สังคมข่าวหุ้น
* ตลาดหุ้นไทยล่าสุดปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,672.32 จุด ปรับลดลง 0.29 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 4.6 หมื่นล้านบาท
นิวส์เวฟ
* ตลาดหุ้นไทยล่าสุดปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,672.32 จุด ปรับลดลง 0.29 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 4.6 หมื่นล้านบาท
* กลายเป็นเรื่องรอเก้อกันไปกับกรณีประกาศผล “เปิดประมูลเอราวัณ-บงกช” ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณา และภาครัฐให้เหตุผลว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. มีวาระการประชุมเป็นจำนวนมากและกรณีเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมถือเป็นเรื่องใหญ่ จึงไม่สามารถบรรจุเรื่องนี้เป็นวาระจรได้ทัน ซึ่งถือเป็นเหตุผลที่ทุกฝ่ายได้ฟังแล้วถึงกับร้องอ้าว!! แล้วพูดต่อทันทีว่า แบบนี้ก็ได้เหรอ ? อันนี้นิวส์เวฟก็ไม่ทราบเช่นกันว่าด้วยเหตุอันใดถึงได้ดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนใจรวดเร็วเช่นนี้ ทั้ง ๆ ในช่วงภาคเช้ายังประกาศจะเปิดเผยความคืบหน้าการประมูล แต่พอเข้าสู่ภาคบ่ายเลื่อนไปดื้อ ๆ ซะงั้น
* เอาละเลื่อนก็เลื่อนไป แต่เชื่อเหอะว่าเรื่องนี้ไม่เกินเดือน ธ.ค. ยังไงได้รู้ผลแน่ เพราะถือเป็นประเด็นที่ภาครัฐจะปล่อยให้ล่าช้าไปกว่านี้ไม่ได้ เนื่องจากการผลิตปิโตรเลียมคือความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และล่าสุดยังมีกระแสคาดการณ์ (หนาหู) กันมาว่า PTTEP น่าจะเป็นผู้เข้าวินกินรวบทั้งเอราวัณ-บงกช เนื่องจากใช้ไม้ตายเด็ดยื่นข้อเสนอแหล่งเอราวัณที่ระดับต่ำกว่า 170 บาท/ล้านบีทียู และแหล่งบงกชในระดับต่ำกว่า 190 บาท/ล้านบีทียู จึงน้อยกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ระดับ 214 บาท/ล้านบีทียู ค่อนข้างมาก
* งานนี้ ไม่มีใครตอบได้ว่าข้อเสนอที่ว่านี้จริงหรือไม่ และเป็นข้อเสนอที่ต่ำกว่าทางฝั่งเชฟรอนหรือเปล่า แต่ถ้าสังเกตุความเคลื่อนไหวราคาหุ้น PTTEP ในช่วงรอบ 2-3 วันทำการที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนว่า วิ่งบวกกระหน่ำเฉียด 9% ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ผิดปกติและไม่ได้มีขึ้นบ่อยครั้งกับหุ้นไซส์ใหญ่ขนาดนี้ ถ้าเป็นคนลงทุนในหุ้นคงเข้าใจกันดีว่าทุกความเคลื่อนไหวในกระดานนับเป็นการฉายภาพสะท้อนอะไรบางอย่างอยู่เสมอ
* หากสมติฐานของประเด็นนี้คือ PTTEP ชนะประมูลทั้ง 2 แหล่งจริงแล้วจะส่งผลในแง่ใดบ้าง เท่าที่นิวส์เวฟลองไล่เสาะหาข้อมูลหลายแห่ง พบว่า ในกรณีชนะประมูลบงกชแห่งเดียว ตลาดให้อัพไซด์เพิ่มต่อหุ้นเฉลี่ยประมาณ 15-20 บาท แต่หากชนะทั้ง 2 แหล่ง จะถ่างอัพไซด์เพิ่มเป็น 20-30 บาท อ่านมาถึงตอนนี้อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า อ้าว อุตส่าห์ชนะ 2 แหล่งอัพไซด์ไม่เพิ่มดับเบิลเป็น 30-40 บาทหรอกเหรอ ? ซึ่งคำตอบคือไม่ใช่ แล้วเหตุใดกันตลาดถึงได้มองบวกเพิ่มไม่มากนักในกรณีชนะทั้งหมดมาลองดูข้อมูลนี้กัน
* เอาที่เชิงบวกก่อน การได้แหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ตัวเองถนัดมาครอบครองถือเป็นเรื่องประโยชน์มหาศาลต่อบริษัท เพราะเท่ากับเป็นพื้นที่มีความชำนาญ รู้แนวทางจัดการ การสร้างผลตอบแทนและต้นทุนที่ต้องรับมือได้เป็นอย่างดี จึงแทบปิดช่องความเสี่ยงไปได้พอตัว ไม่ต้องลุ้นหนักเหมือนลุยในต่างประเทศ แต่ขอย้ำว่าในธุรกิจขุดเจาะและสำรวจ ไม่มีอะไรการันตี 100% ว่าขุดลงไปจะเจอก๊าซหรือน้ำมันเหมือนที่บางฝ่ายชอบหยิบมาเป็นวาทกรรมกล่าวอ้างตามสื่อโซเชียลมีเดีย แหม ถ้าดีขนาดนั้นจริงรายอื่นเขาคงไม่ถอนทัพและยืนแข่งขันสู้กับ PTTEP-เชฟรอนไปแล้วละ เมื่อบวกลบออกมาแล้วผลตอบแทนคาดว่าน่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่บริษัทรับได้ ถึงยอมเฉือนเนื้อยื่นข้อเสนอไปในราคาต่ำอย่างที่เห็น
* ทีนี้ลองมาดูในเชิงลบกันบ้าง จากการยอมเฉือนเนื้อสิ่งที่ PTTEP ต้องเผชิญแน่นอนคือ ผลตอบแทนจากการลงทุนครั้งนี้อาจจะไม่สูงมากเหมือนในอดีต โดยบริษัทจะแก้เกมด้วยการคุมต้นทุนให้อยู่ในจุดที่เหมาะสมแทน รวมถึงการใช้วิธีสร้างซินเนอร์จี้แหล่งปิโตรเลียมที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มชดเชยรายได้ที่หายไป เมื่อการคุมต้นทุนคือหัวใจสำคัญ จึงถือเป็นงานยากและท้าทายฝีมือมาก ดังนั้น จากประเด็นที่มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบนี่แหละ จึงเป็นคำตอบที่ว่า แม้จะชนะทั้ง 2 แหล่ง แต่อัพไซด์ไม่ได้เพิ่มดับเบิล
* สำหรับคนที่กำลังเล็งหุ้น PTTEP อยู่เพื่อเก็งกำไรกับข่าวนี้ หรือถือครองในพอร์ตหุ้น จึงควรรับรู้และรับทราบข้อมูลเอาไว้ว่า ภายใต้โอกาสที่สูงขึ้น ย่อมมีความเสี่ยงสูงขึ้นตามมาเช่นกัน แต่สุดท้ายนี้ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นแบบใด PTTEP จะได้ครองทั้ง 2 แหล่ง หรือจบลงด้วยการแบ่งเค้กกับเชฟรอนไปคนละก้อน ประเทศไทยคือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงที่สุดแน่นอน เพราะเท่ากับมีคนมาสานต่อเส้นทางการแสวงหาแหล่งพลังงานสำคัญให้กับประเทศต่อไปในอนาคต