มหาอำนาจ‘ตายหยังเขียด’
ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรออกมากันเรื่อย ๆ ล่าสุดสัปดาห์นี้ข้าวเปลือกฤดูใหม่ที่เป็นข้าวพันธุ์เบาเริ่มทยอยออกสู่ตลาดด้วยราคาเริ่มต้นระดับ 6,700 บาทต่อตัน ทำเอาชาวนาที่เคยวาดฝันตามพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องไทยจะเป็นมหาอำนาจทางอาหารโลก หน้าเหี่ยวไปตาม ๆ กัน เพราะจากนี้ไปคงยากจะเห็นราคาข้าวเปลือกในตลาดราคาเหนือ 7,000 บาท (ไม่รวมข้าวชนิดพิเศษบางพันธุ์)
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรออกมากันเรื่อย ๆ ล่าสุดสัปดาห์นี้ข้าวเปลือกฤดูใหม่ที่เป็นข้าวพันธุ์เบาเริ่มทยอยออกสู่ตลาดด้วยราคาเริ่มต้นระดับ 6,700 บาทต่อตัน ทำเอาชาวนาที่เคยวาดฝันตามพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องไทยจะเป็นมหาอำนาจทางอาหารโลก หน้าเหี่ยวไปตาม ๆ กัน เพราะจากนี้ไปคงยากจะเห็นราคาข้าวเปลือกในตลาดราคาเหนือ 7,000 บาท (ไม่รวมข้าวชนิดพิเศษบางพันธุ์)
ท่ามกลางสินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำ นับแต่ (หลายชนิดขึ้นแท่นส่งออก 10 ลำดับแรกในตลาดโลก) ข้าว อ้อย-น้ำตาล มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา เป็นต้น แรงผลักดันทางด้านต้นทุนการผลิตก็เริ่มก่อเค้าขึ้นมาใหม่ นั่นคือต้นทุนยากำจัดวัชพืชและแมลง
โดยข้อเท็จจริง ประเทศไทยมีพื้นที่รวม 320 ล้านไร่ โดยพื้นที่ประมาณ 70% ถูกใช้ในการปลูกพืช โดยปลูกข้าวประมาณ 45% ซึ่งสภาพภูมิอากาศที่เป็นเขตร้อนชื้น ไม่มีช่วงพักตัวของพืช แมลงศัตรูพืชมีวงจรการเจริญเติบโตต่อเนื่อง สารเคมีทางการเกษตรโดยเฉพาะสารอารักขาพืชจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตร เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกทำลาย มีปริมาณ คุณภาพและความสวยงามของสินค้า ซึ่งผู้บริโภคให้ความสำคัญ ทำให้สารกำจัดวัชพืชและแมลงมีตลาดใหญ่นับเกือบ 1 หมื่นล้านบาท
สถิติปริมาณและมูลค่าการนำเข้าวัตถุอันตราย พบว่า ช่วงปี 2557-2558 ประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีในปริมาณและมูลค่าลดลง จาก 172,826 ตันในปี 2556 เป็น 147,375 ตัน และ 149,546 ตัน ตามลำดับ โดยเกือบ 80% ของปริมาณการนำเข้า เป็นสารกำจัดวัชพืช รองลงมาคือ สารกำจัดแมลง (8.6%) และสารป้องกันกำจัดโรคพืช (7.4%) ที่เหลือ 3.7% เป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช สารรมควันพิษ สารกำจัดหอยและหอยทาก สารกำจัดไร ไส้เดือนฝอย และสารกำจัดหนู
สารกำจัดวัชพืชหลัก ๆ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนนอกจาก พาราควอต (สารเผาไหม้) และไกลโฟเซต (สารดูดซึม) ที่รู้จักกันถือเป็นยอดนิยม โดยเฉพาะอย่างแรกใช้กันมานานกว่า 50 ปีแล้ว
2 ปีมานี้ กระแสสังคมจากคนที่ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ทำการรณรงค์ให้รัฐบาลไทยระงับการนำเข้า และที่สุดระงับการใช้เคมีภัณฑ์การเกษตร 3 ชนิดคือ พาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) อย่างหลังสุดคือ ยาฆ่าหนอน-แมลง
การรณรงค์ดังกล่าวมีทั้งข้อมูลจริงบ้าง เท็จบ้าง เพื่อชี้ให้เห็นอันตรายสารพัด แต่การยกเลิก “สิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำกัน” ไม่ใช่เรื่องง่าย
การขับเคลื่อนให้ยกเลิกใช้สินค้าทั้ง 3 ประเภทจึงเต็มไปด้วยสงครามข้อมูลหลายระดับ ฝ่ายหนึ่งอ้างถึงสุขภาพผู้บริโภคและเกษตรกร อีกฝ่ายหนึ่งผู้ใช้และผู้ขายสินค้า เสมือน พูดจากคนละมุมมอง และทุกฝ่ายก็มีเหตุผลในตัวเอง
ความพยายามในการผลักดันการห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด (พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต) ยืดเยื้อมาเกือบ 2 ปี ท่ามกลางข้อถกเถียงของฝ่ายที่เป็นห่วงเรื่อง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม กับฝ่ายธุรกิจเคมีและภาคเกษตรบางส่วนที่เห็นว่า การใช้สารเคมียังมีความจำเป็นเพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้
