พิษภัยของสัญญามาร
กรณีความคืบหน้าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังเร่งตรวจสอบกรณีที่ผู้บริหารของ โกลด์แมน แซคส์ ได้ฉ้อโกงมาเลเซียในกรณีออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนมูลค่าหลาย 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกรณี อดีตกรรมการระดับสูงสุด 2 คน ของบริษัทรถยนต์ นิสสัน-เรโนลต์-มิตซูบิชิ ซึ่งเป็นค่ายรถยนต์อันดับสองของโลกถัดจากโฟล์กสวาเกน นายคาร์ลอส โกน และนายเกร็ก เคลลี่ ถูกทางการญี่ปุ่นจับกุมในข้อหาหนีภาษี และแจ้งเท็จเรื่องรายได้ อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่เหมือนกันตรงที่ ทั้งคู่เข้าข่ายทำสัญญามารกับปีศาจ
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
กรณีความคืบหน้าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังเร่งตรวจสอบกรณีที่ผู้บริหารของ โกลด์แมน แซคส์ ได้ฉ้อโกงมาเลเซียในกรณีออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนมูลค่าหลาย 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกรณี อดีตกรรมการระดับสูงสุด 2 คน ของบริษัทรถยนต์ นิสสัน-เรโนลต์-มิตซูบิชิ ซึ่งเป็นค่ายรถยนต์อันดับสองของโลกถัดจากโฟล์กสวาเกน นายคาร์ลอส โกน และนายเกร็ก เคลลี่ ถูกทางการญี่ปุ่นจับกุมในข้อหาหนีภาษี และแจ้งเท็จเรื่องรายได้ อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่เหมือนกันตรงที่ ทั้งคู่เข้าข่ายทำสัญญามารกับปีศาจ
เฉกเช่นเดียวกัน ก็มีคำเปรียบเปรยอีกว่า ดัชนีตลาดที่พุ่งแรงเพราะข่าวดีชั่วคราวของสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยืดความเครียดสงครามการค้าออกไป 90 วัน ก็ไม่ต่างอะไรกันกับการทำข้อตกลงกับปีศาจ
ตีความได้หลายนัย ขึ้นกับปูมหลัง
ตำนานว่าด้วยข้อตกลงกับปีศาจ เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคกลางของยุโรป ซึ่งศาสนาคริสต์มีอำนาจนำเหนือจิตวิญญาณของผู้คน โดยเอาเรื่องหลากหลายมาผสมปนเปกันไป โดยโยงใยเข้ากับตำนานเก่าแก่ของยิวว่าด้วย 72 ปีศาจ ซึ่งปรากฏในตำรา Ars Goetia ซึ่งมีการแปลและตีความหลากหลาย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวที่โยงเข้ากับคริสต์ศาสนาบางส่วน ว่าด้วยเรื่องของพฤติกรรมแบบเดียรถีย์ หรือคนนอกรีต
ต่อมา ตำนานดังกล่าว ขยายความเพิ่มเติมให้เลวร้ายเพื่อเตือนใจ โดยต่อยอดไปถึงบุคคลที่มีความสามารถพิเศษเหนือมนุษย์ธรรมดา อย่าง ธีโอฟีลัส และ เฟ้าส์ตัส ซึ่งดิ้นรนเกินความสามารถของตนเองโดยยอมขายวิญญาณให้กับปีศาจ และเป็นที่มาของการพยายามควบคุมหรือกำจัดคนที่มีความสามารถพวกนี้ โดยถือว่าเป็นพ่อมด หรือแม่มดในสังคมยุโรปมายาวนาน
ตามความเชื่อดั้งเดิมในแม่มดของชาวคริสต์ สัญญากับมารเป็นสัญญาระหว่างมนุษย์ ซึ่งเรียก “ผู้ต่อรอง” (wagerer) ฝ่ายหนึ่ง กับซาตาน (Satan) หรือมารอื่น ๆ อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมนุษย์เสนอจะยกวิญญาณของตนให้แก่มาร เพื่อแลกกับการที่มารจะกระทำบางสิ่งบางอย่างให้ การตอบแทนของมารนี้ว่ากันว่าแตกต่างกันไปแล้วแต่ความเชื่อ อาทิ ความเยาว์วัย ความมั่งมี ความรู้ หรืออำนาจวาสนา ยังเชื่อกันด้วยว่า บางคนทำสัญญาเช่นนี้เพียงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าจะนับถือมารเป็นนาย และไม่ต้องการสิ่งใดแลกเปลี่ยนเลย อย่างไรก็ดี การต่อรองเช่นนี้นับเป็นสิ่งอันตรายมากสิ่งหนึ่ง ด้วยว่าค่าตอบแทนแรงงานของมารนั้น คือวิญญาณของผู้ต่อรองเอง
