พาราสาวะถี

ช่วงนี้นอกจากต้องตอกย้ำเรื่องเลือกตั้งตามโรดแมป 24 กุมภาพันธ์ปีหน้าแล้ว ไม่ว่าเวทีไหน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องพกเอาเรื่องจัดเลือกตั้งโปร่งใส เป็นธรรม ไปพูดด้วย พร้อมกับการยืนยันไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องการย้ายพรรคของอดีต ส.ส.ทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ที่ตกเป็นขี้ปากคงเป็นพวกที่พากันไปเข้าคอกพลังประชารัฐ


อรชุน

ช่วงนี้นอกจากต้องตอกย้ำเรื่องเลือกตั้งตามโรดแมป 24 กุมภาพันธ์ปีหน้าแล้ว ไม่ว่าเวทีไหน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องพกเอาเรื่องจัดเลือกตั้งโปร่งใส เป็นธรรม ไปพูดด้วย พร้อมกับการยืนยันไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องการย้ายพรรคของอดีต ส.ส.ทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่ที่ตกเป็นขี้ปากคงเป็นพวกที่พากันไปเข้าคอกพลังประชารัฐ

ความจริงทั้งสองเรื่องไม่ใช่สิ่งที่หัวหน้าเผด็จการจะต้องมาตั้งหน้าตั้งตาอธิบายอะไรกับใคร ยิ่งการไปพูดกับทีมไทยแลนด์ล่าสุดที่เยอรมนี นี่ยิ่งชัดว่าหวังผลถึงความเชื่อมั่นที่จะให้ต่างชาติยอมรับรัฐบาลเผด็จการและกระบวนการที่จะเกิดขึ้นภายใต้อำนาจพิเศษที่มีอยู่ ทั้ง ๆ ที่การเลือกตั้งหน้าที่หลักเป็นของ กกต.อันเป็นองค์กรอิสระผู้ใดหรือคณะใดไม่มีสิทธิ์ที่จะไปสั่งการใด ๆ ได้

ดังนั้น เลือกตั้งจะโปร่งใส เสรี เป็นธรรมหรือไม่ อยู่ที่กระบวนการบริหารจัดการของ กกต. เว้นเสียแต่ว่า ผู้นำเผด็จการเชื่อว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การบัญชาการของ คสช.นั่นก็อีกเรื่อง ซึ่งการออกตัวบ่อย ๆ มันเหมือนแสดงอาการร้อนท้อง กลัวว่าจะมีข้อครหาเรื่องการเข้าไปแทรกแซง ครอบงำองค์กรอิสระ ในเมื่อไม่ใช่และไม่ได้ไปยุ่มย่ามอะไรก็เฉย ๆ ไปเสีย ยิ่งพูดยิ่งแก้ตัวยิ่งยุ่งไปกันใหญ่

ขณะที่เรื่องการย้ายพรรคของอดีต ส.ส. โดยเฉพาะจากสองพรรคใหญ่ ที่ถูกต้อนเข้าคอกพรรคพลังประชารัฐนั้น หากพรรคดังกล่าวไม่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาล ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคณะเผด็จการ ก็ไม่มีความจำเป็นอีกเช่นกันที่หัวหน้าเผด็จการจะต้องไปบอกกล่าวยืนยันกับใครต่อใครว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการย้ายพรรคของคนเหล่านั้น

ยิ่งฟังคำตอบจาก 4 รัฐมนตรีที่ไปกุมบังเหียนพรรคดังว่า ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคของตัวเอง ไม่เบียดบังเวลาราชการไปใช้งานส่วนตัว ก็มองไม่เห็นความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงใด ๆ ที่จะเป็นแรงจูงใจหรือกดดันให้อดีต ส.ส.เหล่านั้นย้ายมาสังกัดพรรคที่อิงแอบกับอำนาจเผด็จการอย่างแยกไม่ออก เมื่อปรากฏท่าทีที่แก้ต่างกันพัลวันเช่นนี้ มันก็ยิ่งเข้าข่ายแก้ตัวมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้คนสงสัยและเชื่อว่าเป็นอย่างที่ครหามากขึ้นเท่านั้น

หากเชื่อบนพื้นฐานที่ว่าประชาชนไม่มีใครสามารถไปจูงจมูกได้ ก็ต้องเชื่อมั่นในแนวทางที่ตัวเองได้ดำเนินการมา มิหนำซ้ำ ยังสร้างความได้เปรียบผ่านสารพัดโครงการโดยเฉพาะที่ทุ่มงบประมาณผ่านบัตรคนจน อย่างน้อยตัวเลข 14.5 ล้านคนที่ได้รับอานิสงส์จากการดำเนินโครงการดังกล่าวก็น่าจะเป็นตัวเลขที่สร้างความอุ่นใจให้กับผู้มีอำนาจว่า ถ้าทุกคนเลือกพรรคของเผด็จการอย่างไรเสียก็มีสิทธิ์ที่จะเบียดกับสองพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ได้

เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขของคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 พบว่า พรรคเพื่อไทยได้คะแนนทั้งหมด 15.7 ล้านเสียง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 11.4 ล้านคะแนน นั่นหมายความว่า ถ้าคนจนจำนวน 14.5 ล้านคนประทับใจการจัดให้ของเผด็จการ รวมเข้ากับคนที่ได้รับการช่วยเหลือให้พ้นความทุกข์จากหนี้นอกระบบอีก อย่างไรเสีย พรรคของ คสช.ย่อมมีโอกาสกำชัยชนะเห็น ๆ

ไม่เพียงล่าสุด สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้อำนวยการโครงการสำรวจความนิยมต่อนักการเมืองที่ประชาชนปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ก็น่าจะทำให้หัวหน้าเผด็จการและพรรคในสังกัดสบายใจกันขึ้นอีกมากโข รวมถึง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ น่าจะเลิกหงุดหงิดเมื่อถูกถามถึงโพลที่คะแนนนิยมน้องรักตกเป็นรองคู่แข่งด้วย

ผลโพลรังสิตชี้ชัดคะแนนนิยมบิ๊กตู่ทิ้งห่างคู่แข่ง เช่นเดียวกับคะแนนของพรรคพลังประชารัฐที่เหนือกว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่าย เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอที่ทำให้คณะเผด็จการวางใจได้ว่า องคาพยพของตัวเองจะได้กลับมาสืบทอดอำนาจกันทั้งคณะ และถ้ายืนยันตรงกับโพลของส่วนราชการที่อยู่ใต้กำกับ ยิ่งน่าจะทำให้ตีปีกกันพึ่บพั่บได้

อย่างไรก็ตาม มีเสียงเตือนดัง ๆ มาจาก ไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณที่วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจไม่ร้อย โดยมองว่าฐานประชาชนที่ถือบัตรคนจน ฐานจากข้าราชการ คือสองฐานมวลชนหลักของพลังประชารัฐ เมื่อพิจารณาดูแล้วฐานประชาชนที่ถือบัตรคนจนนั้นส่วนใหญ่คือฐานมวลชนของเพื่อไทย แล้วพลังประชารัฐจะดึงมวลชนผู้ถือบัตรคนจนซึ่งเป็นฐานมวลชนของเพื่อไทยมาสนับสนุนพรรคตนเองได้มากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ หากมีการปลดล็อก สองพรรคใหญ่ได้หาเสียงอย่างจริงจัง เต็มที่ ชี้ให้ประชาชนเห็นการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลเผด็จการ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ที่คนทั่วไปสัมผัสได้ นั่นยิ่งจะเป็นตัวฉุดให้คะแนนนิยมของพลังประชารัฐต่ำลงไปอีก และไม่แน่ว่าน่าจะรวมไปถึงคะแนนนิยมในตัวของผู้นำเผด็จการด้วย

ดังนั้นจึงน่าจับตาว่าการหารือระหว่าง คสช. กับพรรคการเมืองที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ การปลดล็อกจะเป็นไปอย่างเต็มที่หรือวางเงื่อนไขอะไรพ่วงท้ายหรือไม่ แต่แค่มีการประกาศว่า คสช.จะส่งทหารตามประกบนักการเมืองเวลาหาเสียง พร้อมข้ออ้างว่าป้องกันความขัดแย้ง เท่านี้ก็พอที่จะเห็นภาพได้แล้วกระมังว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปโดยเสรีอย่างที่ผู้นำเผด็จการพยายามจะอ้างหรือไม่

ไหนยังจะต้องรอดูหน้าตาการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ที่จะออกมาอีก มีอะไรที่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติหรือสิ่งที่ควรจะเป็นหรือไม่ หากการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายปกติ จะเป็นเรื่องบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อทั้ง กกต.และรัฐบาลเผด็จการ ต้องไม่ลืมว่าที่คนของพรรคใหญ่สองพรรคพูดตรงกันก็คือ มีพรรคการเมืองที่อิงอยู่กับผู้มีอำนาจในปัจจุบันนำเอาเรื่องของเขตเลือกตั้งไปต่อรองในการดึงสมาชิกพรรคการเมืองอื่นไปเข้าร่วมด้วย เหล่านี้นี่แหละที่เป็นเหตุผลว่าทำไมผู้นำเผด็จการถึงต้องพูดปกป้องตัวเองตลอดเวลาและทุกเวที

Back to top button