สุมไฟใต้ถุนบ้านตัวเอง
จู่ ๆ เหมือนเพิ่งคิดขึ้นมาได้ ครม. มีมติสายฟ้าแลบ ทุ่มงบประมาณฉุกเฉิน 120,558 ล้านบาทนับรวม ๆ กัน (ความจริงไม่มากขนาดนั้นหรอก เพราะมีทั้งเงินสด และไม่ใช่) ทั้งเพิ่มเงินให้บัตรคนจน เพิ่มเงินให้เกษตรกรบางกลุ่ม คนชรา ข้าราชการบำนาญ มีรายละเอียดดังนี้
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
จู่ ๆ เหมือนเพิ่งคิดขึ้นมาได้ ครม. มีมติสายฟ้าแลบ ทุ่มงบประมาณฉุกเฉิน 120,558 ล้านบาทนับรวม ๆ กัน (ความจริงไม่มากขนาดนั้นหรอก เพราะมีทั้งเงินสด และไม่ใช่) ทั้งเพิ่มเงินให้บัตรคนจน เพิ่มเงินให้เกษตรกรบางกลุ่ม คนชรา ข้าราชการบำนาญ มีรายละเอียดดังนี้
– โครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อบรรเทาค่าครองชีพชาวสวนยางภายใต้งบประมาณ 18,604.95 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางเปิดกรีดจำนวน 999,065 ราย คนกรีดยาง 304,266 ราย คิดเป็นพื้นที่เปิดกรีดรวมประมาณ 10 ล้านไร่ โดยจะช่วยเหลือเป็นเงิน 1,800 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 15 ไร่ แบ่งจ่ายกับเจ้าของสวน 1,100 บาท คนกรีด 700 บาท มีระยะเวลาดำเนินการ 10 เดือนตั้งแต่ธันวาคม 2561-กันยายน 2562 เริ่มจ่ายเงินได้ 18 ธันวาคมนี้
– มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561-พ.ค. 2562 โดยของบกลางเงินสำรองจ่าย 525 ล้านบาทให้ กฟผ. รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบตั้งแต่ พ.ย. 2561-ก.พ. 2562 จากพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญ เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง 1.6 แสนตัน
– มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14.5 ล้านคน ภายใต้วงเงิน 38,730 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ที่ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 55,000 ล้านบาท โดยการช่วยเหลือจะออกผ่าน 4 มาตรการ ได้แก่
1.มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ถือบัตรที่จ่ายค่าไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ค่าน้ำ 100 บาทต่อคนต่อเดือน โดยช่วยเหลือระหว่างเดือน ธ.ค. 2561-ก.ย. 2562 ภายใต้วงเงิน 27,060 ล้านบาท หากใครจ่ายค่าไฟฟ้าเกิน 230 บาท/เดือน หรือค่าน้ำเกิน 100 บาท/เดือนจะไม่มีสิทธิรับสวัสดิการนี้
2.มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี 500 บาท/คน/เดือน ในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 เพียงเดือนเดียว เงินยอดนี้สามารถถอนไปใช้ซื้ออะไรก็ได้ รวมวงเงินช่วยเหลือ 7,250 ล้านบาท
3.มาตรการช่วยค่าเดินทางรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุอายุ 65 ปีขึ้นไปวงเงิน 1,000 บาทต่อคน จ่ายให้เพียงครั้งเดียวคือเดือน ธ.ค. 2561 เงินก้อนนี้สามารถถอนได้หากใช้ไม่หมด โดยคนที่มีสิทธิมี 3.5 ล้านคน ภายใต้วงเงิน 3,500 ล้านบาท
4.มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาท/คน/เดือน ระหว่างธ.ค. 2561-ก.ย. 2562 วงเงินนี้ถอนได้หากใช้ไม่หมด วงเงินภายใต้รัฐบาลนี้ 920 ล้านบาท
-มาตรการช่วยเหลือข้าราชการเกษียณที่รับบำนาญแบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ 1) ให้ข้าราชการบำนาญสามารถนำบำเหน็จตกทอด 30 เท่าของเงินเดือน มาใช้เป็นบำเหน็จดำรงชีพได้เป็นครั้งที่ 3 ได้อีก 1 แสนบาท เป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาท 2) เติมเงินข้าราชการบำนาญที่ได้บำเหน็จน้อยต่ำกว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท ให้เป็น 1 หมื่นบาท ใช้เงิน 558 ล้านบาท
