หมูไม่กลัวน้ำร้อน เพราะ…
เมื่อวันศุกร์ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยรีบาวด์กลับแรงในภาคบ่าย แม้จะมีมูลค่าการซื้อขายไม่มากนัก ทำให้ดูเหมือนดัชนีที่ระดับ 1,620 จุด จะกลายเป็นแนวรับเชิงยุทธศาสตร์สำคัญให้ได้ ทั้งที่ยากจะบอกได้ว่าเป็นจริงแค่ไหน
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวันศุกร์ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยรีบาวด์กลับแรงในภาคบ่าย แม้จะมีมูลค่าการซื้อขายไม่มากนัก ทำให้ดูเหมือนดัชนีที่ระดับ 1,620 จุด จะกลายเป็นแนวรับเชิงยุทธศาสตร์สำคัญให้ได้ ทั้งที่ยากจะบอกได้ว่าเป็นจริงแค่ไหน
แรงซื้อจากกองทุนเดนตายในประเทศที่อ้างสัญญาณเทคนิคเข้าเขตขายมากเกิน ดันดัชนี SET รีบาวด์ชั่วคราว เพียงแค่ตลาดหุ้นยุโรปที่ห่างออกไปพากันบวกจากประเด็นคืบหน้า Brexit
ความจริงที่ย้อนแย้งกันคือบ่ายวันศุกร์ ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนเทียบดอลลาร์อีกครั้ง มาเหนือ 33.02 บาทต่อดอลลาร์ และสัญญาณสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน เข้าสู่ภาวะใหม่ เมื่อหนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า สหรัฐฯ กำลังโน้มน้าวผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและบริการไร้สายในประเทศพันธมิตรตะวันตก หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ของจีน โดยระบุว่าอาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านไซเบอร์
ข่าวนี้ทำเอาบรรดาพวก “โลกสวย” ฝันสลายทันที ยกเว้นกองทุนไทย
คืนวันเดียวกันที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ดัชนีพากันร่วงแรงเพราะปัจจัยลบหลายด้านพร้อมกันประดังเข้ามา ตอกย้ำว่าปรากฏการณ์ในตลาดหุ้นไทยเป็นแค่ภาพลวงตาของสัญญาณทางเทคนิคเท่านั้น
ผลพวงที่ตามมาในสัปดาห์นี้ คงต้องมาลุ้นกันใหม่ว่าระหว่างพวก “โลกสวย” กับ “โลกสลด” ใครจะมีมุมมองที่สอดรับกับข้อเท็จจริงในอนาคตมากกว่ากัน
ข่าวร้ายข่าวแรกของสัปดาห์นี้ มาจากท่าทีของนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไปในวันที่ 19 ธ.ค.จะเป็นช่วงที่ ธปท.มีการปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจครั้งสุดท้ายในปีนี้ โดยอาจจะมีการปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจากที่ประมาณการไว้ที่ 4.4% ในครั้งก่อน เนื่องจากมีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป แต่น่าจะเป็นการปรับลดลงไม่มาก และเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวสูงกว่า 4% อย่างแน่นอน
เหตุผลที่ดูสบาย ๆ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจจริงของไทยในไตรมาสที่ 3 ที่ลดลงกว่าที่คาด แม้ตัวเลขการส่งออกที่ยังขยายตัว ถือเป็นแนวโน้มที่ดีอยู่ แต่ยังต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ประกอบ เช่น การบริโภคในประเทศ และการท่องเที่ยว หลังจากการแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวจีนมีความชัดเจนมากขึ้นโดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสที่ 4
ส่วนข่าวร้ายจากต่างประเทศมีมากมาย นับแต่
– ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ โดยเงินยูโรได้อ่อนค่าลงเนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน หลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาอ่อนแอกว่าการคาดการณ์ แม้จะมีข่าวคืบหน้าบ้างจากกรณี Brexit โดยตัวเลขเศรษฐกิจยูโรโซนและเยอรมนีที่อ่อนแอกว่าการคาดการณ์นั้น ได้เข้ามากดดันเงินยูโรให้อ่อนค่า จากการที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซนลดลงสู่ระดับ 52.4 ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 47 เดือน จากระดับ 53.1 ในเดือน ต.ค. โดยถูกกดดันจากการชะลอตัวลงของคำสั่งซื้อและยอดส่งออก ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของเยอรมนี ลดลงสู่ระดับ 52.2 ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 47 เดือนเช่นกัน
– ราคาน้ำมันดิบร่วงลงสู่ระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลชนิดที่แนวรับทางเทคนิคไม่ทำงานท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งอาจปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียในเดือนหน้า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด เกิดจาก นายคาลิด อัล ฟาลีห์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยว่า ผลผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียในเดือนนี้ น่าจะมากกว่ายอดการผลิตของเมื่อเดือนตุลาคม ซึ่งอยู่ที่วันละ 10.6 ล้านบาร์เรล
ไม่มีใครรู้ว่าถ้อยแถลงดังกล่าว ที่มีขึ้นหลังก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ทวีตข้อความขอบคุณซาอุดีอาระเบีย จากการที่ราคาน้ำมันได้ดิ่งลงในช่วงนี้ และเขาเรียกร้องให้ราคาน้ำมันยังคงปรับตัวลงต่อไป เป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่สหรัฐฯ ไม่ยอมเล่นงานกรณีมกุฎราชกุมารซาอุดิฯ ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนายคาช็อกกี แต่ก็เป็นปริศนาที่ท้าทายคำตอบ
นอกจากนี้ การซื้อขายยังได้รับปัจจัยกดดันหลังสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ พุ่งขึ้น 4.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 446.91 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว
EIA ยังระบุว่า การผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ที่ระดับ 11.7 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทางด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกจะอยู่ในระดับสูงกว่าอุปสงค์ในปีหน้า ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันเพิ่มกำลังการผลิต แต่การบริโภคน้ำมันถูกจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
IEA ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขการผลิตน้ำมันจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกสู่ระดับ 2.4 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ และ 1.9 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า เทียบกับตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.2 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ และ 1.8 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า โดยการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นอีก 2.1 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ และ 1.3 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า โดยขณะนี้สหรัฐฯ ผลิตน้ำมันได้มากกว่า 11 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
– ผลลบของสงครามการค้าที่เริ่มออกฤทธิ์ให้ตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐฯ ย่ำแย่ลง เช่นกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 3,000 ราย สู่ระดับ 224,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 215,000 ราย
ทางด้านมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปิดเผยผลสำรวจซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 97.5 ในเดือน พ.ย. โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 98.3 หลังจากแตะระดับ 98.6 ในเดือน ต.ค. ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ เป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ ฐานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล
นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ร่วงลง 4.4% ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค.ปีที่แล้ว เพราะได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของคำสั่งซื้อเครื่องบิน
ดัชนีชี้วัดทิศทางเช่นนี้ ทำให้โอกาสที่ดัชนีดาวโจนส์ยังอยู่บนเส้นทางของคลื่นเอลเลียตช่วงขาลงระยะกลาง ที่สามารถปรับตัวลงต่อได้อีก หากว่าสถานการณ์ของตลาดยังมีข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี
คำพูดเก่าแก่ของจีน ที่บอกว่า หมูไม่กลัวน้ำร้อน อาจจะเกิดจากหมูตายไปแล้วนั่นเอง
ภาพลวงเมื่อวันศุกร์จะยังเกิดขึ้นอีก จะถือว่า ไม่ปกติอย่างยิ่ง