พาราสาวะถี

ทั้ง ๆ ที่ยืนยันทุกกระบวนการเป็นเรื่องของ กกต. แล้วทำไม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงกับขั้นใช้ถ้อยคำรุนแรงมีทั้ง “แม่ง-ตายห่า-ซังกะบ๊วย” ในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อพูดถึงการถูกถามเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง แค่ตอบง่าย ๆ ไม่ใช้อารมณ์ว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาล และ คสช. ไม่ต้องมาถามทุกอย่างก็น่าจะจบแล้วกระมัง


อรชุน

ทั้ง ๆ ที่ยืนยันทุกกระบวนการเป็นเรื่องของ กกต. แล้วทำไม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงกับขั้นใช้ถ้อยคำรุนแรงมีทั้ง “แม่ง-ตายห่า-ซังกะบ๊วย” ในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อพูดถึงการถูกถามเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง แค่ตอบง่าย ๆ ไม่ใช้อารมณ์ว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาล และ คสช. ไม่ต้องมาถามทุกอย่างก็น่าจะจบแล้วกระมัง

พอออกอาการแบบนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนโมโหร้ายแล้ว ยังสะท้อนถึงภาวะภายในความเป็นตัวตนของตัวเองมาประจานให้สังคมเห็นอีกต่างหาก แม้ว่าจะส่งโฆษกรัฐบาลมาแก้ตัวแทน แต่มันไม่ทันเสียแล้ว ทั้งภาพและเสียงได้เห็นกันไปทั่วโลก แน่นอนว่า ภาวะน็อตหลุดของท่านผู้นำ เหมือนเป็นการยืนยันความไม่ชอบมาพากลในการแบ่งเขตเลือกตั้ง

ความจริงหากปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการปกติ ปล่อยให้ กกต.ได้ใช้ดุลยพินิจของตัวเองอย่างเต็มความสามารถ ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยความอิสระ ทุกอย่างก็ไม่ถูกตั้งข้อกังขา แต่เมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ถึง 3 ฉบับเข้ามายุ่งกับการทำงานของ กกต. มันย่อมทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงเป็นธรรมดา

ตั้งแต่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่นำมาใช้แก้ปัญหาจากการที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองไม่สามารถใช้การได้ เพราะติดล็อกคำสั่งของ คสช. ต่อมาก็เห็นว่ายังไม่เพียงพอต่อการสางปัญหาให้กับพรรคการเมือง จึงมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ออกมาคลายล็อก และสุดท้ายเมื่อ กกต.ออกอาการยึกยักในการแบ่งเขตก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 จนนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์จมหู

ไม่ต้องบอกก็รู้กันว่าสิ่งที่ดำเนินการกันมาทั้งหมดนั้นเป็นการจัดให้ของเนติบริกร เพราะฟังคำอธิบายของ วิษณุ เครืองาม หลังจากถูกถามเรื่องการแบ่งเขตที่เป็นปัญหาแล้วบอกให้ไปร้องศาลปกครอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้เนื่องจาก กกต. มี ม.44 คุ้มกะลาหัวอยู่ ก็เห็นธาตุแท้ของพวกใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือว่านี่คือการมัดมือมัดเท้า ไม่ฟังเสียงของประชาชน

มันเป็นไปได้อย่างไรที่หลายเขตเลือกตั้ง งอกรูปแบบของการแบ่งเขตรูปแบบที่ 4 ซึ่งผิดไปจากประกาศและระเบียบของ กกต.เอง โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายที่ก็รู้ว่าใครดูแลอยู่ มีการแบ่งเขตที่เอื้อประโยชน์ให้กับบางพรรคการเมืองชัดเจน ที่น่าตลกมากที่สุดคืออำเภอเมืองนครราชสีมาอำเภอเดียวถูกแบ่งออกเป็น 4 เขตเลือกตั้ง นี่กระมังที่ จาตุรนต์ ฉายแสง บอกว่าเป็นความอัปยศ

ขณะที่ประธาน กกต.อย่าง อิทธิพร บุญประคอง ก็ไม่ได้อินังขังขอบต่อเสียงวิจารณ์ใด ๆ อ้างกฎหมายเผด็จการคุ้มกะลาหัว และยืนยันทำทุกอย่างตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่ว่าคือคำสั่งของหัวหน้าเผด็จการ เป็นการข้ามหัวประชาชน โดยลืมไปว่าองค์กรของตัวเองนั้นเป็นอิสระและจะต้องทำงานยึดโยงกับประชาชนและตัวแทนของประชาชนเป็นด้านหลัก

มิหนำซ้ำยังแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรของตัวเองอีกต่างหาก จากคำตอบที่ว่า กรณีเอกสารแบ่งเขตเลือกตั้งหลุดก่อนที่จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ประธาน กกต.บอกว่าไม่ใช่สาระสำคัญ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นรองเลขาธิการ กกต.เพิ่งบอกกับสื่อหมาด ๆ ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งทุกอย่างจะต้องเป็นความลับ ไม่เปิดเผยให้ใครรู้จนกว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา

น่าเสียดายและน่าคิดอยู่ไม่น้อยสำหรับเจ้าหน้าที่ของ กกต. ทำงานกับคนที่ไม่สนใจต่อความเสียหายที่จะกระทบกับองค์กร การปล่อยให้เอกสารสำคัญหลุดออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยที่ตัวประธานเองยังไม่ได้ลงนาม ไม่ต้องถามว่าหลุดมาจากไหน ถ้าต่อไปในกระบวนการพิจารณารับรองการเลือกตั้ง ส.ส. อันเกี่ยวข้องกับการให้คุณให้โทษบุคคล แล้วมีข้อมูลเล็ดลอดออกมา จะถือว่าไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่

ในภาวะที่องค์กรอิสระต้องการสร้างศรัทธาและความเชื่อถือจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ กกต. ท่าทีของประธานองค์กรแห่งนี้ บวกกับวิธีการที่เกิดขึ้นต่อการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทำให้พอเห็นภาพต่อไปข้างหน้าแล้วว่า เมื่อเข้าสู่กระบวนการจัดการเลือกตั้งผลจะออกมาอย่างไร จะมีใครได้ประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะเช่นนี้บ้าง และเสียงวิจารณ์คงจะจมหูแน่นอน

พอจะเข้าใจได้ เมื่อมองย้อนกลับไปดูที่มาของคนเหล่านี้ เว้น กกต. 2 รายที่มาจากสายศาล แต่เมื่อมาทำงานด้วยกันแล้ว ต้องแสดงบทบาทและรับผิดชอบร่วมกัน วันนี้จะเห็นได้ว่า กกต. ทั้ง 5 คน ทำตัวเป็นเหมือนเสือกระดาษ โยนภาระทั้งหมดให้เป็นเรื่องของฝ่ายสำนักงาน กกต. ซึ่งก็มีผู้ที่อาสารับบทเป็นหนังหน้าไฟ แสดงความเห็นที่เรียกแขกแล้วหลายหน

น่าสนใจไม่น้อย ก่อนเผด็จการ คสช.จะยึดอำนาจ เรามี กกต.ที่ไม่อยากจัดการเลือกตั้ง สุดท้ายก็ไปไม่รอดถูกเซตซีโร่ เวลานี้มี กกต.ที่จะเพิ่มจำนวนเป็น 7 คน แต่จำนวนที่เพิ่มขึ้น ถ้าทำงานเหมือนข้าราชการประจำ ทำตัวเป็นแค่ผู้รอลงนามในเอกสารและยกมือรับรองเรื่องต่าง ๆ และยังเข้าข่ายว่าจะรอรับลูกจากอำนาจเผด็จการอีกต่างหาก คงเห็นอนาคตของประเทศว่าจะก้าวพ้นความขัดแย้งหรือแย่กว่าที่เคยเป็นมา

อีกเรื่องที่น่าติดตามคือผลการเยือนเยอรมนีของท่านผู้นำเผด็จการ จับอาการดูแล้วคงจะถูกแรงบีบคั้นกลับมาไม่ใช่น้อย ฟังจากที่บิ๊กตู่บนในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติช่วงแรกเขาก็มีท่าทีกับตนแข็ง ๆ หลัง ๆ มีท่าทีอ่อนลง ตนไม่ยอมเป็นเบี้ยล่างเขาอยู่แล้ว ตนพูดเรื่องประเทศไทยไปเยอะ ตอนหลังก็เป็นเพื่อนกัน เขาก็รับตนได้ในแบบบ้าบอ ๆ ของตน

เหมือนเป็นการยอมรับกลาย ๆ ว่า โลกประชาธิปไตยแม้จะยื่นมือมาสัมผัสกับผู้นำเผด็จการก็เป็นเพียงมารยาท หาใช่ความจริงใจ ยิ่งไปฟังถ้อยแถลงของ ดอน ปรมัตถ์วินัย ที่ถูกถามว่า อังเกลา แมร์เคล ผู้นำเยอรมนี กล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมว่า ประเทศไทยประสบความลำบากมานาน อยากให้เร่งคืนสู่ประชาธิปไตย โดยอ้างว่าตนไม่ได้ยินเช่นนั้น แค่เท่านี้ก็ทำให้รู้แล้วว่าสิ่งที่คณะของผู้นำเผด็จการไทยแลนด์ไปประสบพบเจอมานั้นเป็นอย่างไร เขาไม่ได้แสดงความรังเกียจ แต่ก็แสดงออกว่าคบแบบเสียมิได้ ซึ่งในความหมายคือไม่ต่างกัน

Back to top button