– ให้ ธอส.จัดทำโครงการบ้านล้านหลังภายใต้วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาทให้ผู้มีรายได้น้อยกลุ่มคนวัยทำงานหรือผู้ที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ มีบ้านอยู่อาศัย โดยวงเงินแบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้ารายย่อย 5 หมื่นล้านบาท สำหรับซื้อบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ตั้งวงเงินกู้ไว้ 2 หมื่นล้านบาท ให้ผ่อนนานถึง 40 ปี อัตราดอกเบี้ยแบ่งเป็นกรณีรายได้ไม่เกิน 2.5 หมื่นบาท/คน/เดือน กรณีรายได้เกิน 2.5 หมื่นบาท/คน/เดือน ตั้งวงเงินกู้ไว้ 3 หมื่นล้านบาท โดยทั้ง 2 กรณีเงินกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระ 3 ปีแรกเริ่มต้นเพียง 3,800 บาท สำหรับวงเงินที่เหลืออีก 1 หมื่นล้านบาท เป็นการปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ต้องมีบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหน่วยขายทั้งหมดของโครงการ เริ่มเปิดโครงการภายในเดือน ธ.ค. 2561
หากไม่รวมวงเงินบ้านล้านหลังของ ธอส.และเงินช่วยข้าราชการบำนาญ จะเห็นว่าวงเงินที่ใช้ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ไม่ได้มากมายอะไรนัก โดยมีข้อสังเกต 2 ข้อ คือ เรื่องการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรที่ปลายเหตุ และเรื่องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยแบบ “หยดน้ำในทะเลทราย”
รองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ระบุว่ามาตรการที่ออกมามีลักษณะ “ส่งการบ้านตอนจะปิดเทอม” และไม่ต้องกู้เงินมาเพิ่มเพราะมีเงินอยู่แล้วจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมถึง 1 แสนล้านบาท แถมยังบอกใบ้ว่า ต่อไปยังมีอะไรอีกมากที่จะทำ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือคนชั้นกลางกำลังคิดอยู่ ที่ต้องอธิบายได้ว่าไม่ได้ทำเพื่อเอาใจคนรวย
เป็นธรรมดาที่การลนลานออกมาตรการที่กล่าวมามีเป้าหมายหลายอย่างที่ย้อนแย้งกับท่าทีก่อนหน้านี้ของรัฐบาลมาก ทำให้เสียงวิพากษ์ดังขึ้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น
ที่ผ่านมารัฐบาลนี้พยายามหลบเลี่ยงไม่จ่ายเงินอุดหนุนเกษตรกร ปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างมากดังเช่น ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะนาว มะพร้าว สับปะรด ฯลฯ โดยอ้างเหตุผลว่าไม่มีเงินงบประมาณ ขณะที่งบทางด้านกองทัพเพิ่มขึ้นมากมาย แต่ครั้งนี้ เมื่อเริ่มจะมีการชุมนุมของผู้เดือดร้อน กลับชิงออกมาสยบไว้ก่อน แบบ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด”
ยังมีเรื่องการพยายามยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอีกอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะเป็นนโยบายที่อ้างว่า “ประชานิยม” แต่ครั้งนี้ กลับมาเพิ่มให้เฉพาะกลุ่มคนสูงอายุที่วัยเกิน 65 ปีโดยอ้างเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ โดยไม่มีคำอธิบายว่าคนกลุ่มอื่น ๆ เหตุใดจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือ
สำหรับ มาตรการเอาใจข้าราชการบำนาญนั้น เป็นมาตรการชัดเจนว่ามีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่แม้จะแก้ปัญหาบางส่วน แต่มีลักษณะ “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” ชัดเจน
ส่วนกรณีบ้านล้านหลังนั้น เป็นการยืมเอามาตรการที่ตามปกติรัฐวิสาหกิจอย่าง ธอส. ต้องทำอยู่แล้ว มาพ่วงรวมเพื่อให้ตัวเลขเงินสวย ๆ เท่านั้น
มาตรการทั้งหมดที่ออกมาในจังหวะที่เหมาะกับเสียงวิพากษ์ว่า “หาเสียงล่วงหน้า” จึงเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ไม่ได้ลงไปถึง/ไปแก้ต้นตอปัญหาจริง ๆ แต่อย่างใด ยิ่งให้กลไกรัฐเป็นกลไกขับเคลื่อนด้วยแล้ว ยิ่งคาดเดาสัมฤทธิผลได้ยาก
การออกมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และปลายเหตุ จึงเป็น “เจตนาดี แต่ประสงค์ร้าย” (แม้จะพยามปั้นตัวเลขเกินจริงมากมาย) ของรัฐบาลโดยปริยาย ท่ามกลางคำถามที่รัฐบาลในช่วงขาลงทุกรัฐบาลในอดีตต้องล้วนเคยเผชิญมา (แล้วสอบตก) นั่นคือ ความชอบธรรมของมาตรการดังกล่าวมีอยู่แค่ไหน
รัฐบาลที่ตกที่นั่งลำบากเพราะทำย้อนแย้งกับสิ่งตนเคยพูดหรือกระทำ จึงไม่ต่างอะไรกับการสุมไฟใต้ถุนบ้านตัวเอง มีโอกาสสำลักควันตาย หรือไฟคลอกตายได้ง่ายมาก