เรื่องเล่ามักจบแบบสอนใจว่า นักเสี่ยงโชคผู้บ้าระห่ำ มักพบความวิบัติชั่วกัลปาวสาน หรือในทางตรงกันข้าม อาจจบแบบตลกขบขันว่า ไพร่ที่หลักแหลมเอาชนะมารด้วยอุบายอันแยบยล
สัญญากับมาร จะทำด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ สัญญาที่เป็นวาจามักกระทำด้วยวิธีเรียกมาร โดยวิธีวิงวอนถึง (invocation) สังวัธยายมนตร์ (conjuration) หรือพิธีกรรมอย่างอื่นอันเรียกมารได้ โดยเมื่อบุคคลนั้น ๆ คิดว่า มารมาอยู่เบื้องหน้าแล้ว เขาจะร้องขอให้มารช่วยเหลือ และสัญญาจะยกวิญญาณของเขาให้เป็นการแลกเปลี่ยน การพิจารณาคดีและไต่สวนแม่มดได้ความว่า มารจะทำร่องรอยไว้บนร่างกายของคู่สัญญา เป็นรอยที่ลบไม่ออก เรียกว่า “รอยมาร” (diabolical mark) สำหรับใช้อ้างว่ามีสัญญาต่อกัน และว่ากันว่า บุคคลผู้มีรอยมารอยู่บนร่างกายจะไม่รู้สึกเจ็บปวดในรอยนี้เลย ส่วนสัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ก็ใช้วิธีเรียกมารอย่างเดียวกัน แต่จะมีการทำลายลักษณ์อักษร โดยมนุษย์ที่เป็นคู่สัญญาจะลงลายมือชื่อของตนด้วยเลือดของตน
บางทีก็ว่ากันว่า ลายลักษณ์อักษรทั้งฉบับนั้นเขียนด้วยเลือด ขณะที่นักมารวิทยา (demonologist) ว่ามีการใช้หมึกแดงแทนเลือด ที่ว่าใช้เลือดสัตว์เขียนแทนเลือดมนุษย์ก็มี
จากนั้น ก็มีการขยายความเพิ่มเติมไปถึงตำนานบุคคลในนิทานพื้นบ้าน เช่น คนเป่าขลุ่ยแห่งเมืองเฮมลินในยุคกาฬโรคระบาดหนักของยุโรปคริสต์ศตวรรษที่ 14-15 และเรื่องของ ฟลายดิ้ง ดัตช์แมน ปีศาจชาวดัตช์กลางทะเลลึกในแหลมกู๊ดโฮปคริสต์สตวรรษที่ 18
การทำข้อตกลงกับปีศาจ จึงกลายเป็นตำนานเล่าขานไปทั่วทุกสังคม โดยเฉพาะเมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหาบุคคลที่มีชื่อเสียงที่เก่งฉกาจและมีความคิดแหกคอกจากจารีตของสังคม ว่าเป็นพวกทำข้อตกลงกับปีศาจ
แม้กระทั่งงานวิศวกรรมที่โดดเด่นในยุคมืด อย่างเช่น สะพานปีศาจ หรือ Devil’s Bridges ก็ยังคงมีตำนานหลอกนักท่องเที่ยวปัจจุบันให้ไปเยือนได้เรื่อย ๆ
ความเพี้ยนของตำนานและนิทานเกี่ยวกับข้อตกลงปีศาจ ที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน มักจะใช้อธิบาย คนที่ถูกกล่าวหาคบคิดกับปีศาจว่าจะเป็นคนที่มีความสามารถผิดธรรมดา และมีลักษณะคุกคามผู้มีอำนาจเดิมในสังคมอย่างไร้เหตุผลในฐานะ “ผู้ร้าย” แบบตัวละคร “โจ๊กเกอร์” ในการ์ตูนชื่อดังมนุษย์ค้างคาวของอเมริกันที่เอามาผลิตซ้ำเป็นเวอร์ชันใหม่ ๆ หลอกเอาเงินตามโรงภาพยนตร์นับครั้งไม่ถ้วน
ในยุควิทยาศาสตร์เฟื่องฟูแทนที่ศาสนา การคิดนอกกรอบ กลายเป็นสัจธรรมใหม่ ที่ทำให้ข้อกล่าวว่าทำข้อตกลงกับปีศาจเบาบางลงไป แต่ยังคงดำรงอยู่ในเชิงเปรียบเปรย
กรณี โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนากรอันดับหนึ่งของโลก มีชื่อโยงใยเข้ากับกรณีนี้นับแต่เดือนมกราคม 2560 เมื่ออัยการสวิตเซอร์แลนด์ ตรวจสอบพบว่าเงินสดราว 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ถูกยักยอกออกไปจาก 1MDB อย่างเป็นปริศนา และเงินบางส่วน ถูกโอนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปยังบัญชีเงินฝากในสวิตเซอร์แลนด์ของเจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเซียทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ครั้งนั้น ทิม ไลสเนอร์ ประธานกรรมการบริหาร โกลด์แมน แซคส์ ของสหรัฐอเมริกาประจำภูมิภาคอาเซียน ต้องเผ่นออกจากสิงคโปร์ไปกบดานในมุมมืดชั่วคราว เพราะเป็นคนสำคัญที่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ด้านการเงินและการธนาคาร และนักการเมืองชั้นนำ เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ (M&A) ที่มีมูลค่าสูงถึง 18.8 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 ปี จนโกลด์แมน แซคส์ กลายเป็นธนาคารต่างชาติติดอันดับที่มีส่วนแบ่งทางตลาดในหลักทรัพย์ที่ออกโดยมาเลเซีย สูงถึง 20.3% นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
โกลด์แมน แซคส์ อยู่เบื้องหลังจัดการขายตราสารหนี้ 3 ครั้งของ 1MDB มูลค่าสูงถึง 6.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2012-2013 โดยที่ โกลด์แมน แซคส์ ได้รับเงินค่าธรรมเนียมและจัดการมากถึง 593 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง โดยค่าธรรมเนียมบางส่วน ถูกโอนเข้ากระเป๋าส่วนตัวใครบางคนรอบ ๆ ตัวนาจิบ ราซัค ถูกตั้งขึ้นมา และไม่มีคำตอบ
ส่วนกรณีของคาร์ลอส โกน คือ การเข้าพลิกฟื้นบริษัทนิสสันที่ยี่สิบปีก่อนใกล้ล้มละลายจากหนี้ที่มีมากถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดทุนปีละ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เขาทำได้โดยการสร้างความเข้าใจกับพนักงานและผู้บริหารญี่ปุ่นว่า นิสสันจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อวิธีการทำงานแบบญี่ปุ่นต้องเปลี่ยน ไม่มีแล้วการจ้างงานตลอดชีพ เขาปลดคนงานออกกว่า 21,000 คน ปิดโรงงาน 5 แห่ง ยกเลิกการเลื่อนตำแหน่งตามระบบอาวุโส จ้างผู้บริหารที่มีฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาร่วมงาน และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการทำธุรกิจของบริษัท ที่สำคัญ เขาให้คำมั่นสัญญากับพนักงานว่า ถ้าเขาไม่สามารถแก้ไขปัญหาของนิสสันได้ตามแผนสามปี เขาและทีมผู้บริหารจะลาออก ผลคือ เขาสามารถแก้ไขปัญหาได้ก่อนสามปี
วิธีการเดียวกันไปพลิกฟื้นธุรกิจของบริษัทเรโนลต์และมิตซูบิชิจนเครือข่ายสามบริษัทใหญ่เป็นที่สองของโลก ทำให้นายคาร์ลอสเป็นผู้บริหารที่ได้รับการยกย่องมาก แต่ความสามารถดุจเทวดาร่วมสมัยมลายไปทันทีที่ถูกจับกุมพร้อมกับมือขวาชาวเอมริกันเคลลี่ เจ้าของฉายา “ผู้กระซิบข่าวของโกน” ในข้อหาหนีภาษี และสำแดงเท็จรายได้ต่ำเกินจริง
วิธีการหลบเลี่ยงภาษีของ โกน และเคลลี่ ถูกออกแบบอย่างเป็นระบบแนบเนียนชนิดนักบัญชีได้อาย จากเหตุปัจจัย 3 ประการคือ
– บริษัทนิสสัน-เรโนลต์-มิตซูบิชิ มีประธานบริษัทและซีอีโอ เป็นบุคคลคนเดียวกัน นั่งควบ 2 ตำแหน่ง ทำให้ “คนชงเรื่อง” และ “คนตรวจสอบ” เป็นคนเดียวกัน การถ่วงดุลก็เกิดขึ้นยาก
– บริษัทนิสสัน-เรโนลต์-มิตซูบิชิ มีซีอีโอที่เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จมากในธุรกิจที่มีอิทธิพล สามารถเป็นผู้เสนอชื่อแต่งตั้งกรรมการอิสระ ทำให้เกิดความเกรงใจไม่มีตรวจการสอบจริงจัง
– โครงสร้างคณะกรรมการบริษัท นิสสัน-เรโนลต์-มิตซูบิถูกทำให้อ่อนแออย่างตั้งใจ
ส่วนกรณีของตลาดหุ้นที่ดัชนียังไม่ผ่านแนวต้านสำคัญ 1,680 และ 1,700 จุด ก็ยังคงต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าเป็นสัญญามาร หรือข้อตกลงกับปีศาจหรือไม่
ส่วนใครจะเป็นปีศาจ ใครจะขายวิญญาณ คงไม่ต้องถกเถียงกัน