MTC-SAWAD และดอกเบี้ย

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงิน และร่วมกันพิจารณากำหนดนโยบายการเงินของประเทศปีละ 8 ครั้ง


ลูบคมตลาดทุน :  ธนะชัย ณ นคร 

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงิน และร่วมกันพิจารณากำหนดนโยบายการเงินของประเทศปีละ 8 ครั้ง

ปีนี้ประชุมกันไปแล้ว 7 ครั้ง

เหลือเพียงอีก 1 ครั้ง คือวันที่ 18 ธันวาคมนี้

ก่อนหน้านี้ หรือการประชุมครั้งที่ 7 กนง.มีมติแบบเฉียดฉิว 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%

หรือหากย้อนหลังกลับไปดูการประชุมครั้งที่ 6 มติจะอยู่ที่ 5 ต่อ 2

ดังนั้นจะเห็นว่า แรงสนับสนุนให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

การประชุมของ กนง.ครั้งที่ 8 หรือครั้งสุดท้ายของปีนี้ บรรดานักวิเคราะห์มีทั้งคาดหมายกันไปว่า กนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 1.50%

แต่ก็มีสำนักวิจัยของธนาคารบางแห่งที่มองว่า กนง.มีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ย

ทว่า จากเท่าที่สำรวจตรวจสอบล่าสุด ทั้งสำนักวิจัยของธนาคาพาณิชย์หลายแห่ง นักวิเคราะห์ และบรรดาผู้จัดการกองทุนของ บลจ.ต่าง ๆ

ส่วนใหญ่มีความมั่นใจว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% สำหรับการกระชุมในวันที่ 18 ธันวาคมนี้แน่นอน

และจะเริ่มปรับขึ้น 2 ครั้งในปี 2562 เพื่อให้ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ 2.00%

แน่นอนว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมีทั้งกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์

และกลุ่มที่อาจต้องมีค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย (เงินกู้) เพิ่มขึ้น

ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่นำโดย BBL KBANK KTB และ SCB น่าจะได้รับประโยชน์มากสุด หากดอกเบี้ยปรับขึ้น

เพราะจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือสเปรดมีมากขึ้น

อย่าง BBL มีข่าวว่า มีสินเชื่อที่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ทันทีค่อนข้างที่จะเยอะมาก ๆ

ทำให้เหมือนจะเป็นแบงก์ที่ได้รับประโยชน์มากสุด

นอกเหนือจากกลุ่มธนาคารที่ได้รับประโยชน์

มีคำถามว่า แล้วใครบ้างที่อาจจะต้องมีต้นทุนสูงขึ้น

แน่นอนว่า ผู้ประกอบการต่าง ๆ หรือบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการออกหุ้นกู้ น่าจะมีต้นทุนสูงขึ้น

ทำให้จะเห็นว่าก่อนสิ้นปีนี้ จะมีบรรดา บจ.แห่กันออกหุ้นกู้จำนวนมากเพื่อต้องการที่จะล็อกต้นทุนของตนเองเอาไว้

เพราะหากไปออกในปีหน้า ดอกเบี้ยของหุ้นกู้ก็จะต้องเพิ่มขึ้นไปอีก

นอกเหนือจาก บจ.ต่าง ๆ แล้ว

บรรดานักลงทุนยังจับตาไปยังหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ เช่น THANI AMANAH AEONTS SAWAD และ MTC

แต่นักลงทุนเอง ดูจะเพ่งเล็งไปยังหุ้น MTC และ SAWAD กันมากกว่า

สังเกตได้จากคำถามที่มีเข้ามาเกี่ยวกับหุ้น MTC และ SAWAD จะได้รับผลกระทบอย่างไร หากดอกเบี้ยวิ่งขึ้น เพราะหุ้น 2 ตัวนี้ มีสภาพคล่องสูง และนักลงทุนเข้ามาลงทุนกันจำนวนมาก

จริงแล้วในเรื่องนี้มีบทวิเคราะห์ของโบรกฯ ต่าง ๆ  ดีดลูกคิดกันออกมาบ้างแล้ว

ส่วนใหญ่มองว่า ทั้ง MTC และ SAWAD ไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย

อย่างของ SAWAD มีบง.ศรีสวัสดิ์ หรือ BFIT ที่สามารถระดมเงินทุนเองได้ ด้วยการระดมเงินฝากออกมา

หรือของ “เมืองไทย แคปปิตอล”  MTC แม้จะต้องระดมหุ้นกู้

แต่ก่อนหน้านี้ออกมาแล้วกว่า 3 พันล้านบาท ทำให้ “ล็อกต้นทุนทางการเงิน” ไว้แล้ว

ส่วนในปี 2562 หากมีการออกหุ้นกู้มาอีก ทำให้ต้นทุนด้านดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นนั้น ก็ไม่ได้ส่งผลให้สเปรดของ MTC แคบลง

เพราะปัจจุบัน MTC คิดดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยอยู่ที่ 23%

ส่วนเกณฑ์ของแบงก์ชาติกำหนดออกมาไว้ไม่ให้เกิน 28%

ทำให้ MTC มีรูมที่จะขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ได้อีก หากยังต้องการรักษารูม หรือมาร์จิ้นระหว่างเงินกู้และต้นทุนทางการเงินเอาไว้

แม้จะมีบางโบรกฯ ที่มองว่า กลุ่มลีสซิ่ง อาจได้รับผลกระทบทางด้าน regularity change บ้าง หาก กนง.ขึ้นดอกเบี้ยจริง ๆ แต่จะไม่ได้กระทบกับ MTC และ SAWAD

เพราะหุ้นทั้ง 2 ตัว  ในไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ ที่อัตรากำไรจะเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ

หรืออย่าง SAWAD จะมีการตั้งสำรองลดลงในไตรมาส 4 นี้ด้วย

และที่สำคัญทั้ง MTC และ SAWAD มีคุณภาพสินเชื่อในระดับที่ดี และไม่มีความน่ากังวลอะไร ประกอบกับยังเป็นหุ้น Growth Stock ที่อยู่ในความสนใจของกองทุนทั้งในและต่างประเทศ

 

Back to top button