ล้มเหลวเลือก ส.ว.

การมี ส.ว.เลือกกันเอง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. บทเฉพาะกาล ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง หลัง กกต.ประกาศว่ามีผู้สมัครแค่ 7 พันคน


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง 

การมี ส.ว.เลือกกันเอง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. บทเฉพาะกาล ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง หลัง กกต.ประกาศว่ามีผู้สมัครแค่ 7 พันคน

พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.บทเฉพาะกาล กำหนดให้ผู้สมัคร 10 กลุ่มอาชีพ ที่แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ สมัครอิสระ กับสมัครโดยมีองค์กรรับรอง เลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ มาถึงจังหวัด และทั่วประเทศ โดยระดับอำเภอ ให้แต่ละประเภทเลือกกันเองเหลือ 3 คน=กลุ่มละ 6 คน คูณ 10 กลุ่ม=60 คน ประเทศไทยมี 928 อำเภอ คำนวณไว้ว่าจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกกันเองในระดับอำเภอ 55,680 คน

แต่ผลก็เป็นตามคาด มีผู้สมัครแค่ 7 พันคน บางอำเภอไม่มีผู้สมัครซักคน มีแต่เจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะนั่งดูเก้าอี้เปล่า ผู้สมัครแทบทุกคนได้เข้ารอบต่อไป มีแค่ไม่กี่อำเภอที่บางกลุ่มสมัครเกิน 3 คน

ซึ่งคงเป็นข่าวใหญ่ ทีวีต้องไปถ่ายทอดสด ปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีมาก่อน แบบที่รองเลขาธิการ กกต.บอกว่าผู้สมัครชุดนี้จะเป็น “มนุษย์ประวัติศาสตร์”

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมองถึงระดับจังหวัด ซึ่งกำหนดว่าแต่ละกลุ่มแต่ละประเภทต้องเลือกกันเองเหลือ 4 คน=กลุ่มละ 8 คน จังหวัดละ 80 คน รวมจาก 77 จังหวัดเข้าไปเลือกระดับประเทศ 6,160 คน

ก็แปลว่ามนุษย์ประวัติศาสตร์ 7 พันนี้แทบจะได้เข้าสู่ระดับประเทศโดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะผู้สมัครแบบมีองค์กรรับรอง ซึ่งมีน้อยมาก บางจังหวัดบางกลุ่มมีไม่ครบ 4 คนด้วยซ้ำ

ติ๊กไว้ว่า ผู้สมัครแบบมีองค์กรรับรองนี้ มาจากข้อเสนอของ สนช. เขียนเป็นบทเฉพาะกาล ใช้ครั้งเดียวในวาระ 5 ปีแรก ก็คอยดูว่าจะมีเสียงโวย “บล็อกโหวต” หรือเปล่า

บรรยากาศเงียบเหงาแทบไม่มีผู้สมัครนี้ เกิดขึ้นทั้งที่กฎหมายกำหนดให้เปิดรับสมัครอย่างเอิกเกริก ระดับอำเภอให้มีกรรมการ 7 คน นายอำเภอเป็นประธาน รับเบี้ยเลี้ยง 18,000 บาท กรรมการคนละ 15,000 บาท เจ้าหน้าที่ช่วยปฏิบัติงาน 15 คน กรรมการประจำสถานที่เลือก 20 คน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 4 คน รักษาความสงบ 5 คน รวมแล้วใช้เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ 47,328 คน ใช้งบประมาณ 265 ล้านบาท ในการเปิดรับสมัคร 5 วัน และวันเลือกระดับอำเภอ 16 ธ.ค.

สรุปคือมีเจ้าหน้าที่มากกว่าผู้สมัครเกือบ 7 เท่า และต้องมาทำหน้าที่ ทั้งที่แทบไม่มีการเลือก

ส่วนระดับจังหวัดซึ่งอาจต้องจัดเลือกกันเองประปราย มีกรรมการ 7 คน ผู้ว่าฯ เป็นประธาน รับเบี้ยเลี้ยง 22,500 บาท กรรมการคนละ 18,000 บาท ผู้ช่วยปฏิบัติงาน 7 คน มีกรรมการสถานที่ รักษาความปลอดภัย รักษาความสงบ เช่นกัน รวมงบที่ใช้ 17 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ งบประมาณ 1,303 ล้านบาท หากยังพิสูจน์ความล้มเหลวโดยธรรมชาติของระบบสมัครเข้ามาเลือกกันเอง ซึ่ง กรธ.ฝันเพ้อว่าจะได้ผู้ตื่นรู้ ผู้อยากมีส่วนร่วม แต่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม อย่างที่วิษณุ เครืองาม บอกเองว่า “เรา” คือประชาชนทั้งหลาย ไม่ได้เป็นคนเลือก ไม่มาจากอำนาจประชาชนแต่ได้เป็นผู้แทนปวงชน

ระบบสมัครแล้วเลือกกันเอง เคยได้ผลครั้งเดียวคือ สสร.ปี 2540 แต่ก็เป็นภาพลวงตา จากปัจจัยหลายอย่าง หลังจากนั้น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติใช้ระบบนี้ก็เละ ทั้งที่ไม่มีเงินเดือนไม่มีอำนาจ ก็ยังล็อบบี้บล็อกโหวตเพราะอยากมีหน้ามีตา

ว่าที่จริง ก็เป็นเรื่องดี ที่ได้เห็นระบบนี้ล้มละลายตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ได้เห็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญส่วนนี้เละตั้งแต่แรก เพียงแต่ปัญหาคือ รัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ ระบบ ส.ว.เลือกกันเองก็จะเละเทะไปอย่างนี้แล

 

Back to top button