่าสิ่งที่ทำไม่ได้หวังผลทางการเมืองแล้วน่าหัวร่อ ในฐานะม็อบเกลียดประชานิยม ล้มทุนสามานย์ถามกันดัง ๆ ว่า สิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทำอยู่นี้จะให้เรียกว่าอะไร มาตรการที่เป็นการช่วยเหลือระยะยาวนั้นพอเข้าใจได้ว่าเป็นนโยบายและความหวังดี แต่ที่ใส่เงินไปดื้อ ๆ นี่จะให้เรียกว่าหวังอะไร
ไม่ว่าจะใส่เงินเข้าไปในบัตรสวัสดิการสำหรับผู้ถือบัตรทุกคนวงเงิน 500 บาทต่อคนในเดือนธันวาคมเป็นการให้ครั้งเดียวเพื่อนำไปซื้อสินค้า บริการหรือกดเป็นเงินสดก็ได้ ให้ค่าเดินทางไปโรงพยาบาลสำหรับคนสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใส่เงินเข้าไปในบัตร 1 พันบาทต่อคน เป็นการจ่ายครั้งเดียวในเดือนธันวาคมนี้ นี่ถ้าเป็นพรรคการเมืองทำคงถูกเล่นงานแล้วว่าซื้อเสียงล่วงหน้า แล้วรัฐบาลเผด็จการทำ ก็อยากจะรู้เหมือนกันบรรดาคนดีทั้งหลายจะเห็นเป็นอย่างไร