พาราควอต เป็นชื่อของสารเคมีกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรไทยนิยมใช้ในพืชไร่ เป็นยาเผาไหม้ออกฤทธิ์เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่มีฤทธิ์ทำลายระบบรากของพืชประธาน ใช้ในไร่อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา
ปี 2560 ไทยนำเข้าสารพาราควอต 44,501 ตัน มูลค่า 3,816 ล้านบาท เป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย ตามด้วยสารไกลโฟเซต ที่ไทยนำเข้า 59,852 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,283 ล้านบาท
ส่วนไกลโฟเซต ก็มีการอ้างหลักฐานว่า มีส่วนกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นถึง 5-13 เท่า และยังออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาทส่วนกลางในระยะยาวด้วย
สำหรับสารคลอร์ไพริฟอสที่เกิดจากการฉีดพ่นเพื่อฆ่าหนอน-แมลง ในงานเกษตรกรรม ก็มีการอ้างผลงานวิจัยพบว่าเกษตรกรได้รับคลอร์ไพริฟอสจากการหายใจสูงกว่าค่าระดับที่ปลอดภัยได้ และ หญิงตั้งครรภ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมเมื่อคลอดบุตรตรวจพบคลอร์ไพริฟอสในขี้เทาทารกแรกเกิดเป็น 32.8% จากมารดา 67 คน ทั้งยังพบคลอร์ไพริฟอสในน้ำนมมารดา 41.2% จากมารดา 51 คน และมีทารก 4.8% ที่ได้รับคลอร์ไพริฟอสจากน้ำนมมารดาเกินค่า ADI
ล่าสุด ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีมติ ขานรับมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้อนแย้งกับการตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เดือนพฤษภาคมที่มีมติไม่ห้ามใช้การใช้สารเคมี 3 ชนิด มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิดภายใน 1 ปี เห็นพ้องต้องกันว่าสารเคมีดังกล่าวมีอันตรายต่อประชาชน
เช่นเดิม ทุกครั้งที่มีข่าวทำนองนี้ออกมา ผลิตภัณฑ์ที่ขายในท้องตลาดจะหายไปเกือบหมด เพราะการเก็งกำไร
การต่อสู้ดังกล่าว มีคำถามว่า 1) จะหาผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืชและหนอน-แมลงมาแทนทั้ง 3 รายได้หรือไม่ 2) ใครได้รับประโยชน์จากการยกเลิก หรือใช้ผลิตภัณฑ์ทั้งสามรายการ
คำตอบแรกคือมี แต่ไม่ดีเท่าและแพงกว่ามาก
สารกลูโฟซิเนต-แอมโมเนียม (glufosinate-ammonium) เป็นสารเคมีลูกผสม ซึ่งคาดว่าจะได้รับความนิยมแทนในอนาคต เพราะกำจัดได้ทั้งวัชพืชใบแคบและใบกว้าง มีทั้งความสามารถเผาไหม้และดูดซึม โดยเดิมทีเป็นสิทธิบัตรของกลุ่มไบเออร์แห่งเยอรมนี แต่ปัจจุบันเลขทะเบียนสิทธิบัตรหมดอายุไปเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2555
สารดังกล่าว ยังจำต้องนำเข้ามาจากแหล่งผลิตในโลก ในกรณีของไทยมาจากแหล่งผลิตหลัก ๆ ใน มาเลเซีย และจีน มีเพียงสารกลูโฟซิเนต-แอมโมเนียม ที่นำเข้าโดย บจก.ไบเออร์ไทย ที่มีแหล่งผลิตจากเวียดนาม
ปมประเด็นคือ สารดังกล่าวมีราคาแพงกว่าพาราควอตและไกลโฟเซตประมาณ 7 เท่า (หากเทียบปริมาณที่ใช้ต่อพื้นที่เท่ากัน) นั่นหมายความว่า ต้นทุนของพืชผลเกษตรที่ผลิตขึ้นมา จะต้องพุ่งขึ้นไปมหาศาล ตีความประเมินเบื้องต้นว่าน่าจะอยู่ที่ 10-15%
ด้วยต้นทุนที่พุ่งโด่งขนาดนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ราคาผลผลิตพืชผลเกษตรตกต่ำ เจตนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ที่บริโภคหรือใช้เคมีภัณฑ์ จึงกลายเป็นการทำลายล้างความสามารถทางการแข่งขันของเกษตรกรไทย ตามสูตร “เจตนาดี ประสงค์ร้าย” (เว้นเสียแต่ไม่ถือว่าเกษตรกรเป็นเพื่อนมนุษย์เสียแล้ว)
ส่วนคำถามว่าใครได้ใครเสีย คาดเดาไม่ยาก ถ้ามีสามัญสำนึกเพียงพอ (ไม่ใช่แค่กล่าวหาว่าบริษัทขายสารเคมีเห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว)
คำพูดเกินจริงของฝ่ายสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้สารเคมี พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซตว่า เป็นวันที่ “คนไทยมีความสุขที่สุด” เป็นถ้อยคำไร้สาระธรรมดาที่เบากว่าขนนกและเปราะบางกว่าฟองสบู่ เสียอีก
เหตุผลเพราะเกษตรกรผู้มีรายได้จากการเป็น “มหาอำนาจทางด้านอาหาร” กำลังเดินเข้าสู่แดนประหารบนขาหยั่งเพื่อ “ตายหยังเขียด” ในอีกไม่เกิน 2 ฤดูการเพาะปลูกข้างหน้า